backup og meta

แบ่งปัน

หรือ คัดลอกลิงก์

นมเล็ก ผิดปกติไหม เพิ่มขนาดเต้านมได้หรือไม่

นมเล็ก ผิดปกติไหม เพิ่มขนาดเต้านมได้หรือไม่

นมเล็ก หมายถึง ลักษณะหน้าอกของเพศหญิงที่มีลักษณะแบนราบหรือเต้านมไม่ยื่นนูนออกมาเนื่องจากมีปริมาณเนื้อเยื่อไขมันน้อย ซึ่งมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากพันธุกรรม อายุที่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์ ความผิดปกติของระดับฮอร์โมนเพศ รวมถึงปัญหาสุขภาพ ทั้งนี้ ผู้หญิงที่ไม่พอใจกับขนาดเต้านม หรือคิดว่าเต้านมของตัวเองมีขนาดเล็กเกินไป อาจรู้สึกไม่มั่นใจ ใส่เสื้อผ้าไม่สวย อาจแก้ไขได้ทั้งโดยการศัลยกรรมผ่าตัดเสริมหน้าอก หรือปรับพฤติกรรมบางอย่างซึ่งอาจช่วยให้หน้าอกใหญ่และกระชับขึ้น เช่น การออกกำลังกาย การเพิ่มน้ำหนัก การเลือกรับประทานอาหาร

[embed-health-tool-ovulation]

นมเล็กมีสาเหตุมาจากอะไร

นมเล็ก เป็นลักษณะทางร่างกายซึ่งแตกต่างกันไปในผู้หญิงแต่ละคน เช่นเดียวกับความสูงหรือความเข้ม-อ่อนของสีผิว โดยมีปัจจัยหลัก ๆ มาจากพันธุกรรม และการลดลงของฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน (Estrogen) หลังคลอดบุตร

นอกจากนี้ นมเล็กยังเป็นอาการเนื่องจากปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น

  • ภาวะเต้านมเล็กมากผิดปกติหรือไมโครมาสเทีย (Micromastia) เป็นภาวะที่เต้านมไม่มีพัฒนาการเมื่อผู้หญิงเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งอาจเกิดกับเต้านมข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ ทั้งนี้ ไมโครมาสเทียมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพตั้งแต่กำเนิดบางอย่าง เช่น โปแลนด์ ซินโดรม (Poland Syndrome) หรือภาวะที่กล้ามเนื้อของร่างกายซีกใดซีกหนึ่งพัฒนาช้า หรือไม่มีกล้ามเนื้อ โดยมักเกิดขึ้นบริเวณกล้ามเนื้อหน้าอก
  • ภาวะไร้เต้านม (Amazia) เป็นภาวะที่เนื้อเต้านมหายไป แต่หัวนมและวงรอบหัวนมยังพบได้ตามปกติ โดยเกิดได้กับเต้านมทั้ง 2 ข้างหรือเพียงใดข้างหนึ่ง โดยภาวะไร้เต้านมเป็นได้ทั้งตั้งแต่กำเนิด หรืออาจเกิดขึ้นในภายหลังเนื่องจากการบาดเจ็บอย่างรุนแรงบริเวณทรวงอก หรือการผ่าตัดหรือการฉายรังสีบริเวณทรวงอกในช่วงวัยเด็ก

นมเล็ก และวิธีเพิ่มขนาด

สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็ก อาจรู้สึกไม่พอใจหรือไม่มั่นใจ อาจเพิ่มขนาดหน้าอกได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การผ่าตัดเสริมหน้าอก มีขั้นตอนคร่าว ๆ ในการผ่าตัด คือ คุณหมอจะให้ดมยาสลบ จากนั้นจึงใช้มีดผ่าตัดค่อย ๆ กรีดผิวหนังบริเวณใต้ราวนม ด้านข้างรักแร้ หรือวงรอบหัวนม แล้วจึงสอดถุงซิลิโคนหรือถุงน้ำเกลือเข้าไปแล้วเย็บปิดแผล โดยปกติจะไม่มีการตัดท่อน้ำนมระหว่างผ่าตัดเสริมขนาดหน้าอก ดังนั้น ผู้ที่รับการผ่าตัดจึงให้นมบุตรได้ตามปกติ ทั้งนี้ ควรเข้ารับการผ่าตัดกับสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพ และมีข้อควรระวังคือ การเสริมหน้าอกอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เรียกว่า เต้านมเทียมกับมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Breast Implant-associated Anaplastic Large Cell Lymphoma) โดยอาการที่เจอได้แก่ เต้านมเปลี่ยนรูปร่าง เต้านมบวม หรือมีก้อนบวมบริเวณเต้านม
  • การออกกำลังกาย ด้วยการวิดพื้น วิดพื้นกับผนัง หรือเวท เทรนนิ่งด้วยท่าเชส เพรส เอ็กซ์เทนชันส์ (Chest Press Extensions) ซึ่งคล้ายกับการวิดพื้นในท่านอนหงาย เป็นการออกกำลังที่เน้นท่าทางบริเวณหน้าอกด้วยการเพิ่มกล้ามเนื้อเพคทอราล (Pectoral Muscles) ที่อยู่ข้างใต้หน้าอกจึงอาจมีส่วนช่วยให้นมเล็กดูใหญ่และยกกระชับขึ้น
  • การเพิ่มน้ำหนัก เต้านมประกอบด้วยเนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น เนื้อเยื่อไขมัน เนื้อเยื่อต่อมน้ำนม เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน โดยขนาดหน้าอกจะขึ้นอยู่กับเนื้อเยื่อไขมันเป็นหลัก ซึ่งจะมีปริมาณมากขึ้นเมื่อน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือมีไขมันสะสมบริเวณหน้าอกมากขึ้น

นอกจากวิธีการข้างต้น ยังมีวิธีการอื่น ๆ ที่เชื่อกันว่าช่วยเพิ่มขนาดเต้านมได้ ดังนี้

  • การรับประทานอาหารเสริมที่มีสารไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) หรือสารธรรมชาติซึ่งมีสูตรเคมีคล้ายกับฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน เป็นส่วนประกอบ
  • การรับประทานอาหารบางชนิด อย่างนมและผลิตภัณฑ์จากนม
  • การทาครีมเสริมขนาดเต้านม
  • การนวดเต้านมเพื่อให้เต้านมใหญ่ขึ้น
  • การใช้เครื่องปั๊มเสริมเต้านมเพื่อเพิ่มขนาด

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรืองานวิจัยที่มีข้อมูลรองรับจากแหล่งที่น่าเชื่อถือถึงวิธีการข้างต้นว่าช่วยให้นมเล็กมีขนาดใหญ่ขึ้นได้จริง จึงควรระมัดระวังและอาจปรึกษาคุณหมอก่อนเลือกวิธีการใดวิธีการหนึ่งในการเพิ่มขนาดเต้านม เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Breast augmentation. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/breast-augmentation/about/pac-20393178. Accessed September 13, 2022

Women’s health. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/womens-health/expert-answers/natural-breast-enhancement/faq-20057834. Accessed September 13, 2022

Small breasts: why you have them and what to do about it. https://www.harleymedical.co.uk/blog/small-breasts. Accessed September 13, 2022

Unilateral Amazia. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4522254/#:~:text=Amazia%20refers%20to%20a%20condition,may%20be%20unilateral%20or%20bilateral. Accessed September 13, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

04/12/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล

avatar

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 04/12/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา