backup og meta

เราสามารถ ติดเชื้อ HIV ได้อย่างไรบ้าง

เราสามารถ ติดเชื้อ HIV ได้อย่างไรบ้าง

เชื้อเอชไอวี (HIV) เป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน หากไม่ได้รับการรักษา เชื้อไวรัสเอชไอวี จะไปลดจำนวนของ CD4 (Cluster of Differentiation 4) ซึ่งเป็นไกลโคโปรตีนที่มีอยู่บนผิวของเยื่อหุ้มเซลล์เม็ดเลือดขาวบางชนิด ซึ่งสามารถตรวจนับจำนวนของ CD4 เพื่อใช้แทนการนับจำนวนเม็ดเลือดขาว โดยสำหรับผู้ที่ ติดเชื้อ HIV จะมีปริมาณของ CD4 ในปริมาณที่ต่ำ หมายถึงระบบภูมิคุ้มกันกำลังอ่อนแอ ซึ่งระดับของ CD4 ของผู้ไม่ติดเชื้อเอชไอวี จะอยู่ระหว่าง 500-1,500 ลูกบาศก์มิลลิเมตร

ผู้ป่วยเอชไอวีถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะร้ายแรงที่เรียกว่า ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรืออีกชื่อคือ โรคเอดส์ (AIDS) ซึ่งเป็นระยะที่ระบบภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอเกินกว่าที่จะต่อสู้กับการติดเชื้ออื่น ๆ ได้ วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก นายแพทย์ วิฉกร จิตประพันธ์ แพทย์ประจำคลินิก Pulse สีลม ที่จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับ การติดเชื้อเอชไอวี มาให้อ่านกันค่ะ ว่าการติดเชื้อเอชไอวีนั้นสามารถติดและส่งต่อได้ทางใดบ้าง

การ ติดเชื้อ HIV ติดได้อย่างไรบ้าง

การติดเชื้อเอชไอวี ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาให้หายขาดได้ แต่หากได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างดี รับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอก็สามารถใช้ชีวิตอยู่กับเชื้อเอชไอวีได้เป็นเวลานานหลายปี โดยอาจไม่มีอาการของโรคเอดส์เลย

ซึ่งการติดต่อเชื้อเอชไอวีนั้น นายแพทย์ วิฉกร จิตประพันธ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การติดต่อเชื้อเอชไอวี สามารถติดต่อได้จาก 3 ช่องทางหลัก ๆ ได้แก่ ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ติดต่อผ่านทางเลือด และการถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก

การติดเชื้อเอชไอวี ผ่านทางเพศสัมพันธ์

การมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นทางทวารหนักหรือทางช่องคลอด เมื่อมีการปล่อยน้ำอสุจิหรือน้ำหล่อลื่นที่มีเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ได้รับสารคัดหลั่งเหล่านี้ก็จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้ ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักถือเป็นรูปแบบการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีสูงที่สุด สำหรับการทำออรัลเซ็กส์ นั้นก็มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีได้เช่นกัน หากบริเวณช่องปากมีบาดแผลหรือเกิดการอักเสบ แล้วได้รับสารคัดหลั่งที่มีเชื้อก็สามารถทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้เช่นกัน

การติดเชื้อเอชไอวี ผ่านทางเลือด

การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถติดเชื้อเอชไอวีได้ แต่โอกาสในการติดเชื้อจากทางเลือดนั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน จะมีการใช้เข็มที่สะอาด ผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว หรือการบริจาคเลือดเอง นอกจากจะใช้อุปกรณ์ที่สะอาด ทางคลังเลือดเองก็มีการคัดกรองเชื้อเอชไอวี อยู่แล้ว ซึ่งมีความปลอดภัยมาก

แต่นอกจากสถานพยาบาลแล้ว การใช้เข็มและอุปกรณ์สักร่วมกันก็สามารถทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้ ดังนั้น ร้านให้บริการสักควรมีการฆ่าเชื้ออุปกรณ์การสักให้สะอาด ก่อนจะสักให้คนต่อไป เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ทางเลือดผ่านทางอุปกรณ์สัก

การถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก

การติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก เป็นวิธีการติดเชื้อที่พบได้บ่อยในเด็ก การติดเชื้อเอชไอวี สามารถส่งต่อผ่านแม่สู่ลูกได้ ในระหว่างตั้งครรภ์ หลังคลอด และการให้นมบุตร แต่อย่างไรก็ตามหากคุณแม่มีการดูแลรักษาตนเองอย่างดี รับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ สามารถช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อเอชไอวีในทารกได้ นายแพทย์ วิฉกร จิตประพันธ์ กล่าวว่าหากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับยาต้านไวรัสมากกว่า 12 สัปดาห์ มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อในทารกได้เหลือเพียง 1% เท่านั้น

การติดเชื้อเอชไอวี ติดต่อได้จาก 3 หลัก ๆ คือ ผ่านทางเพศสัมพันธ์ ทางเลือด และถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก แต่การติดเชื้อทางเลือดและการถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกนั้นสามารถป้องกันได้และปลอดภัยกว่า ส่วนการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์นั้นมีความเสี่ยงสูงกว่ามาก โดยไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือแม้แต่ทางออรัลเซ็กส์ก็ตาม หากมีการสัมผัสสารคัดหลั่งต่าง ๆ ก็ล้วนมีความเสี่ยงใน การติดเชื้อเอชไอวี

[embed-health-tool-ovulation]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Source

นายแพทย์ วิฉกร จิตประพันธ์ แพทย์ประจำคลินิก Pulse สีลม

How is HIV passed from one person to another?

https://www.cdc.gov/hiv/basics/hiv-transmission/ways-people-get-hiv.html

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

03/12/2020

เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

ระยะของการติดเชื้อเอชไอวี รักษาทันอาจช่วยป้องกันการเป็นเอดส์

HIV สาเหตุ อาการ และการรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 03/12/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา