การช่วยตัวเอง คือการสัมผัสหรือลูบไล้ตัวเอง เพื่อกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ แม้การช่วยตัวเองนับเป็นกิจกรรมที่ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงไม่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ แต่หาก ช่วยตัวเองบ่อย อาจส่งผลให้อวัยวะเพศบาดเจ็บได้ นอกจากนั้น ผู้ที่หมกมุ่นจนเสพติดการช่วยตัวเอง อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักและรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ยากขึ้น
[embed-health-tool-bmi]
การช่วยตัวเอง คืออะไร
การช่วยตัวเอง หรือการสำเร็จความใคร่ หมายถึง การสัมผัสอวัยวะเพศ และส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ไวต่อความรู้สึกทางเพศ อย่างปานนม องคชาต หรือทวารหนัก เพื่อสร้างความสุขทางเพศ หรือทำให้ถึงจุดสุดยอดโดยไม่ต้องพึ่งพาคู่นอน
การช่วยตัวเองนับเป็นกิจกรรมที่ปลอดภัย เนื่องจากไม่เสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ใด ๆ และไม่ก่อให้เกิดการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ การช่วยตัวเองยังมีประโยชน์อีกหลายประการ เช่น
- ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย
- ลดความเครียด
- ช่วยให้หลับสบาย
- ส่งเสริมสมรรถภาพทางเพศ และสุขภาพของระบบสืบพันธุ์
- ลดความเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ช่วยระบายความต้องการทางเพศ โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่สะดวกในการมีเพศสัมพันธ์ เช่น ระหว่างตั้งครรภ์
ความเข้าใจผิดต่าง ๆ เกี่ยวกับการช่วยตัวเอง
ความเข้าใจผิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยตัวเอง มีดังต่อไปนี้
- การช่วยตัวเองทำให้อสุจิลดลง และส่งผลกระทบให้โอกาสมีบุตรน้อยลง
ความจริงแล้ว ร่างกายของเพศชายผลิตอสุจิใหม่อยู่เสมอ ดังนั้น การช่วยตัวเองจึงไม่ส่งผลกระทบต่อโอกาสการมีบุตรที่น้อยลงแต่อย่างใด
- การช่วยตัวเองทำให้ความต้องการทางเพศน้อยลง
บางคนเข้าในว่า การช่วยตัวเองจะทำให้ความต้องการทางเพศน้อยลงและลดปริมาณของฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งทำหน้าที่รักษาความเป็นชายต่าง ๆ เช่น หนวดเครา ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว และรักษาระดับความต้องการทางเพศ
ความจริงแล้ว การช่วยตัวเองไม่มีผลต่อความต้องการทางเพศ รวมถึงไม่ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรนในร่างกายลดลง เนื่องจากระดับฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรนนั้นควบคุมโดยต่อมใต้สมอง ไม่เกี่ยวกับการช่วยตัวเองแต่อย่างใด
- การช่วยตัวเองทำให้ความสุขในการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนลดลง
ความจริงแล้ว การช่วยตัวเองถือเป็นการสำรวจตัวเองว่าชอบถูกกระตุ้นทางเพศแบบไหน ถือเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความสุขระหว่างการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอน
- การช่วยตัวเองเป็นเรื่องน่าละอายหรือเป็นเรื่องผิดปกติ
ความจริงแล้ว การช่วยตัวเองถือเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ เป็นการสร้างความสุขและความพึงพอใจให้ตัวเอง
- ช่วยตัวเองบ่อยมีผลต่อประจําเดือนหรือไม่
ความจริงแล้ว การช่วยตัวเองบ่อย ไม่ได้ ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อการมีประจำเดือน ไม่ได้ทำให้ประจำเดือนมาช้า มาเร็ว หรือประจำเดือนเลื่อน ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีความกังวลใด ๆ
ช่วยตัวเองบ่อย แค่ไหน จึงถือว่ามากเกินไป
ในทางการแพทย์ ไม่ได้มีการระบุว่าการช่วยตัวเองวันละกี่ครั้งจึงส่งผลดีต่อสุขภาพ หรือวันละกี่ครั้งจึงส่งผลเสียต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม การช่วยตัวเองควรอยู่ในขอบเขตที่พอดี ไม่บ่อยเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือการรักษาความสัมพันธ์กับคู่รักหรือคนรอบข้าง ทั้งนี้ การเสพติดการช่วยตัวเอง หรือที่เรียกว่า ช่วยตัวเองบ่อย อาจพิจารณาได้จากพฤติกรรมต่อไปนี้
- ละเลยงานบ้าน หรือกิจวัตรประจำวัน เพื่อไปช่วยตัวเอง
- ไม่ไปโรงเรียน หรือสถานที่ทำงาน เพื่อช่วยตัวเอง
- ยกเลิกทริปเที่ยวกับเพื่อน หรือการทำกิจกรรมกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อหาเวลาว่างอยู่กับตัวเองและช่วยตัวเอง
- ยอมพลาดงานหรือกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ เพื่อช่วยตัวเอง
ช่วยตัวเองบ่อย ก่อให้เกิดผลเสียอย่างไร
ผู้ที่เสพติดการช่วยตัวเอง หรือช่วยตัวเองบ่อย อาจก่อให้เกิดผลเสียต่าง ๆ ดังนี้
- ทำให้เหนื่อยล้าหรือหมดแรงและอาจทำให้ไม่อยากตื่นขึ้นไปทำกิจวัตรประจำวัน
- อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก เพราะอาจทำให้ใช้เวลาด้วยกันน้อยลง หรือไม่สนใจว่าคู่รักต้องการอะไร
- ละเลยความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับคนรอบข้าง เพื่อนฝูง หรือคนในครอบครัว
นอกจากนั้น หากช่วยตัวเองบ่อย และทำไม่ถูกวิธี หรือใช้อุปกรณ์อื่น ๆ ที่ไม่สะอาดร่วมด้วยอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอวัยวะเพศของชายและหญิง ดังนี้
- เพศชาย ทำให้ผิวหนังบริเวณองคชาตระคายเคืองหรือบาดเจ็บได้หากช่วยตัวเองด้วยวิธีรุนแรง นอกจากนั้น การพยายามงอองคชาตระหว่างองคชาตแข็งตัว อาจทำให้องคชาตหักหรือเนื้อเยื่อภายในฉีกขาดได้
- เพศหญิง ทำให้ถึงจุดสุดยอดได้ยากขึ้นเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับคู่รัก หากบริเวณที่มักถูกกระตุ้นระหว่างช่วยตัวเองไม่ถูกกระตุ้นระหว่างมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ การกระตุ้นคลิตอริสมากเกินไปในระหว่างช่วยตัวเอง อาจทำรู้สึกเจ็บบริเวณคลิตอริสเมื่อมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนั้น หากใช้เซ็กส์ทอยที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ทำความสะอาดก่อนและหลังใช้ อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือติดเชื้อได้
อย่างไรก็ตาม หากกังวลเกี่ยวกับจำนวนครั้งในการช่วยตัวเอง รู้สึกผิดเมื่อช่วยตัวเอง หรือสงสัยว่าช่วยตัวเองบ่อยเกินไป ควรปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ หรืออาจลองเบี่ยงเบนความสนใจตัวเองด้วยการหากิจกรรมประเภทอื่นทำ เช่น การออกกำลังกาย ฟังเพลง อ่านหนังสือ