ช่องคลอดมีก้อนเนื้อขรุขระ อาจพบได้เมื่อใช้นิ้วลูบคลำบริเวณปากช่องคลอดหรือสอดเข้าไปภายในช่องคลอดแล้วสัมผัสเจอกลุ่มติ่งเนื้อหรือก้อนเนื้องอกบริเวณผิวหนังด้านนอก รวมถึงอาจคลำเจอก้อนเนื้อที่อยู่ใต้ผิวหนังบริเวณช่องคลอด หรือบริเวณด้านในตะปุ่มตะป่ำ ไม่เรียบ โดยมักเป็นสัญญาณเตือนภาวะสุขภาพในระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงที่ผิดปกติที่อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น หูดหงอนไก่ มะเร็งช่องคลอด ถุงน้ำต่อมบาร์โธลิน เมื่อคลำเจอก้อนขรุขระบริเวณช่องคลอด ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัย
ทั้งนี้ สามารถดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงช่องคลอดมีก้อนเนื้อขรุขระได้ เช่น สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อเพศสัมพันธ์ เข้ารับการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี ดูแลทำความสะอาดช่องคลอดอยู่เสมอ
[embed-health-tool-ovulation]
ช่องคลอดมีก้อนเนื้อขรุขระ เป็นอาการของโรคอะไรได้บ้าง
ช่องคลอดมีก้อนเนื้อขรุขระ เป็นอาการร่วมของภาวะสุขภาพหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิง ดังนี้
- หูดหงอนไก่
หูดหงอนไก่ (Genital Warts) ผู้ป่วยมักคลำพบว่าช่องคลอดมีก้อนเนื้อขรุขระ โดยเกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ซึ่งแพร่กระจายผ่านสารคัดหลั่ง ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
โดยทั่วไป หูดหงอนไก่จะมีลักษณะเป็นหูดหรือติ่งเนื้อสีชมพูหรือน้ำตาลขึ้นเป็นกลุ่มก้อนบริเวณอวัยวะเพศ มีลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ อาจทำให้คันหรือไม่สบายตัวบริเวณช่องคลอดได้ รวมถึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการมีเลือดออกระหว่างมีเพศสัมพันธ์
นอกจากนั้น หูดหงอนไก่อาจเกิดขึ้นภายในช่องคลอด ทำให้มองไม่เห็น หรือไม่ทราบว่าตัวเองกำลังเป็นหูดอยู่
การรักษาหูดหงอนไก่
หูดหงอนไก่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถดูแลตนเองตามคำแนะนำของคุณหมอเพื่อบรรเทาและควบคุมอาการของโรคไม่ให้ลุกลามได้ โดยคุณหมอจะให้ใช้ยาสำหรับทาภายนอก อย่างยาอิมิควิโมด (Imiquimod) ซึ่งมีสรรพคุณกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สามารถต่อสู้กับเชื้อหูดหงอนไก่ หรือยาโพโดฟิลลิน (Podophyllin) ซึ่งสามารถออกฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื่อของหูดหงอนไก่ ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างใช้ยารักษาโรค
นอกจากนี้ หากการใช้ยารักษาไม่ได้ผลหรือหากตรวจพบหูดหงอนไก่ลุกลามเป็นบริเวณกว้าง คุณหมอจะรักษาโดยการผ่าเอาก้อนขรุขระหรือกลุ่มติ่งเนื้อออกจากร่างกายผู้ป่วย ด้วยการใช้กระแสไฟฟ้าหรือแสงเลเซอร์จี้ออก
- ถุงน้ำบริเวณช่องคลอด
ถุงน้ำบริเวณช่องคลอด (Vaginal Cysts) มักเกิดจากการอุดตันของท่อหรือต่อมบริเวณช่องคลอด รวมถึงการบาดเจ็บของช่องคลอด เนื่องจากการผ่าตัดขยายช่องคลอดขณะคลอดลูก
โดยทั่วไป ถุงน้ำบริเวณช่องคลอดมักเกิดบริเวณผนังหรือปากช่องคลอด ทำให้สามารถคลำเจอช่องคลอดมีก้อนเนื้อขรุขระได้ แต่มักไม่รู้สึกเจ็บ ยกเว้นในกรณีติดเชื้อแบคทีเรียจะทำให้ถุงน้ำเกิดฝีและกลัดหนอง รู้สึกเจ็บได้โดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์
การรักษาถุงน้ำบริเวณช่องคลอด
หากตรวจพบถุงน้ำขนาดเล็กในช่องคลอด โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย คุณหมอมักไม่ใช้วิธีผ่าตัดเพื่อรักษาเนื่องจากไม่ก่อให้เกิดอันตราย เพียงแต่ในเบื้องต้น คุณหมอมักใช้วิธีตรวจภายในและติดตามอาการเป็นระยะ ๆ
อย่างไรก็ตาม ถ้าถุงน้ำสร้างความเจ็บปวดเนื่องจากการติดเชื้อ คุณหมอจะรักษาด้วยการให้รับประทานยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ ถ้าคุณหมอสันนิษฐานจากลักษณะและอาการต่าง ๆ ว่าถุงน้ำบริเวณช่องคลอดอาจเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง คุณหมอจะขอตัดชิ้นเนื้อไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อทำการวินิจฉัยต่อไป
- ถุงน้ำของต่อมบาร์โธลิน (Bartholin’s Cyst )
ถุงน้ำของต่อมบาร์โธลิน เป็นถุงน้ำบริเวณช่องคลอดแบบหนึ่ง เกิดจากการอุดตันของท่อเล็ก ๆ ของต่อมบาร์โธลินซึ่งมีหน้าที่คอยลำเลียงน้ำหล่อลื่นซึ่งผลิตจากต่อมบาร์โธลิน เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ช่องคลอด ช่วยลดการเสียดสีของผิวหนังระหว่างมีเพศสัมพันธ์
ในทางการแพทย์ สาเหตุการอุดตันของท่อต่อมบาร์โธลินยังไม่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณช่องคลอด
ทั้งนี้ เมื่อเป็นถุงน้ำของต่อมบาร์โธลิน ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่ามีก้อนบวมที่ช่องคลอด หรือปากช่องคลอด หรือรู้สึกว่าช่องคลอดมีก้อนเนื้อขรุขระ แต่มักไม่รู้สึกเจ็บปวด
อย่างไรก็ตาม หากถุงน้ำมีขนาดใหญ่ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บช่องคลอดเมื่อเคลื่อนไหวร่างกายอย่างการเดิน นั่ง หรือมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ถุงน้ำต่อมบาร์โธลินอาจเกิดการกลัดหนองหากช่องคลอดติดเชื้อแบคทีเรีย และทำให้บริเวณรอบ ๆ มีอาการบวม แดง และเจ็บได้
การรักษาถุงน้ำของต่อมบาร์โธลิน
หากถุงน้ำของต่อมบาร์โธลินมีขนาดเล็กอาจไม่ต้องรักษา แต่หากถุงน้ำของต่อมบาร์โธลินทำให้เจ็บปวด คุณหมอจะแนะนำให้แช่ตัวในอ่างน้ำอุ่น วันละหลายครั้ง เป็นเวลา 3-4 วันติดต่อกัน ร่วมกับการรับประทานยาแก้ปวด
หากดูแลตัวเองตามคำแนะนำของคุณหมอแล้วอาการเจ็บปวดไม่ดีขึ้น คุณหมอจะใช้วิธีอื่นรักษาถุงน้ำต่อมบาร์โธลิน ด้วยการผ่าถุงน้ำแล้วสอดสายสวนเข้าไปภายใน เพื่อช่วยระบายของเหลวซึ่งขังอยู่ด้านในให้ไหลออกมาจนหมด ซึ่งจะทำให้ถุงน้ำค่อย ๆ ยุบลง
- ติ่งเนื้อบริเวณช่องคลอด
ติ่งเนื้อบริเวณช่องคลอด เป็นก้อนเนื้อขรุขระแบบหนึ่ง ไม่เป็นอันตราย เกิดจากการเสียดสีระหว่างผิวหนังกับเสื้อผ้า โดยคนอ้วนมักมีโอกาสเกิดติ่งเนื้อมากกว่าคนผอม เพราะเสื้อผ้าอาจรัดแน่น และเสียดสีกับร่างกายมากกว่า
โดยทั่วไป ติ่งเนื้อมักมีพื้นผิวด้านนอกขรุขระ ลักษณะคล้ายลูกโป่งซึ่งยังไม่ถูกเป่าลม ขนาดของติ่งเนื้อจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-10 มิลลิเมตร และบางครั้งอาจใหญ่เท่าลูกองุ่น
- การรักษาติ่งเนื้อบริเวณช่องคลอด
ติ่งเนื้อบริเวณช่องคลอดมักไม่ก่อให้เกิดอันตราย และสามารถหลุดออกจากร่างกายเองได้ จึงไม่จำเป็นต้องรักษา ยกเว้นว่าติ่งเนื้อจะทำให้ไม่สบายตัว สร้างความเจ็บปวด หรือทำให้เกิดความเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์
ทั้งนี้ การนำติ่งเนื้อออกจากช่องคลอด สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดด้วยมีด ผ่าตัดด้วยด้ายผ่าตัด ใช้กระแสไฟฟ้าจี้ หรือบำบัดด้วยความเย็น โดยคุณหมอจะเป็นผู้วินิจฉัยวิธีรักษาที่เหมาะสมกับสภาพและขนาดของติ่งเนื้อ
- มะเร็งช่องคลอด
มะเร็งช่องคลอด เป็นมะเร็งชนิดหายาก โดยสาเหตุการเกิดยังไม่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องการติดเชื้อเอชพีวีซึ่งเป็นสาเหตุเดียวกับโรคหูดหงอนไก่
เมื่อเป็นมะเร็งช่องคลอด อาจคลำเจอก้อนบวมหรือพบว่าช่องคลอดมีก้อนเนื้อขรุขระ ร่วมกับอาการอื่น ๆ ดังนี้
- มีเลือดซึ่งไม่ใช่ประจำเดือน ไหลออกจากช่องคลอด
- มีเลือดปนในตกขาว หรือตกขาวมีกลิ่นคล้ายโลหะ
- มีอาการเจ็บช่องคลอด ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ หรือเมื่อปัสสาวะ
- คันบริเวณช่องคลอด ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
การรักษามะเร็งช่องคลอด
มะเร็งช่องคลอด อาจรักษาได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
- ผ่าตัด เพื่อนำเนื้อร้ายออกจากร่างกาย หากเซลล์มะเร็งที่พบยังจำกัดอยู่แค่บนพื้นผิวช่องคลอด คุณหมอจะผ่าตัดเพียงก้อนขรุขระและเนื้อเยื่อรอบ ๆ ออก อย่างไรก็ตาม หากมะเร็งลุกลามไปมากกว่านั้น คุณหมออาจผ่าตัดนำช่องคลอดทั้งหมดออกจากร่างกายเพื่อป้องกันมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ
- ฉายรังสี หรือการฆ่าเซลล์มะเร็งด้วยรังสี สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้อย่างรวดเร็ว แต่เซลล์ปกติรอบ ๆ บริเวณที่ฉายรังสีมักได้รับความเสียหายไปด้วย และอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงอื่น ๆ ตามมา เช่น อ่อนเพลีย ภูมิต้านทานลดต่ำลง
ช่องคลอดมีก้อนเนื้อขรุขระ ป้องกันได้หรือไม่
วิธีป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงช่องคลอดมีก้อนเนื้อขรุขระนั้นสามารถทำได้หากดูแลตัวเองตามคำแนะนำต่อไปนี้
- มีเพศสัมพันธ์โดยป้องกันทุกครั้ง โดยให้ฝ่ายชายสวมถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคหูดหงอนไก่ และการติดเชื้อไนซีเรีย โกโนเรียอี (Neisseria Gonorrhoea) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหนองใน และทางการแพทย์สันนิษฐานว่า เป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดถุงน้ำของต่อมบาร์โธลิน
- รับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี เพื่อลดความเสี่ยงเป็นหูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งช่องคลอด โดยสามารถรับการฉีดวัคซีนนี้เพื่อป้องกันเชื้อเอชพีวีได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไปถึงอายุ 45 ปี
- ตรวจภายในสม่ำเสมอ หรือเป็นประจำทุกปี เพราะหากตรวจพบมะเร็งช่องคลอดตั้งแต่ระยะแรก ๆ ทำให้สามารถรักษาได้ง่ายกว่าและโอกาสหายมีมากกว่า
- หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้ารัดแน่น เพราะการเสียดสีระหว่างผิวหนังกับเสื้อผ้า อาจทำให้เกิดติ่งเนื้อบริเวณช่องคลอดได้