backup og meta

ประจำเดือนคืออะไร สำคัญอย่างไร และการดูแลตัวเองเพื่อให้ประจำเดือนมาปกติ

ประจำเดือนคืออะไร สำคัญอย่างไร และการดูแลตัวเองเพื่อให้ประจำเดือนมาปกติ

หลายคนอาจมีข้อสงสัยที่ว่า ประจำเดือนคืออะไร ประจำเดือนคือเลือดที่ไหลจากช่องคลอดเป็นประจำทุกเดือนเมื่อไม่มีการตั้งครรภ์ โดยปกติมักจะมาทุก ๆ 28 วัน และมานานไม่เกิน 7 วัน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของผู้หญิงทุกคน อย่างไรก็ตาม หากสังเกตพบอาการผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนขาด ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดและทำการรักษาในทันที

[embed-health-tool-ovulation]

ประจำเดือนคืออะไร

ประจำเดือนคือ เลือดและเยื่อบุโพรงมดลูกที่ไหลออกทางช่องคลอดเป็นประจำทุกเดือนเมื่อไม่มีการตั้งครรภ์ โดยปกติแล้วร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นให้รังไข่ปล่อยไข่ออกมา รวมถึงทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้นเพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนและเกิดเป็นการตั้งครรภ์ แต่หากไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ระดับฮอร์โมนเพศจะลดลง และส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกและไหลออกมาเป็นประจำเดือน ซึ่งมักจะมาทุก ๆ 28 วัน แต่บางคนอาจมาช้าหรือเร็วกว่านั้นได้เช่นกัน

สัญญาณเตือนก่อนมีประจำเดือนคืออะไร

สัญญาณเตือนก่อนมีประจำเดือน สามารถสังเกตได้ดังนี้

  • อาการปวดท้องเกร็ง
  • อาการปวดหัว
  • ท้องเสียหรือท้องผูก
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
  • คัดเต้านมและเจ็บเต้านม
  • รู้สึกเบื่ออาหารหรือมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
  • นอนหลับยาก
  • ปวดเมื่อยตัว
  • เหนื่อยล้าง่ายและอ่อนเพลีย

หากมีอาการเหล่านี้ ควรดูแลตัวเองด้วยการใช้ถุงน้ำร้อนประคบบริเวณที่ปวดท้องเกร็ง รับประทานยาแก้ปวด พักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียด และดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการก่อนประจำเดือนมาหรือในระหว่างที่เป็นประจำเดือน

ประจำเดือนผิดปกติที่ควรเข้าพบคุณหมอ

ปกติแล้วประจำเดือนมักมาสม่ำเสมอทุกเดือน โดยมีลักษณะเป็นสีชมพูหรือสีน้ำตาลในช่วงวันแรกและอาจมีสีแดงในช่วงวันถัดไป และเมื่อเข้าช่วงใกล้วันหมดประจำเดือนอาจมีสีน้ำตาลหรือดำ

แต่หากสังเกตว่าประจำเดือนมีสีอื่นนอกเหนือจากสีชมพูหรือสีแดง เช่น สีเทา สีส้ม สีดำ สีน้ำตาล ตั้งแต่วันแรกที่เป็นประจำเดือน หรือมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ควรเข้าพบคุณหมอ

  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ และมาแบบกะปริบกะปรอย
  • ประจำเดือนมานานกว่า 7 วัน
  • ประจำเดือนมามาก จนจำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง
  • ประจำเดือนขาดนานกว่า 3 เดือน โดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์
  • สีตกขาวผิดปกติและช่องคลอดมีกลิ่นไม่พึงประสงค์
  • ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง
  • มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียนระหว่างเป็นประจำเดือน
  • มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบากหลังประจำเดือนหมด
  • ประจำเดือนเป็นลิ่มเลือดหรือเป็นก้อนขนาดใหญ่
  • รอบเดือนเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน และมีรอบเดือนระยะสั้นกว่า 24 วัน หรือนานกว่า 38 วัน
  • เข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน แต่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด

ควรเข้าพบคุณหมอทันทีหากสังเกตพบอาการดังกล่าว เพื่อรับการตรวจคัดกรองโรคเพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพ เช่น การติดเชื้อในช่องคลอด เนื้องอกในช่องคลอด ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ โรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ มะเร็งมดลูก มะเร็งปากมดลูก การตั้งครรภ์นอกมดลูก และการแท้งบุตร

วิธีดูแลตัวเองที่อาจช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ

วิธีดูแลตัวเองที่อาจช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ อาจทำได้ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและช่วยรักษาความสมดุลของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือน
  • ลดความเครียด เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ดูหนัง เล่นเกม ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ เพราะความเครียดอาจส่งผลให้ประจำเดือนมาช้า
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาความสมดุลของฮอร์โมน ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรออกกำลังกายหนักเกินไป หรือใช้แรงมากเกินไป เพราะอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดความเครียดและเหนื่อยล้า ที่อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือประจำเดือนขาดได้
  • รับประทานยาคุมกำเนิด ในรูปแบบ 21 หรือ 28 เม็ด ที่ประกอบไปด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินเพื่อช่วยให้ฮอร์โมนสมดุลและอาจกระตุ้นให้ประจำเดือนมาปกติ โดยควรรับประทานวันแรกที่ประจำเดือนมา อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยา
  • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจคัดกรองโรคที่ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ภาวะไทรอยด์ต่ำ โรคมะเร็งปากมดลูกหรือมะเร็งมดลูก และเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Amenorrhea. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/amenorrhea/symptoms-causes/syc-20369299. Accessed November 02, 2022

How can I tell when I’m ovulating?. https://www.nhs.uk/common-health-questions/womens-health/how-can-i-tell-when-i-am-ovulating/. Accessed November 02, 2022

Premenstrual syndrome (PMS). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/premenstrual-syndrome/symptoms-causes/syc-20376780. Accessed November 02, 2022

Overview-Periods. https://www.nhs.uk/conditions/periods/. Accessed November 02, 2022

Menstrual cycle: What’s normal, what’s not. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/womens-health/in-depth/menstrual-cycle/art-20047186. Accessed November 02, 2022

Normal Period. https://www.webmd.com/women/normal-period. Accessed November 02, 2022

What to Know About the Color of Period Blood. https://www.webmd.com/women/what-to-know-color-period-blood. Accessed November 02, 2022

Abnormal Menstruation (Periods). https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/14633-abnormal-menstruation-periods. Accessed November 02, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

03/01/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ประจำเดือนเป็นสีดำ ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่

ตกขาวก่อนเป็นประจำเดือน อันตรายหรือไม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 03/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา