backup og meta

ทำหมันแล้วท้องได้ไหม และการทำหมันเป็นอย่างไร

ทำหมันแล้วท้องได้ไหม และการทำหมันเป็นอย่างไร

ทำหมันแล้วท้องได้ไหม อาจเป็นคำถามที่ผู้ชายหลายคนสงสัย โดยปกติแล้ว การผ่าตัดทำหมันเป็นวิธีการป้องกันการตั้งครรภ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ทั้งนี้แม้จะทำหมันแล้วก็อาจยังมีโอกาสเล็กน้อยที่จะท้อง เพียงแต่เป็นไปได้ยาก อัตราการทำหมันแล้วท้องเกิดขึ้นได้เพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ การตั้งครรภ์หลังจากทำหมัน อาจเกิดได้จากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการทำหมัน มีเพศสัมพันธ์หลังทำหมันทันทีซึ่งร่างกายของฝ่ายชายอาจมีสเปิร์มหลงเหลืออยู่ในท่ออสุจิ หรือสาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้น้อยมาก

[embed-health-tool-heart-rate]

การทำหมันชาย

การทำหมันชาย หมายถึง การคุมกำเนิดถาวรในผู้ชาย โดยการตัดหรือผูกหลอดนำอสุจิ เพื่อไม่ให้อสุจิซึ่งผลิตใหม่จากอัณฑะ ถูกลำเลียงไปยังถุงน้ำเชื้อ ผ่านหลอดนำอสุจิ แล้วหลั่งออกพร้อมน้ำเชื้อ ยามมีเพศสัมพันธ์

การทำหมันชาย ทำได้ 2 แบบ คือแบบดั้งเดิมและแบบเจาะ โดยแบบดั้งเดิมคือการใช้มีดผ่าถุงอัณฑะแล้วผูกหรือตัดหลอดนำอสุจิ จากนั้นเย็บปิดแผล ส่วนแบบเจาะหมายถึงการใช้เครื่องมือเฉพาะเจาะเข้าไปในถุงอัณฑะ เพื่อผูกหรือตัดหลอดนำอสุจิ การทำหมันชายเป็นการผ่าตัดที่ไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที และไม่ทำให้สมรรถภาพทางเพศของผู้ชายลดลง

ทำหมันชายแล้วทำผู้อื่นท้องได้ไหม

การทำหมันชาย จะไม่ได้ผลในทันที เนื่องจากหลังจากทำหมันแล้ว อสุจิมักยังคงหลงเหลืออยู่ในหลอดอสุจิ และร่างกายจำเป็นต้องหลั่งน้ำอสุจิราว 15-20 ครั้ง เพื่อให้อสุจิหมดไป ระหว่างนั้นหากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันอาจทำให้ฝ่ายหญิงท้องได้

โดยปกติ คุณหมอจะนัดผู้ชายซึ่งทำหมันแล้วตรวจจำนวนอสุจิในน้ำอสุจิหลังจากทำหมันไปแล้ว 1-3 เดือน หากไม่พบอสุจิในตัวอย่างน้ำอสุจิเลย แสดงว่าการทำหมันสำเร็จ และผู้ชายซึ่งทำหมันแล้วแทบจะไม่มีโอกาสทำให้ผู้หญิงท้องได้เลย

อย่างไรก็ตาม สำหรับชายซึ่งทำหมันแล้ว แต่ยังพบอสุจิในตัวอย่างน้ำอสุจิ คุณหมอจะนัดให้เข้ามาตรวจอีกครั้ง หรือในบางกรณี คุณหมออาจขอตรวจเพิ่ม หากสงสัยว่าหลอดนำอสุจิของผู้ชายซึ่งทำหมันแล้วกลับมาต่อกันเอง ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้ยากมาก

การทำหมันหญิง

การทำหมันหญิง หมายถึง การคุมกำเนิดถาวรในผู้หญิง โดยการตัดหรือผูกท่อนำไข่ เพื่อไม่ให้ไข่ของผู้หญิงไปเคลื่อนตัวไปในโพรงมดลูก แล้วเกิดการปฏิสนธิกับอสุจิซึ่งอาจทำให้ตั้งท้องได้

การทำหมันหญิง ทำได้ 2 แบบ คือ การทำหมันหลังคลอดหรือทำหมันเปียก และการทำหมันในช่วงปกติหรือทำหมันแห้ง โดยการทำหมันทั้ง 2 แบบมีขั้นตอนไม่ต่างกัน คือคุณหมอจะวางยาสลบ แล้วผ่าท้องคนไข้บริเวณเหนือหัวเหน่า จากนั้นสอดเครื่องมือเข้าไปผูกท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง หรือตัดท่อออกบางส่วน ก่อนเย็บปิดแผล

ข้อแตกต่างระหว่างการทำหมันทั้ง 2 แบบ คือ ในการทำหมันเปียก คุณหมอจะหาท่อนำไข่เจอง่ายกว่า เนื่องจากมดลูกของผู้หญิงหลังคลอดจะมีขนาดใหญ่กว่าปกติ และลอยอยู่เหนืออุ้งเชิงกราน

ทำหมันแล้วท้องได้ไหม สำหรับผู้หญิง

การทำหมันในผู้หญิง บางครั้งอาจได้ผลในทันที แต่โดยทั่วไป คุณหมอมักแนะนำให้คนไข้มีเพศสัมพันธ์โดยป้องกันทุกคร้งไปจนกว่าจะถึงรอบเดือนครั้งถัดไป เพราะการมีเพศสัมพันธ์ก่อนหน้านั้นอาจทำให้ท้องได้

อย่างไรก็ตาม ท่อนำไข่ของผู้หญิงบางคนอาจเชื่อมต่อกันได้เองหลังทำหมันแล้ว ทำให้กลับไปตั้งครรภ์ได้ตามปกติ ซึ่งกรณีแบบนี้เกิดขึ้นได้น้อยมาก

ข้อมูลของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ในผู้หญิงทำหมันแล้ว 1,000 คน 1 ถึง 7 คนมีโอกาสท้องภายในปีแรกหลังจากการทำหมัน เนื่องจากท่อนำไข่ต่อกันเอง

นอกจากนี้ หากตั้งครรภ์หลังจากทำหมัน อาจมีโอกาสท้องนอกมดลูกมากกว่าปกติ

ทั้งนี้ หากกังวลว่าทำหมันแล้วท้องได้ไหม อาจใช้วิธีเข้ารับการตรวจสอบหมันเป็นประจำทุก ๆ 1 ปี

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

การทำหมันชาย. https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=185. Accessed February 1, 2022

Vasectomy (male sterilisation). https://www.nhs.uk/conditions/contraception/vasectomy-male-sterilisation/. Accessed February 1, 2022

Vasectomy. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/vasectomy/about/pac-20384580. Accessed February 1, 2022

Female sterilisation. https://www.nhs.uk/conditions/contraception/female-sterilisation/. Accessed February 1, 2022

ความรู้เรื่องการทำหมันสตรี. http://www.rtcog.or.th/home/wp-content/uploads/2017/05/IC-003_%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5.pdf. Accessed January 31, 2022. Accessed February 1, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/09/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เวียนหัว คลื่นไส้ พะอืดพะอม สัญญาณเตือนของการตั้งครรภ์

การทำหมันหญิง กับข้อเท็จจริงที่ทุกคนควรรู้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 14/09/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา