backup og meta

ชอบ โชว์ เกิดจากอะไร รักษาให้หายได้ไหม

ชอบ โชว์ เกิดจากอะไร รักษาให้หายได้ไหม

ชอบ โชว์ หรือ Exhibitionism หมายถึง พฤติกรรมของผู้ที่ชอบอวดอวัยวะเพศต่อหน้าผู้อื่นในที่สาธารณะ จัดเป็นอาการของความผิดปกติทางเพศ หรือเรียกว่า โรคชอบโชว์ ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมชอบอวดภาพอนาจารของตัวเองต่อหน้าผู้อื่น รวมถึงการมีแรงขับหรือจินตนาการที่ต้องการแสดงของลับต่อหน้าผู้อื่น ผู้ที่ชอบโชว์ มักเป็นเพศชาย อย่างไรก็ตาม โรคชอบโชว์ สามารถรักษาได้ ด้วยการพูดคุยกับจิตแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจตัวเอง เพื่อให้คุณหมอสามารถวินิจฉัยหาสาเหตุของความเจ็บป่วยทางจิตเวชนี้ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นปกติ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นในสังคม

ชอบ โชว์ เป็นอาการของโรคอะไร

พฤติกรรมชอบแสดงอวัยวะเพศต่อหน้าผู้อื่น จัดเป็นอาการของความผิดปกติทางเพศที่เรียกว่า Exhibitionism หรือในภาษาไทยเรียกว่า โรคชอบโชว์ อาการของผู้ที่เป็นโรคนี้คือ จะรู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้แสดงอวัยวะเพศให้ผู้อื่นเห็นในที่สาธารณะ โดยเฉพาะกับคนแปลกหน้า และมักมีความพึงพอใจเมื่ออีกฝ่ายกลัวหรือตกใจ

วิธีพิจารณาว่าบุคคลใดเข้าข่ายเป็นโรคชอบโชว์หรือไม่ อาจพิจารณาได้จากปัจจัยต่อไปนี้

  • การมีจินตนาการ พฤติกรรม หรือแรงขับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแสดงของลับต่อหน้าผู้อื่น ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในรอบ 6 เดือนหรือมากกว่านั้น
  • ความไม่สบายใจในการดำเนินชีวิตประจำวัน เนื่องจากแรงขับที่อยากจะแสดงของลับหรืออวดอวัยวะเพศของตนเองต่อหน้าผู้อื่น และเมื่อไม่ได้แสดงออก เกิดความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ

ทั้งนี้ แม้พฤติกรรมชอบอวดของลับจะไม่สร้างอันตรายทางด้านร่างกายต่อผู้อื่น หรืออาจไม่นำไปสู่การข่มขืน แต่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเพราะถือว่าเป็นการคุกคามทางเพศรูปแบบหนึ่ง

นอกจากนี้ อาการของโรคชอบโชว์ ยังอาจรวมถึงรสนิยมชอบอวดหรือแบ่งปันภาพอนาจารของตัวเองให้ผู้อื่นโดยที่อีกฝ่ายไม่ได้เต็มใจหรือต้องการเห็นภาพนั้น ๆ

ชอบ โชว์เกิดจากอะไร

ผู้ที่เป็นโรคชอบโชว์ มักเริ่มมีอาการในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย หรือเมื่อเริ่มต้นเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าความผิดปกติทางเพศนี้มีสาเหตุมาจากปัจจัยใด แต่มีข้อสันนิษฐานว่าอาจเกิดผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • การโดนล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก
  • การใช้สารเสพติดหรือสารเคมีบางชนิดผิดกฎหมายจนอาจส่งผลต่อพฤติกรรมหรือการแสดงออกบางอย่าง
  • โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม
  • รสนิยมทางเพศส่วนบุคคล

ชอบ โชว์มีผลเสียอย่างไร

ผู้ที่เป็นโรคชอบโชว์ อาจส่งผลเสียต่อตนเอง หรือบุคคลใกล้ชิด ดังนี้

  • อาจเป็นสาเหตุของความรู้สึกผิด ไม่สบายใจ หรืออับอาย
  • ทำให้ถูกมองในแง่ลบ และอาจทำให้ถูกกีดกันออกจากสังคม
  • มีปัญหาความสัมพันธ์กับคู่รักหรือคู่นอน ในกรณีอีกฝ่ายไม่สามารถทำใจยอมรับพฤติกรรมชอบโชว์ได้
  • อาจทำให้ถูกจับคุม ดำเนินคดี ประวัติเสื่อมเสีย

ชอบ โชว์รักษาได้หรือไม่

โรคชอบโชว์ อาจรักษาได้โดยการบำบัดทางจิตเวชที่เรียกว่า Cognitive Behavioral Therapy (CBT) หรือการพูดคุยเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงความคิด หรือสาเหตุของความผิดปกติ และเข้าใจตนเองมากขึ้น และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นปกติ

อย่างไรก็ตาม หากการบำบัดแบบ CBT อย่างเดียวใช้ไม่ได้ผล คุณหมออาจให้ผู้ที่เป็นโรคชอบโชว์รับประทานยาร่วมด้วย ระหว่างการรักษา ได้แก่

  • ยาแก้ซึมเศร้ากลุ่มที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อสารสื่อประสาทเพียงชนิดเดียว (Selective Serotonin Reuptake Inhibitor: SRRI) เช่น ฟลูออกซีทีน (Fluoxetine) เซอร์ทราลีน (Sertraline) ซึ่งมีคุณสมบัติลดความต้องการทางเพศ และต้านอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
  • ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน (Antiandrogens) ที่มีประสิทธิภาพลดระดับฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรนในร่างกาย อาจใช้เพื่อระงับความต้องการทางเพศ ในกรณีของผู้ป่วยที่มีความต้องการทางเพศสูงมากหรือสุดโต่ง (Hypersexuality)

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Is Exhibitionism?. https://www.webmd.com/sex/what-is-exhibitionism. Accessed June 2, 2022

Exhibitionism. https://www.britannica.com/topic/exhibitionism. Accessed June 2, 2022

Exhibitionistic Disorder. https://www.firstlightpsych.com/blog/sexual-disorders/exhibitionistic-disorder. Accessed June 2, 2022

Paraphilias. https://www.webmd.com/sexual-conditions/guide/paraphilias-overview. Accessed June 2, 2022

Paraphilias: definition, diagnosis and treatment. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3769077/. Accessed June 2, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

06/02/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

พฤติกรรมและอาการแปลกๆ สัญญาณเบื้องต้นที่อาจนำไปสู่ โรคจิตเภท

โรคจิตหลังคลอด สาเหตุ อาการ และการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 06/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา