ประจําเดือนขาด เป็นภาวะของประจำเดือนมาไม่ปกติตามรอบเดือน ซึ่งบางคนอาจประจำเดือนขาดนานกว่า 1 เดือนขึ้นไป ที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การตั้งครรภ์ กินยาคุมกำเนิด ดังนั้น หากมีความกังวลใจควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนขาดและรักษาในทันที
[embed-health-tool-ovulation]
ประจําเดือนขาด มีสาเหตุจากอะไร
ประจําเดือนขาด ส่วนใหญ่อาจเกิดจากการตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัวที่มีสาเหตุมาจากมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกัน เพราะการตั้งครรภ์จะทำให้ร่างกายหยุดกระบวนการตกไข่ส่งผลให้ประจำเดือนขาดและจำกลับมามีประจำเดือนอีกครั้งหลังคลอดประมาณ 6-24 สัปดาห์ นอกจากนี้ ประจำเดือนขาดยังอาจเกิดปัจจัยเสี่ยง ดังต่อไปนี้
- ยาคุมกำเนิด การใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนกลุ่มเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เช่น ยาคุมแบบรับประทานรายเดือน ยาคุมฉุกเฉิน ยาคุมแบบแผ่นแปะผิวหนัง อาจทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางส่งผลให้ตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวได้ และอาจชะลอการตกไข่ที่ทำให้ประจำเดือนขาดด้วยเช่นกัน
- ความเครียด อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ที่อยู่บริเวณสมองส่วนหน้า ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการตกไข่ นำไปสู่การชะลอการตกไข่ ที่ทำให้ประจำเดือนมาช้ากว่าวันที่กำหนดหรืออาจส่งผลให้ประจำเดือนขาดในรอบเดือนนั้น
- การออกกำลังกายมากเกินไป อาจทำให้ร่างกายเกิดความเครียด และส่งผลกระทบต่อกระบวนการตกไข่ ที่อาจทำให้ประจำเดือนขาดหรือมาช้ากว่าปกติ
- น้ำหนักตัว การมีน้ำหนักมากหรือน้อยเกินไป อาจทำให้ร่างกายมีฮอร์โมนไม่สมดุลและหยุดผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนที่จำเป็นต่อการตกไข่ ส่งผลให้รอบเดือนนั้นประจำเดือนไม่มา
- กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ อาจส่งผลให้ฮอร์โมนแปรปรวน และรบกวนการตกไข่ จึงส่งผลให้ประจำเดือนขาด
- วัยหมดประจำเดือน อาจส่งผลให้ระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้การตกไข่น้อยลง นำไปสู่ประจำเดือนขาดหรืออาจหยุดลงโดยสมบูรณ์ ที่พบได้มากในผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป
วิธีรักษาอาการประจำเดือนขาด
วิธีรักษาอาการประจำเดือนขาด อาจทำได้ดังนี้
- หยุดรับประทานยาคุมกำเนิดรายเดือนเมื่อรับประทานยาคุมแผงเดิมหมด สำหรับยาคุมฉุกเฉินอาจจำเป็นต้องรอประจำเดือนในรอบเดือนถัดไป หากประจำเดือนขาดนานกว่า 1 เดือน ควรตรวจครรภ์ด้วยตัวเองหรือเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัย นอกจากนี้ผู้ที่ใชยาคุมด้วยวิธีอื่น ๆ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอในการถอดอุปกรณ์คุมกำเนิดหรือเลิกใช้การคุมกำเนิด เพื่อช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติ
- ผ่อนคลายความเครียด เพื่อช่วยให้ร่างกายปรับฮอร์โมนให้สมดุลและช่วยให้เกิดกระบวนการตกไข่ตามปกติ โดยอาจทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น ฟังเพลง ดูหนัง นอนพักผ่อน เล่นเกม วาดรูป
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมไม่มากและน้อยจนเกินไป และไม่ควรออกกำลังกายที่ใช้แรงหนัก อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที/สัปดาห์ เช่น วิ่งเหยาะ วิ่งบนลู่วิ่ง เดินเร็ว เพื่อไม่ให้ร่างกายมีความเครียด เหนื่อยล้า อ่อนเพลียที่ส่งผลให้ประจำเดือนขาดได้
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช และลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและน้ำตาลสูง เช่น ของทอด ขนมหวาน น้ำอัดลม ร่วมกับเพิ่มการเคลื่อนไหวเล็กน้อยหรือออกกำลังกายในระดับเบา เช่น ทำงานบ้าน พาสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่น เดินในสวนสาธารณะ วิ่งเหยาะ
- เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจคัดกรองโรคที่อาจเป็นสาเหตุทำให้ประจำเดือนขาด เช่น ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ เนื้องอกต่อมใต้สมองและต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ และเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม
อาการประจำเดือนขาดแบบไหน ที่ควรเข้าพบคุณหมอ
อาการประจำเดือนขาด ที่ควรเข้าพบคุณหมอ อาจสังเกตได้ ดังนี้
- ปวดอุ้งเชิงกรานหรือปวดท้องน้อยรุนแรง ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไข้สูง ท้องร่วงและเป็นลมบ่อยครั้ง
- ประจำเดือนขาดนานกว่า 3 เดือนติดต่อกัน
- ผู้หญิงที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปและไม่เคยมีประจำเดือน
- มีเลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือนลักษณะเป็นลิ่มเลือดหรือของเหลว
- มีเลือดออกหลังจากประจำเดือนหมดของรอบเดือนนั้น
- ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
[embed-health-tool-ovulation]