backup og meta

ประจำเดือนไม่มา กินยาอะไรดี และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ประจำเดือนไม่มา กินยาอะไรดี และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ประจำเดือนไม่มา หมายถึง ภาวะขาดประจำเดือนหลังจากครบกำหนดทุก ๆ 21-35 วัน ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์ การหยุดใช้ยาคุมกำเนิด ความเครียด หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก หากถามว่า ประจำเดือนไม่มา กินยาอะไรดี คำตอบของคุณหมอหรือเภสัชกรมักเป็นยาเมดรอกซีโปรเจสเตอโรน (Medroxyprogesterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสังเคราะห์ มีคุณสมบัติปรับการทำงานของฮอร์โมนภายในร่างกายที่อาจช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติได้

[embed-health-tool-ovulation]

ประจำเดือนไม่มามีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง

ประจำเดือนไม่มา เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์หรือวัยทอง รวมถึงจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ยาคุมกำเนิด หลังหยุดใช้ยาคุมกำเนิด ผู้หญิงบางคนอาจพบว่าประจำเดือนไม่มา มากะปริบกะปรอย มาไม่สม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ความผิดปกตินี้จะเกิดขึ้นเพียง 1-3 เดือนเท่านั้น และหากเกิดขึ้นนานกว่านั้นควรไปพบคุณหมอ
  • ความเครียด ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมา ซึ่งออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตฮอร์โมน และทำให้ประจำเดือนไม่มา ทั้งนี้ หากความเครียดลดลงหรือหาวิธีกำจัดความเครียดได้ ประจำเดือนอาจกลับมาตามปกติ
  • การออกกำลังกายอย่างหนัก อาจทำให้ร่างกายหลั่งคอร์ติซอลมากกว่าปกติและทำให้ประจำเดือนขาดได้เช่นเดียวกับความเครียด
  • อาการป่วย เช่น ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ซึ่งทำให้รังไข่ทำงานผิดปกติ จนฮอร์โมนในร่างกายขาดความสมดุล และทำให้ประจำเดือนไม่มาหรือมาน้อยกว่าปกติ เนื้องอกต่อมใต้สมอง (Pituitary Adenoma) ภาวะฮอร์โมนโปรแลคตินสูง (Hyperprolactinemia ) ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroidism)
  • ยาบางชนิด เช่น ยาต้านอาการทางจิต ยาต้านซึมเศร้า ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาแก้แพ้ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างประจำเดือนไม่มาเนื่องจากยาเหล่านี้มักมีส่วนประกอบที่ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงจนขาดความสมดุล
  • ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน หากมีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือเป็นโรคอ้วน ร่างกายของผู้หญิงจะผลิตฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน (Estrogen) มากกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้ประจำเดือนไม่มาหรือประจำเดือนมาไม่ปกติ

ประจำเดือนไม่มา กินยาอะไรดี

หากประจำเดือนไม่มา โดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์หรือวัยทอง คุณหมออาจจ่ายยากลุ่มโปรเจสเตอโรนให้รับประทาน ซึ่งจะช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติ เนื่องจากยาชนิดนี้มีคุณสมบัติปรับการทำงานของฮอร์โมนภายในร่างกาย

โดยทั่วไป คุณหมอจะจ่ายยากลุ่มโปรเจสเตอโรนให้ผู้ที่ประจำเดือนไม่มารับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 7-14 วัน ขึ้นกับชนิดของยา

เมื่อรับประทานยานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง ดังนี้

  • เจ็บเต้านมหรือมีของเหลวไหลออกมา
  • สิวขึ้น
  • ขนบนใบหน้าเพิ่มขึ้น
  • ผมร่วง
  • ง่วงซึม
  • น้ำหนักเพิ่มหรือลด
  • ปวดท้อง

ทั้งนี้ หากรับประทานยากลุ่มโปรเจสเตอโรนขณะประจำเดือนมาตามปกติหรือมามาก จะทำให้ประจำเดือนมาน้อยลง เนื่องจากมีฤทธิ์ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง

อย่างไรก็ตาม ในการรักษาอาการประจำเดือนไม่มา คุณหมออาจจ่ายยาตัวอื่นในกลุ่มยา Progesteroneเพื่อรักษาอาการประจำเดือนไม่มาได้เช่น Duphaston, Primolut-N

ประจำเดือนไม่มา ดูแลตัวเองอย่างไร

เมื่อประจำเดือนไม่มา โดยเลยระยะเวลาตามกำหนดไปแล้ว 7 วัน อาจเลือกตรวจครรภ์ หากผลตรวจระบุว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ ควรไปพบคุณหมอ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาตามสาเหตุ หรือเลือกดูแลตัวเองเบื้องต้นตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หยุดรับประทานยาคุมกำเนิดเมื่อหมดแผง เพื่อให้เกิดการตกไข่ที่ทำให้ประจำเดือนมาปกติในรอบเดือนถัดไป หรืออาจต้องรอประมาณ 2-3 เดือนเพื่อให้รอบเดือนกลับมาตามปกติ
  • หาวิธีกำจัดความเครียด ด้วยการทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายและชื่นชอบ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ถ่ายรูป ออกไปเที่ยวข้างนอก
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหักโหม
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม เพราะอาจช่วยให้ระดับฮอร์โมนสมดุล และมีผลให้ประจำเดือนมาตามปกติได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Medroxyprogesterone. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682470.html#:~:text=Medroxyprogesterone%20is%20also%20used%20to,menopause%20(change%20of%20life). Accessed November 4, 2022

Medroxyprogesterone (Oral Route). https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/medroxyprogesterone-oral-route/precautions/drg-20146771?p=1. Accessed November 4, 2022

Why Is My Period So Random?. https://www.webmd.com/women/why-is-my-period-so-random. Accessed November 4, 2022

Missed or Irregular Periods. https://www.northshore.org/healthresources/encyclopedia/encyclopedia.aspx?DocumentHwid=mispd. Accessed November 4, 2022

Stopped or missed periods. https://www.nhs.uk/conditions/stopped-or-missed-periods/. Accessed November 4, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

18/01/2024

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ประจำเดือนมาไม่ตรง เกิดจากสาเหตุใด

ประจำเดือนคืออะไร สำคัญอย่างไร และการดูแลตัวเองเพื่อให้ประจำเดือนมาปกติ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 18/01/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา