backup og meta

ผื่นแดง เอดส์ เป็นอย่างไร เกิดจากอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 10/03/2023

    ผื่นแดง เอดส์ เป็นอย่างไร เกิดจากอะไร

    ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอสไอวี (HIV) จะมีอาการของโรคหลายระดับ การติดเชื้อในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการและผู้ป่วยยังมีร่างกายแข็งแรงเหมือนคนปกติที่ไม่ติดเชื้อ แต่เมื่อไวรัสแบ่งตัวและเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จะทำลายระบบภูมิคุ้มกันจนเม็ดเลือดขาวมีจำนวนลดลง และหากถึงระยะสุดท้ายของการติดเชื้อหรือที่เรียกว่าระยะเอดส์ อาจทำให้มีอาการเจ็บป่วย เช่น เกิด ผื่นแดง เอดส์ กระจายทั่วร่างกาย เกิดอาการคันที่แขน ขา ใบหน้า และลำตัว ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยระดับความรุนแรงของอาการที่พบมักขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย

    เอดส์คืออะไร

    โรคเอดส์ (AIDS) คือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ถือเป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human immunodeficiency virus หรือ HIV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่เข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับการติดเชื้อและโรคต่าง ๆ ได้ตามปกติ เชื้อเอชไอวีมักแพร่กระจายได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสกับเลือดที่ติดเชื้อ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ เป็นต้น ทั้งยังสามารถแพร่จากแม่สู่ลูกได้ทั้งในช่วงตั้งครรภ์ ขณะคลอด และในช่วงให้นม

    ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะมีอาการที่แตกต่างกันไปตามระยะของการติดเชื้อ ภาวะทางผิวหนัง เช่น ตุ่มคัน ผื่นแดง เป็นอาการที่พบได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นของการติดเชื้อเอชไอวี หากไม่ควบคุมด้วยการรับประทานยาต้านไวรัส การติดเชื้อจะลุกลามไปเรื่อย ๆ นำไปสู่ระยะป่วยเป็นโรคเอดส์ หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Acquired Immune Deficiency Syndrome หรือ AIDS) อันเป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อซึ่งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกทำลายโดยสมบูรณ์ และอาจทำให้อาการต่าง ๆ รวมถึงอาการผื่นแดงรุนแรงขึ้น

    แม้ว่าโรคนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถควบคุมการติดเชื้อและป้องกันการลุกลามของโรคได้ด้วยการใช้ยาต้านไวรัส ผู้ที่รับประทานยาต้านไวรัสตรงตามกำหนดและควบคุมปริมาณไวรัสภายในร่างกายได้ จะสามารถลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อเอชไอวีไปสู่ผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    อาการ ผื่นแดง เอดส์ เป็นอย่างไร

    ลักษณะของอาการ ผื่นแดง เอดส์ อาจเกิดเป็นตุ่มแดงขนาดเล็ก มีเลือดคั่งอยู่ภายใน และทำให้รู้สึกคัน พบได้บ่อยบริเวณใบหน้า แขนและขา มือและเท้า และอาจพบเยื่อเมือกบนฝ่ามือและฝ่าเท้าด้วย นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการร่วมดังต่อไปนี้ ที่เป็นสัญญาณว่าระบบภูมิคุ้มกันกำลังต่อสู้กับไวรัสแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย โดยอาการมักเกิดขึ้นภายใน 2-6 สัปดาห์ตั้งแต่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายหรือในระยะแรกของการติดเชื้อ

    • มีไข้
    • เจ็บคอ
    • มีผดผื่นขึ้นตามร่างกาย
    • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
    • ปวดเมื่อยตามตัว
    • ปวดตามข้อ
    • ถ่ายเหลว
    • ต่อมน้ำเหลืองโต

    ผื่นแดง เอดส์ เกิดจากอะไร

    ผื่นแดง เอดส์ เป็นภาวะทางผิวหนังที่มักพบเมื่อผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระยะที่จำนวนเม็ดเลือดขาว CD4 ที่ทำหน้าที่ควบคุมและต่อสู้กับเชื้อโรคในร่างกายมีปริมาณน้อยลงจนทำให้เกิดผื่นทั่วร่างกาย ผื่นแดงพบได้บ่อยในผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อน อาการของผื่นแดงอาจรุนแรงขึ้นหรือปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3 หรือระยะโรคเอดส์ ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี ในขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผื่นแดงเอดส์เกิดจากสาเหตุใด แต่อาจเกิดจากการใช้ยา การตอบสนองของภูมิคุ้มกัน การติดเชื้อเอชไอวีที่ผิวหนังโดยตรง รวมไปถึงอาจมีสาเหตุจากการติดเชื้ออื่น ๆ เช่น โรคซิฟิลิส โรคงูสวัด โรคหูดข้าวสุก โรคมะเร็งผิวหนังชนิดคาโปซิซาร์โคมา (Kaposi Sarcoma)

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อเกิดผื่นแดงจากโรคเอดส์

    การรับประทานยาต้านไวรัสต่อเนื่องตามคุณหมอสั่งจะช่วยฟื้นฟูการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจช่วยควบคุมอาการทางผิวหนังได้ แต่อาจต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าผื่นแดงและตุ่มคันต่าง ๆ จะดีขึ้นหรือหายไปในที่สุด จึงจำเป็นต้องรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการและดูแลตัวเองให้ดี ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • รับประทานยาแก้แพ้ เช่น ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines)
    • ทายาบรรเทาอาการคันหรืออาการแพ้ เช่น ยาสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก (Topical steroids) ยาทาโครลิมัส (Topical tacrolimus)
    • รับประทานยาต้านเชื้อรา เช่น ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole)
    • รับการฉายแสงอัลตราไวโอเลตบีเพื่อรักษาผื่น (Ultraviolet B phototherapy)
    • ไม่แกะเกาแผลหรือตุ่มคันบนผิวหนัง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
    • ดูแลผิวไม่ให้แห้งจนเกินไป ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังเป็นประจำ
    • พยายามให้ผิวสัมผัสแสงแดดน้อยที่สุด และทาครีมกันแดดที่มี SPF อย่างน้อย 30 ขึ้นไปเป็นประจำ เนื่องจากผิวหนังของผู้ป่วยมีความไวต่อแสง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 10/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา