backup og meta

อาการโรคเอดส์ผู้ชาย สังเกตอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 03/04/2023

    อาการโรคเอดส์ผู้ชาย สังเกตอย่างไร

    โรคเอดส์ คืออาการระยะสุดท้ายของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย อาการโรคเอดส์ผู้ชายอาจไม่แตกต่างจากอาการโรคเอดส์ผู้หญิงมากนัก ทั้งนี้ เชื้อเอชไอวีสามารถแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นได้หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือติดต่อผ่านทางเลือดของผู้ติดเชื้อ หากพบว่าติดเชื้อเอชไอวีควรเร่งรักษาในทันทีเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง และป้องกันเชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น

    สาเหตุของโรคเอดส์

    สาเหตุของโรคเอดส์เกิดจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวีจากสารคัดหลั่ง น้ำอสุจิ หรือเลือดของผู้ติดเชื้อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การถ่ายเลือด หรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ส่งผลให้เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการช่วยปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อ เมื่อร่างกายมีจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 200 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร จึงอาจส่งผลให้การทำงานของภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงและพัฒนาอาการเป็นโรคเอดส์ได้

    อาการโรคเอดส์ผู้ชาย

    สำหรับอาการโรคเอดส์ผู้ชายอาจมีสัญญาณเตือนถึงแรงขับทางเพศที่ลดต่ำลงเนื่องจากร่างกายอาจไม่ผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนได้เพียงพอ อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ปัสสาวะมีสีขุ่นหรือปะปนเลือด รู้สึกแสบร้อนขณะปัสสาวะ มีแผลที่อวัยวะเพศ โดยอาจมีลักษณะอาการ ดังนี้

    1. อาการติดเชื้อเอชไอวีระยะเริ่มต้น อาจปรากฏหลังจากร่างกายเกิดการติดเชื้อประมาณ 2-4 สัปดาห์ ทำให้มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ได้แก่

    • ปวดศีรษะ
    • เป็นไข้
    • ไอ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม
    • ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ
    • เกิดผื่นบนผิวหนัง
    • ท้องเสีย
    • น้ำหนักลด
    • เหงื่อออกช่วงเวลากลางคืน

    2. อาการระยะแฝง หลังจากติดเชื้อระยะแรก อาการคล้ายไข้หวัดอาจหายไปได้เอง แต่ยังคงมีเชื้อเอชไอวีแฝงอยู่ในร่างกายและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาจใช้เวลานานหลายปี ส่วนใหญ่แล้วมักไม่มีอาการใด ๆ แต่ยังคงสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปสู่ผู้อื่นได้อยู่

    3. อาการระยะโรคเอดส์  เมื่อจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ลดลงต่ำกว่า 200 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร อาจเป็นไปได้ว่ากำลังเข้าสู่ระยะโรคเอดส์ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย  หากไม่ทำการรักษาตั้งแต่ในระยะแรก ๆ เชื้อเอชไอวีก็อาจทำลายระบบภูมิคุ้มกันจนพัฒนาเป็นโรคเอดส์ ซึ่งเป็นการติดเชื้อเอชไอวีระยะสุดท้ายและอาจก่อให้เกิดอาการ ดังต่อไปนี้

    • มีไข้ รู้สึกหนาวสั่น
    • เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน
    • ท้องเสียเรื้อรังเกินกว่า 1 สัปดาห์
    • น้ำหนักลด
    • เหนื่อยล้าง่ายอย่างไม่ทราบสาเหตุ
    • มีจุดสีขาวบนลิ้น ในช่องปาก ทวารหนัก อวัยวะเพศ
    • ผื่นขึ้นบนผิวหนัง

    วิธีรักษาอาการโรคเอดส์ผู้ชาย

    ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคเอดส์และการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีให้หายขาด แต่มีวิธีที่อาจช่วยไม่ให้อาการโรคเอดส์ รวมทั้งอาการโรคเอดส์ผู้ชายแย่ลง หรือป้องกันการติดเชื้อ ดังนี้

    ยาต้านไวรัสเอชไอวี

    • กลุ่มยาเอ็นอาร์ทีแอลเอส (NRTIs) เช่น ไซโดวูดีน (Zidovudine) ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) เอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine) ลามิวูดีน (Lamivudine) อะบาคาเวียร์ (Abacavir) มีส่วนช่วยต้านไวรัสยับยั้งเอนไซม์เชื้อเอชไอวี ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น ๆ ตามดุลพินิจของคุณหมอ
    • กลุ่มยาเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ (NNRTIs) เช่น ริวพิไวรีน (Rilpivirine) เอฟฟาไวเร็นซ์ (Efavirenz) โดราไวรีน (Doravirine)
    • สารยับยั้งอินทีเกรส (Integrase inhibitors) อินทีเกรสเป็นเอนไซม์ที่ทำให้เชื้อไวรัสเอชไอวีสามารถแทรกดีเอ็นเอของเข้าไปในเซลล์ CD4 ดังนั้น สารยับยั้งอินทีเกรส เช่น เอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine) ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) เป็นยาที่ช่วยปิดกั้นโปรตีนอินทีเกรส เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสแทรกเข้าสู่ DNA ทำลายเซลล์ระบบภูมิคุ้มกัน
    • สารยับยั้งโปรตีเอส (Protease inhibitors) คือยาต้านไวรัสที่ช่วยยับยั้งการแยกโปรตีนของเชื้อไวรัสเอชไอวี ป้องกันการแพร่เชื้อไปยังเซลล์บริเวณอื่น ๆ เช่น ดารูนาเวียร์ (Darunavir) อะทาซานาเวียร์ (Atazanavir) 
    • สารยับยั้งเชื้อไวรัสเข้ามาในเซลล์เม็ดเลือดขาว (Entry or fusion inhibitors) เช่น เอ็นฟูเวอร์ไทด์ (Enfuvirtide) มาราไวรอค (Maraviroc) เพื่อช่วยป้องกันไม่ใช้เชื้อเอชไอวีจับตัวกับเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4

    การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน

    เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและนำไปสู่อาการโรคเอดส์ผู้ชาย ควรปฏิบัติตัวดังนี้

    • สวมใส่ถุงยางอนามัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง
    • ไม่ควรใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
    • รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อเอชไอวี
    • จำกัดจำนวนคู่นอนเพื่อลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
    • ตรวจร่างกายเป็นประจำ

    นอกจากนี้ควรปรึกษาคุณหมอในการรับยาเพร็พ (PrEP) ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวีแต่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อ และยาเพ็พ (PEP) เป็นยาที่เหมาะสำหรับผู้ที่อาจติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ที่มีอาการเอดส์ผู้ชาย โดยควรเริ่มใช้ภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากได้รับเชื้อเอชไอวี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 03/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา