backup og meta

โรคจิตหลังคลอด สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 09/05/2022

    โรคจิตหลังคลอด สาเหตุ อาการ และการรักษา

    โรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis)  คือความผิดปกติทางจิตของคุณแม่ในช่วงเวลาหลังคลอดบุตร ที่อาจเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายหลังคลอด ร่วมกับการมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น โรคไบโพลาร์ การตั้งครรภ์ขณะที่มีอายุมาก การตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผนมาก่อน ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต และเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคจิตหลังคลอดได้

    คำจำกัดความ

    โรคจิตหลังคลอด คืออะไร

    โรคจิตหลังคลอด คือ เป็นปัญหาสุขภาพจิตหลังคลอด ที่อาจเกิดจากจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนคุณแม่หลังคลอด โดยจะมีอาการทางระบบประสาท รวมไปถึงอารมณ์ของคุณแม่ช่วงหลังคลอดที่ไม่มั่นคง เดาทางได้ยาก เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ร้ายแรง สามารถพบได้ในผู้หญิงตั้งครรภ์ประมาณ 1 ใน 500 คน

    อาการ

    อาการของโรคจิตหลังคลอด

    อาการโรคจิตหลังคลอดมักเกิดขึ้นอย่างกะทันหันภายใน 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด มีอาการมากกว่าภาวะซึมเศร้าหลังคลอด สัญญาณที่คุณแม่หลังคลอดควรระวังและสังเกต ได้แก่

    • ภาพหลอน ไม่ว่าจะเป็นการได้ยิน มองเห็น การได้กลิ่น หรือความรู้สึกที่ไม่มีอยู่จริง
    • ภาพลวงตา มีความคิด หรือความเชื่อที่ไม่น่าจะเป็นความจริง
    • รู้สึกสับสน หงุดหงิด อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่คงที่
    • ความอยากอาหาร หรือพฤติกรรมในการกินเปลี่ยนไป
    • รู้สึกว่าทุกอย่างแย่ไปหมด ไม่มีความสมเหตุสมผล
    • มีการคิดทำร้ายตัวเอง คนรอบข้าง หรือแม้กระทั่งลูกน้อย
    • มีความคิดฆ่าตัวตาย หรือเชื่อว่าถ้าตายไปจะดีต่อลูกและครอบครัวมากกว่า

    ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

    ควรไปพบคุณหมอ หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น หรือมีความกังวลต่าง ๆ และจำเป็นควรที่จะรีบไปปรึกษาคุณหมอทันที

    ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์

    สาเหตุ

    สาเหตุของโรคจิตหลังคลอด

    โอกาสการเกิด ปัญหาสุขภาพหลังคลอด จะสูงขึ้นหากมีคนในครอบครัวมีโรคอารมณ์สองขั้วหรือเคยมีอาการทางจิตมาก่อน และสาเหตุอื่น ๆ เช่น

    • มีลูกเป็นครั้งแรก
    • การตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผน
    • การหยุดใช้ยาจิตเวชระหว่างตั้งครรภ์
    • การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันของฮอร์โมน
    • การตั้งครรภ์ในช่วงที่มีอายุมาก
    • มีการคิดทำร้ายตนเอง คนรอบข้าง หรือแม้กระทั่งลูกน้อย

    แต่คุณแม่หลังคลอดสามารถเป็นโรคจิตหลังคลอดได้ แม้ว่าจะไม่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตมาก่อนก็ตาม

    ปัจจัยเสี่ยงของ ปัญหาสุขภาพหลังคลอด

    สำหรับปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคจิตหลังคลอด ได้แก่

  • มีประวัติเป็นโรคไบโพลาร์
  • มีประวัติเป็นโรคจิตหลังคลอดจากการตั้งครรภ์ครั้งก่อน
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคจิตหรือโรคไบโพลาร์
  • อย่างไรก็ตาม คุณหมอยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคจิตหลังคลอด มีอีกหลายแง่มุมของสุขภาพที่มีอิทธิพลต่อปัจจัยการเป็นโรคจิตหลังคลอด

    การวินิจฉัยและการรักษาโรค

    ข้อมูลในนี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยโรคจิตหลังคลอด

    คุณหมออาจจะถามคำถามต่อไปนี้กับครอบครัว หรือบุคคลที่อยู่ด้วย เพื่อดูปัจจัยเสี่ยงของโรคจิตหลังคลอด

    • ผู้ป่วยมีประวัติความไม่มั่นคงทางอารมณ์หรือไม่ เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะไฮโปเมเนียหรือ อาการเกือบฟุ้งพล่าน
    • ประวัติครอบครัวเป็นโรคทางจิตเวชหรือไม่
    • ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ก่อนหรือระหว่างตั้งครรภ์หรือไม่

    การรักษาโรคจิตหลังคลอด

    การรักษาโรคจิตหลังคลอดจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อรับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าหากอยู่บ้านโดยไม่มีคนดูแล คุณแม่อาจจะทำร้ายลูกหรือทำร้ายตัวเองได้เมื่อไรก็ได้ ซึ่งการรักษา ได้แก่

    การใช้ยา

    • Antipsychotics หรือยาต้านอาการทางจิต ออกฤทธิ์ยับยั้งตัวรับสารสื่อประสาทโดพามีน อาจนำมาใช้เพียงชั่วคราวหรือในระยะยาวเพื่อลดอาการที่เกิดจากภาวะทางจิต เข่น การเห็นภาพหลอน อาการหลงผิด
    • Mood Stabilizers หรือยารักษาระดับอารมณ์ เช่นลิเธียม เพื่อรักษาอารมณ์ของคุณให้คงที่
    • Antidepressant หรือยาแก้ซึมเศร้า เพื่อช่วยบรรเทาอาการหากคุณมีอาการซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญและอาจใช้ควบคู่ไปกับยารักษาระดับอารมณ์

    จิตบำบัด

    เป็นการบำบัดด้วยวิธีการพูดคุยที่สามารถช่วยให้คุณสามารถจัดการปัญหา โดยเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมของคุณ

    การบำบัดด้วยไฟฟ้า (ECT)

    บางครั้งคุณหมออาจแนะนำให้ใช้การบำบัดด้วยไฟฟ้า (ECT) หากทางเลือกการรักษาอื่น ๆ ไม่เป็นผล

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยจัดการกับโรคจิตหลังคลอด

    นอกเหนือจากการรักษาแล้ว การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์บางประการอาจช่วยให้รับมือกับโรคจิตหลังคลอดได้

    • วางแผนก่อนการตั้งครรภ์ การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ จะช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีขึ้นตลอดช่วงระยะการตั้งครรภ์และหลังคลอด
    • จัดการกับความเครียด คุณแม่ควรพยายามควบคุมความเครียดไม่ให้มากเกินไป อาจลองหากิจกรรมเบา ๆ ทำ เช่น โยคะสำหรับคนท้อง

    แม้ว่า ปัญหาสุขภาพหลังคลอด อาจไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เหล่านี้ อาจสามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดปัญหาโรคจิตหลังคลอด และช่วยให้สุขภาพจิตของคุณแม่แข็งแรง มีความสุขมากยิ่งขึ้นได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 09/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา