น้ำอสุจิ หรือน้ำเชื้อ เป็นของเหลวสีขาวขุ่น ซึ่งหลั่งออกมาเมื่อผู้ชายถึงจุดสุดยอด จากการสำเร็จความใคร่หรือการร่วมเพศ น้ำอสุจิผลิตจากอัณฑะซึ่งเป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพศชาย มีส่วนประกอบหลักคือตัวอสุจิและของเหลวซึ่งอุดมด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ ทั้งนี้ การหลั่งน้ำอสุจิในช่องคลอด อาจทำให้ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ได้ หากตัวอสุจิมีความแข็งแรง สมบูรณ์ และเคลื่อนไหวได้เร็วมากพอ ไปผสมกับไข่ของฝ่ายหญิง
ส่วนประกอบของน้ำอสุจิ
ส่วนประกอบของน้ำอสุจิ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- ตัวอสุจิ เป็นเซลล์สืบพันธุ์ของเพศชาย ลักษณะทางกายภาพประกอบไปด้วยส่วนหัวซึ่งมีโครมาตินซึ่งเป็นสารพันธุกรรมสร้างโครโมโซม ส่วนตัวมีลักษณะยาวรีอันเป็นโครงสร้างพิเศษช่วยในการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว และยังเป็นแหล่งสะสมพลังงาน และส่วนหาง มีลักษณะเป็นเส้นยาวคล้ายเส้นผมช่วยให้อสุจิเคลื่อนตัวไปข้างหน้า โดยตัวอสุจิคิดเป็นเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำอสุจิทั้งหมด ตัวอสุจิผลิตจากอัณฑะ แล้วถูกส่งไปที่หลอดเก็บอสุจิ ซึ่งมีสารคัดหลั่ง อันประกอบด้วยธาตุโซเดียมและโพแทสเซียม หล่อเลี้ยงให้ตัวอสุจิเจริญเติบโตพร้อมสืบพันธุ์ หลังจากนั้น ตัวอสุจิจะถูกส่งจากหลอดเก็บอสุจิไปยังหลอดนำอสุจิ ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อยาว โดยตัวอสุจิจะถูกเก็บไว้ที่ส่วนปลายของหลอดนำอสุจิ พร้อมทั้งได้รับน้ำตาลฟรักโทสเป็นพลังงาน ระหว่างรอให้หลั่งน้ำอสุจิหรือน้ำเชื้อผ่านท่อปัสสาวะและองคชาต เมื่อถึงจุดสุดยอด
- ของเหลว แบ่งเป็นของเหลวที่ผลิตจากต่อมลูกหมากคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของน้ำอสุจิ และของเหลวจากถุงน้ำเชื้อคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งของเหลวเหล่านี้ประกอบด้วยสารอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ อาทิ น้ำตาลฟรักโทส กรดซิตริก แร่ฟอสฟอรัส สังกะสี โพแทสเซียม
การตั้งครรภ์
การหลั่งน้ำอสุจิในช่องคลอดทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ได้ ขึ้นอยู่กับสุขภาพของตัวอสุจิซึ่งดูได้จากปริมาณอสุจิที่ต้องมากพอ ความสามารถในการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิที่ต้องเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว และโครงสร้างของตัวอสุจิที่ต้องสมบูรณ์ ประกอบกับร่างกายของผู้หญิงต้องอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมคือมีไข่ตกพร้อมที่จะให้อสุจิเข้าไปผสมพันธุ์
โดยปกติ ปริมาณน้ำอสุจิของผู้ชาย ต่อการหลั่ง 1 ครั้ง จะอยู่ประมาณ 2-5 มิลลิลิตร และมีจำนวนตัวอสุจิราว ๆ 100 ล้านตัว โดยตัวอสุจิที่แข็งแรงที่สุด 1 ตัวเท่านั้นที่จะว่ายไปถึงไข่ หรือเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิง และทำการปฏิสนธิจนเกิดการตั้งครรภ์
หากผู้ชายหลั่งน้ำอสุจิในช่องคลอดน้อยกว่า 2 มิลลิลิตร อาจไม่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ คุณภาพและความแข็งแรงของตัวอสุจิยังเป็นปัจจัยหนึ่งของการตั้งครรภ์ อ้างอิงจากเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก ตัวอสุจิในน้ำเชื้อที่ดีควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
- มีจำนวน 15 ล้านตัว ต่อปริมาณน้ำอสุจิ 1 มิลลิลิตร
- มีจำนวนอย่างน้อย 39 ล้านตัว ต่อการหลั่งน้ำอสุจิ 1 ครั้ง
- มีตัวที่เคลื่อนไหวมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของตัวอสุจิทั้งหมด
- มีรูปร่างและโครงสร้างที่สมบูรณ์ คือ หัวทรงไข่ หางยาวหัวต้องไม่ใหญ่เกินไป หางต้องไม่สั้นเกินไป
การดูแลร่างกายเพื่อให้ตัวอสุจิแข็งแรง
การดูแลตัวเองอย่างถูกต้องจะช่วยให้ตัวอสุจิแข็งแรงและมีจำนวนมากพอพร้อมที่จะสืบพันธุ์อย่างเหมาะสม สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
- ควบคุมน้ำหนัก หากอ้วนมากเกินไป หรือมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25 อาจทำให้จำนวนตัวอสุจิลดลง และเคลื่อนไหวได้ช้าลง จึงควรลดน้ำหนักและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
[embed-health-tool-bmi]
- เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม เช่น ผักหรือผลไม้ เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีส่วนช่วยรักษาสุขภาพของตัวอสุจิให้แข็งแรงและเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว
- ออกกำลังกาย การออกกำลังกายแบบปานกลางหรือที่มีความเข้มข้นสูงมากกว่า 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อาจทำให้คุณภาพของน้ำอสุจิดีขึ้นและมีปริมาณมากขึ้นกว่าผู้ที่ออกกำลังกายน้อย หรือไม่ออกกำลังกายเลย นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ระบุว่า ผู้ที่ออกกำลังกายโดยการยกน้ำหนัก หรือออกกำลังกายกลางแจ้งมากกว่า 7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีปริมาณอสุจิมากกว่าผู้ที่ออกกำลังกายเพียง 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
- ป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรค เช่น หนองใน สามารถทำให้หลอดเก็บอสุจิอักเสบได้ และหากไม่รักษา อาจทำให้เป็นหมันได้ เพราะหลอดเก็บอสุจิเป็นอวัยวะซึ่งมีหน้าที่ฟูมฟักให้ตัวอสุจิเจริญเติบโตพร้อมสืบพันธุ์
- จัดการความเครียด ความเครียดทำให้ฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ลดลง อันมีผลให้อัณฑะผลิตตัวอสุจิน้อยลงด้วย
- หลีกเลี่ยงความร้อน เช่น การอาบน้ำร้อน การใส่กางเกงรัดแน่นบริเวณถุงอัณฑะ เพราะความร้อนและความอับชื้นอาจทำให้ร่างกายผลิตตัวอสุจิลดลง
- งดสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่อาจเพิ่มสารอนุมูลอิสระในน้ำอสุจิ และอาจทำลายคุณภาพของอสุจิได้ จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร European Urology พ.ศ. 2559 ชี้ว่าการสูบบุหรี่อาจมีผลกระทบทำให้จำนวนตัวอสุจิลดลง รวมถึงอัตราการเคลื่อนที่และความสมบูรณ์ตัวอสุจิที่ลดลงเช่นกัน