กินขมิ้น เป็นวิธีหนึ่งในการช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนที่หลายคนอาจไม่รู้ เนื่องจากขมิ้นมีสารเคอร์คูมิน (Curcumin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยบรรเทาอาการอักเสบที่เกิดขึ้นจากกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome หรือ PMS) รวมถึงอาจช่วยบรรเทาอาการอื่น ๆ ขณะมีประจำเดือน เช่น ท้องอืด ซึมเศร้า ได้อีกด้วย
[embed-health-tool-ovulation]
กินขมิ้น กับอาการปวดประจำเดือน เกี่ยวข้องกันอย่างไร
ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการมีประจำเดือน ไม่ใช่การมีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด แต่เป็นกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน เช่น อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด ปวดหลัง ตัวบวม ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ล้วนแต่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้หญิงทั้งสิ้น
แม้การมีประจำเดือนทุกเดือนของผู้หญิง จะเป็นกระบวนการตามธรรมชาติของร่างกาย แต่ไม่จำเป็นต้องปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ หรือทนอยู่กับอาการที่เกิดขึ้นโดยไม่ทำอะไรเลย เพราะสามารถบรรเทาอาการที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนได้
วิธีที่นิยมใช้ในการบรรเทาอาการช่วงมีประจำเดือนก็คือ การใช้ยาต้านการอักเสบชนิดปราศจากสเตียรอยด์ หรือ NSAID (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) หรือการประคบร้อนที่หน้าท้อง แต่อีกหนึ่งวิธีที่มีข้อมูลสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์มากที่สุด ก็คือ การใช้ขมิ้น นั่นเอง
ขมิ้น คือเครื่องเทศสีเหลืองที่อุดมไปด้วยสารเคอร์คูมินอยด์ (Curcuminoids) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติ โดยสารเคอร์คูมินอยด์ที่สำคัญที่สุดและนิยมนำไปใช้ในทางเภสัชกรรมอย่างแพร่หลายก็คือ เคอร์คูมิน
กินขมิ้น ช่วยอะไรได้บ้าง
ขมิ้น สามารถช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนได้ ดังนี้
-
ต้านอาการปวด
กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน คือ อาการทางร่างกายและอารมณ์ที่เกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือน เช่น อาการหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า ปวดศีรษะ ตัวบวม ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง อาการคล้ายเป็นไข้ ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ให้กลุ่มตัวอย่างผู้หญิงรับประทานขมิ้นก่อนมีประจำเดือน พบว่า อาการก่อนมีประจำเดือนลดลง มีการอธิบายว่า สารเคอร์คูมินที่ทำหน้าที่ต้านการอักเสบ ช่วยลดอาการปวดอันเกิดจากกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน โดยการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ COX และเอนไซม์ LOX ซึ่งเป็นเอนไซม์ 2 ชนิดที่สัมพันธ์กับการรับรู้อาการเจ็บปวด และสารจำพวกพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวด สารเคอร์คูมินยังป้องกันไม่ให้เซลล์ในภูมิคุ้มกันเคลื่อนตัวไปสู่อวัยวะสืบพันธุ์ จึงช่วยลดอาการอักเสบได้
-
กินขมิ้น ช่วยให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว
อาการตะคริวหรืออาการปวดท้อง ถือเป็นอาการที่พบได้บ่อยมากในช่วงมีประจำเดือน สารเคอร์คูมินในขมิ้นนอกจากจะช่วยต้านการอักเสบ บรรเทาอาการปวดได้แล้ว ยังป้องกันอาการเกร็งและหดตัวของกล้ามเนื้อในมดลูกและลำไส้ที่เป็นสาเหตุให้เกิดตะคริวและปวดท้องได้อีกด้วย
-
บรรเทาอาการซึมเศร้าและอารมณ์แปรปรวนเพราะประจำเดือน
สารเคอร์คูมินมีสรรพคุณช่วยต้านอาการซึมเศร้า และช่วยควบคุมสารเคมีในสมองบรรเทาอาการอารมณ์แปรปรวนได้ ในสมองมีโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “Brain-Derived Neurotrophic Factor (BDNF)” ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ก่อให้เกิดการสร้างและพัฒนาเซลล์ประสาท จากการศึกษาพบว่า เมื่อผู้หญิงที่เกิดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนได้รับสารเคอร์คูมิน ระดับสาร BDNF นี้จะเพิ่มขึ้น และอาการทางอารมณ์ที่สืบเนื่องจากการมีประจำเดือน เช่น อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า วิตกกังวลลดลง
-
ช่วยลดอาการท้องอืด และอาการเกี่ยวกับกระเพาะอาหารอื่นๆ
ในช่วงก่อนมีประจำเดือนและช่วงมีประจำเดือน ผู้หญิงมักประสบปัญหาท้องอืด เรอบ่อย ท้องเฟ้อ มีกรดเกินในกระเพาะอาหาร และอาการเกี่ยวกับกระเพาะอาหารอื่นๆ อีกมากมาย ยิ่งหากการกินยาในกลุ่ม NSAID เพื่อบรรเทาปวด ก็อาจทำให้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้แย่ลงได้
การศึกษาเผยว่า สารเคอร์คูมินที่อยู่ในขมิ้นมีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านจุลินทรีย์ จึงช่วยลดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย และอาการเกี่ยวกับกระเพาะอาหารอื่นๆ ได้ โดยการศึกษาชิ้นหนึ่งในกลุ่มตัวอย่างผู้ที่มีปัญหาอาหารไม่ย่อยและท้องอืด พบว่า สารสกัดจากขมิ้นช่วยให้สุขภาพของพวกเขาดีขึ้นได้ภายใน 7 วัน
-
กินขมิ้น ช่วยต้านการติดเชื้อและต้านพิษ
ประจำเดือนทำให้ร่างกายไวต่อการติดเชื้อมากขึ้น อีกทั้งผู้หญิงยังเสี่ยงติดเชื้อราชนิด Candida ทั้งในช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือน ขมิ้นชันมีสรรพคุณต้านจุลินทรีย์ อีกทั้งยังได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถป้องกันเชื้อราได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในช่วงมีประจำเดือน หากไม่เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ผ้าอนามัยแบบสอด อาจเสี่ยงเกิดกลุ่มอาการท็อกซิกช็อก (Toxic Shock Syndrome) ซึ่งเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรง ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จากการศึกษาวิจัยในสัตว์พบว่า ขมิ้นช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการท็อกซิกช็อกได้
ขนาดในการใช้
สามารถกินขมิ้นสด โดยนำไปประกอบอาหาร หรือกินขมิ้นที่อยู่ในรูปแบบของสารสกัดได้ โดยขนาดในการใช้ที่แนะนำมีดังนี้
- ผงมาตรฐาน 400-600 มก. 3 ครั้งต่อวัน
- สารสกัดในรูปของเหลวความเข้มข้น 1:1 ใช้ 30-90 หยดต่อวัน
- สารละลายในอัตรา 1:2 โดยใช้ 15-30 หยด 4 ครั้งต่อวัน