backup og meta

ต่อมลูกหมากหน้าที่ คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อระบบสืบพันธุ์

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 09/06/2023

    ต่อมลูกหมากหน้าที่ คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อระบบสืบพันธุ์

    ต่อมลูกหมาก (The prostate gland) เป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพศชาย ที่อยู่ลึกลงไปในกระดูกเชิงกราน ระหว่างองคชาตและกระเพาะปัสสาวะ โดยจะล้อมรอบท่อปัสสาวะอยู่ ต่อมลูกหมากหน้าที่ สำคัญ คือ ผลิตของเหลวที่หล่อเลี้ยงและปกป้องอสุจิ และในขณะที่ผู้ชายหลั่ง ต่อมลูกหมากจะบีบของเหลวเข้าไปในท่อปัสสาวะ และของเหลวนั้นจะถูกขับออกมานอกร่างกายในรูปแบบของน้ำอสุจิพร้อมกับตัวอสุจิ

    ต่อมลูกหมากคืออะไร

    ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะหนึ่งในระบบสืบพันธุ์เพศชาย เช่นเดียวกับองคชาต ถุงน้ำเชื้อ และลูกอัณฑะ มีรูปร่างคล้ายลูกเกาลัดหรือลูกหมาก กว้าง 4 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร หนา 2 เซนติเมตร และหนัก 30 กรัมโดยประมาณ ต่อมลูกหมากมีตำแหน่งอยู่ที่บริเวณปากทางกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอยู่ด้านหน้าของลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (ไส้ตรง) โดยจะหุ้มรอบท่อปัสสาวะซึ่งเป็นท่อที่ไหลผ่านศูนย์กลางของต่อมลูกหมาก จากกระเพาะปัสสาวะไปยังองคชาต และลำเลียงปัสสาวะไหลออกจากร่างกาย ทำให้เมื่อต่อมลูกหมากมีปัญหา อาจส่งผลต่อการไหลเวียนปัสสาวะได้เช่นกัน

    ต่อมลูกหมากหน้าที่ คืออะไร

    หน้าที่หลักของต่อมลูกหมาก คือ การผลิตของเหลวหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ โดยของเหลวที่ต่อมลูกหมากหลั่งออกมาจะประกอบไปด้วยสารประกอบต่าง ๆ เช่น แอนติเจนเฉพาะของต่อมลูกหมาก (PSA) เอนไซม์ สังกะสี กรดซิตริก ที่ช่วยให้ตัวอสุจิแข็งแรง สามารถเดินทางผ่านท่อปัสสาวะได้สะดวก มีชีวิตรอดเมื่อผ่านเข้าไปในช่องคลอด และสามารถเดินทางเข้าไปผสมกับไข่ที่ปลายท่อนำไข่ได้ ซึ่งจำเป็นอย่างมากในการสืบพันธุ์ โดยปริมาณน้ำอสุจิกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 50-65% จะผลิตมาจากถุงน้ำเชื้อ อีกประมาณ 20-30% จะผลิตจากต่อมลูกหมาก และอีกประมาณ 5% จะผลิตจากอัณฑะ

    ต่อมลูกหมากหน้าที่ อื่น ๆ อาจมีดังนี้

    • ช่วยปิดท่อปัสสาวะขณะหลั่ง ต่อมลูกหมากจะหดตัวขณะมีการหลั่ง ซึ่งจะช่วยปิดช่องเปิดระหว่างกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ ทำให้น้ำอสุจิไหลผ่านไปได้อย่างรวดเร็ว
    • ช่วยเผาผลาญฮอร์โมน ต่อมลูกหมากมีเอนไซม์ที่ช่วยเผาผลาญและแปลงฮอร์โมนเพศชายหรือฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ไปเป็นฮอร์โมนอีกรูปแบบหนึ่งที่ชื่อว่า ไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (DHT) ซึ่งมีบทบาทในพัฒนาการทางเพศชาย เช่น หนวดเคราบนใบหน้า เสียงทุ้มต่ำ

    ความเปลี่ยนแปลงของต่อมลูกหมากเมื่ออายุมากขึ้น

    ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้น จึงทำให้ความเสี่ยงในการเกิดปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หากต่อมลูกหมากที่ใหญ่ขึ้นไปบีบท่อปัสสาวะก็อาจทำให้มีปัญหาในการปัสสาวะ

    ทั้งนี้ ต่อมลูกหมากที่ขยายใหญ่มากขึ้นก็อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอย่างเนื้องอก การติดเชื้อ จนทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น

  • ถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในตอนกลางคืน
  • ไม่สามารถอั้นปัสสาวะได้ และต้องไปเข้าห้องทันทีที่ปวดปัสสาวะ
  • ปัสสาวะไหลน้อยลง รู้สึกแสบร้อนเมื่อถ่ายปัสสาวะ
  • เจ็บขณะหลั่งเมื่อมีเพศสัมพันธ์หรือช่วยตัวเอง
  • มีเลือดปนในปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ
  • ปัญหาเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในผู้ชายอายุ 30-40 ปีขึ้นไป หากพบว่ามีปัญหาดังที่กล่าวมา ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

    ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับต่อมลูกหมาก

    ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับต่อมลูกหมาก อาจมีดังนี้

    • โรคต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis) เป็นการอักเสบของต่อมลูกหมาก บางครั้งอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยทั่วไปจะรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะและยาบรรเทาปวด
    • โรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostate Hyperplasia หรือ BPH) มักพบในผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป ความเสี่ยงของโรคและอาการของโรคจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โดยทั่วไปจะรักษาด้วยการติดตามอาการ การใช้ยา และการผ่าตัด
    • โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) เป็นโรคมะเร็งชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ชาย เกิดขึ้นเมื่อเซลล์ในต่อมลูกหมากพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็ง รักษาได้ด้วยการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด การผ่าตัด การฉายแสง การบำบัดด้วยฮอร์โมน และการทำเคมีบำบัด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 09/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา