backup og meta

ห่วงคุมกำเนิด คืออะไร มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

ห่วงคุมกำเนิด คืออะไร มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine Device; IUD) หรือห่วงอนามัย เป็นอุปกรณ์สำหรับการคุมกำเนิดในระยะยาวรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้สวมใส่ทางช่องคลอดเข้าไปในโพรงมดลูก โดยประกอบไปด้วยฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสติน (Progestins) และทองแดง ที่ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม การคุมกำเนิดด้วยห่วงอนามัยอาจส่งผลให้มีอาการเลือดออกเล็กน้อย ปวดท้องเกร็ง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้ ดังนั้น จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพและขอคำปรึกษาจากคุณหมอก่อนใช้ เพื่อความปลอดภัย

[embed-health-tool-ovulation]

ห่วงคุมกําเนิด คืออะไร

ห่วงคุมกําเนิด หรือห่วงอนามัย คือ อุปกรณ์ขนาดเล็กที่ทำจากพลาสติก มีลักษณะเป็นตัว T หรือตัว U มีเชือกไนลอนอยู่ตรงส่วนปลาย มีความยืดหยุ่น สามารถโค้งงอได้โดยไม่หัก โดยจะใส่เข้าไปในโพรงมดลูก แล้วปล่อยให้เส้นเชือกไนลอนยาวพ้นปากมดลูกออกมาประมาณ 2-3 เซนติเมตร เพื่อให้สามารถดึงห่วงคุมกำเนิดออกมาเปลี่ยนได้สะดวกเมื่อครบกำหนด ส่วนใหญ่อาจเปลี่ยนทุก ๆ 3-10 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของห่วงคุมกำเนิดที่ใช้ กระบวนการทำงานของห่วงคุมกำเนิดคือการปล่อยฮอร์โมนและประจุทองแดง

ห่วงคุมกำเนิดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ห่วงคุมกำเนิดแบบไม่ออกฤทธิ์ และห่วงคุมกำเนิดแบบออกฤทธิ์ ส่วนใหญ่ประเทศไทยนิยมใช้ห่วงอนามัยแบบออกฤทธิ์ เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้ดีกว่า ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน ดังนี้

1. ห่วงคุมกำเนิดหุ้มทองแดง (Intrauterine coil) ส่วนใหญ่ทำจากพลาสติก มีทองแดงหุ้มรอบนอก ซึ่งอาจทำเป็นเส้นลวดพันรอบแกนหรือทำเป็นปลอกหุ้มแกน ออกฤทธิ์คุมกำเนิดโดยการปล่อยประจุทองแดง วันละ 40-50 ไมโครกรัม เพื่อช่วยคุมกำเนิด สามารถอยู่ในโพรงมดลูกได้นาน 3-10 ปี หรือ 12 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดและยี่ห้อที่เลือกใช้ ออกฤทธิ์ในการคุมกำเนิดโดยทำให้สภาพแวดล้อมในโพรงมดลูกมีการอักเสบ ทำให้รบกวนการเคลื่อนที่ของอสุจิที่เคลื่อนที่มาในมดลูก ทำให้ป้องกันการปฏิสนธิได้

2. ห่วงคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมน (Intrauterine system) มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) เป็นฮอร์โมนในกลุ่มโปรเจสติน ที่สังเคราะห์ขึ้นเลียนแบบฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่ช่วยคุมกำเนิด โดยออกฤทธิ์คุมกำเนิดโดยทำให้มูกบริเวณปากมดลูกปริมาณลดลงและข้นขึ้น ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง และกระตุ้นให้มีการอักเสบในโพรงมดลูก แต่อาจมีระยะเวลาการใช้แตกต่างกันตามปริมาณของฮอร์โมน ดังต่อไปนี้

  • ห่วงคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนปริมาณ 13.5 มิลลิกรัม อาจใช้คุมกำเนิดได้นาน 3 ปี โดยในช่วงแรกจะปล่อยฮอร์โมนเฉลี่ยวันละ 14 ไมโครกรัม และลดเหลือวันละ 5 ไมโครกรัม หลังจากใส่ห่วงคุมกำเนิด 3 ปี
  • ห่วงคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนปริมาณ 19.5 มิลลิกรัม อาจใช้คุมกำเนิดได้นาน 5 ปี โดยในช่วงแรกจะปล่อยฮอร์โมนเฉลี่ยวันละ 17.5 ไมโครกรัม และลดเหลือวันละ 7.4 ไมโครกรัม หลังจากใส่ห่วงคุมกำเนิด 5 ปี
  • ห่วงคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนปริมาณ 52 มิลลิกรัม อาจใช้คุมกำเนิดได้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี โดยช่วงแรกอาจปล่อยฮอร์โมนเฉลี่ยวันละ 20 ไมโครกรัม และลดเหลือวันละ 8.6 ไมโครกรัม หลังจากใส่ห่วงคุมกำเนิด 6 ปี ขึ้นไป

ข้อดีและข้อเสียของห่วงคุมกําเนิด

ข้อดี

  • สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ในระยะยาว อาจนานกว่า 3-10 ปี ลดปัญหาการลืมรับประทานยาคุมแบบเม็ด
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว เนื่องจากไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย
  • ใช้ได้กับกลุ่มคนหลากหลาย เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน สตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร
  • มีผลข้างเคียงน้อย
  • อาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ทันทีที่ใส่
  • ไม่ขัดจังหวะการมีเพศสัมพันธ์
  • สามารถถอดได้หากต้องการมีบุตร

ข้อเสีย

  • ไม่สามารถถอดหรือใส่ได้ด้วยตัวเอง แต่จำเป็นต้องให้คุณหมอเป็นคนใส่และถอดให้เท่านั้น
  • จำเป็นต้องผ่านการตรวจภายในก่อนใส่ห่วงคุมกำเนิด
  • อาจมีอาการเจ็บและมีเลือดออกขณะใส่เล็กน้อย
  • ห่วงคุมกำเนิดบางชนิดอาจมีราคาสูงจึงอาจเสียค่าใช้จ่ายมากในช่วงเวลาแรกของการเริ่มใส่
  • เชือกไนลอนที่อยู่บริเวณปลายห่วงคุมกำเนิดอาจรบกวนการมีเพศสัมพันธ์สำหรับบางคน
  • อาจมีอาการปวดท้องเกร็งและอาจทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ
  • อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อและอักเสบ
  • ห่วงคุมกำเนิดอาจหลุดออกจะโพรงมดลูกหรือสามารถทะลุได้
  • ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

ห่วงคุมกำเนิดไม่เหมาะกับใคร

ห่วงคุมกำเนิดเหมาะสำหรับผู้หญิงช่วงวัยเจริญพันธุ์ที่มีความประสงค์จะคุมกำเนิดในระยะยาว และอาจมีการวางแผนการตั้งครรภ์ในอนาคต อีกทั้งยังสามารถใช้ได้กับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน อยู่ในช่วงให้นมบุตร แต่อาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะสุขภาพ ดังนี้

  • ผู้ที่แพ้ฮอร์โมนหรือส่วนประกอบในห่วงคุมกำเนิด
  • ผู้ที่มีแนวโน้มในการตั้งครรภ์
  • ผู้ที่ติดเชื้อในทางเดินระบบสืบพันธุ์ เช่น ช่องคลอดอักเสบ ปากมดลูกอักเสบ
  • ผู้ที่โพรงมดลูกมีลักษณะผิดปกติ
  • ผู้ที่เป็นเนื้องอกในมดลูกที่ทำให้โพรงมดลูกมีลักษณะผิดปกติ
  • ผู้ที่เป็นโรควิลสัน (Wilson disease) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ร่างกายมีการสะสมของทองแดงมากเกินไป
  • ผู้ที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ
  • ผู้ที่มีการติดเชื้อเนื่องจากการแท้งบุตร
  • ผู้ที่ติดเชื้อในบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • ผู้ที่เป็นไมเกรนระดับรุนแรง
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใส่ห่วงคุมกำเนิด

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการใส่ห่วงคุมกำเนิด มีดังนี้

  • สามารถเข้ารับการใส่ห่วงคุมกำเนิดได้เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรือเริ่มมีประจำเดือน หรือเมื่อผ่านการพิจารณาจากคุณหมอแล้ว
  • ไม่ควรถอดหรือใส่ห่วงอนามัยเอง เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ควรให้คุณหมอเป็นคนทำเท่านั้น
  • การใส่ห่วงคุมกำเนิดไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ดังนั้น ควรใช้วิธีการป้องกันอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น สวมถุงยางอนามัย
  • หากกำลังวางแผนตั้งครรภ์ สามารถเข้าพบคุณหมอเพื่อนำห่วงอนามัยออกได้
  • สำหรับผู้ที่คลอดบุตรแล้ว สามารถเข้ารับการใส่ห่วงคุมกำเนิดได้ใน 4 สัปดาห์หลังคลอด และสำหรับคุณแม่ที่แท้งบุตรสามารถรับการใส่ห่วงคุมกำเนิดได้ทันที
  • ควรพบคุณหมอทันทีหากมีอาการปวดท้องมาก เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ มีไข้ หนาวสั่น เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของการติดเชื้อ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Birth Control and the IUD (Intrauterine Device). https://www.webmd.com/sex/birth-control/iud-intrauterine-device.Accessed August 4, 2022.

Intrauterine device (IUD). https://www.nhs.uk/conditions/contraception/iud-coil/.Accessed August 4, 2022.

Intrauterine devices (IUD). https://medlineplus.gov/ency/article/007635.htm.Accessed August 4, 2022.

Hormonal IUD (Mirena). https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/mirena/about/pac-20391354.Accessed August 4, 2022.

What is an IUD?. https://uhs.umich.edu/contraception-iud.Accessed August 4, 2022.

ห่วงอนามัย…สำหรับการคุมกำเนิดระยะยาว. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/566/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%94-%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%A2/.Accessed August 4, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/03/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

คุมกำเนิด วิธีการและการเลือกคุมกำเนิดอย่างเหมาะสม

ทำหมัน วิธีคุมกำเนิดแบบถาวรสำหรับชายและหญิง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา