backup og meta

ประจําเดือนไม่มา1เดือน เกิดจากอะไรและควรดูแลตนเองอย่างไร

ประจําเดือนไม่มา1เดือน เกิดจากอะไรและควรดูแลตนเองอย่างไร

ประจำเดือน เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกทางช่องคลอดหลังจากที่ไข่ของเพศหญิงไม่ได้รับการปฏิสนธิจากอสุจิของเพศชาย โดยปกติแล้ว ภาวะนี้จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคน โดยเป็นประจำทุก ๆ เดือน หรือทุก ๆ 21-35 วัน อย่างไรก็ตาม บางครั้งประจำเดือนอาจมาช้า มาเร็ว หรือไม่มา ประจําเดือนไม่มา1เดือน อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ การตั้งครรภ์ ความเครียดสะสม ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ การใช้ยาคุมกำเนิด ทั้งนี้ เมื่อพบว่าประจำเดือนไม่มา นานเกินสองเดือนขึ้นไป ควรไปพบคุณหมอ เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัยหาสาเหตุ

[embed-health-tool-ovulation]

ประจําเดือนไม่มา1เดือน เกิดจากอะไร

ประจำเดือนไม่มา1เดือน อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

  • การตั้งครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์ ร่างกายจะหยุดกระบวนการตกไข่ ตัวอ่อนเข้าไปฝังอยู่ในเยื่อบุโพรงมดลูก ไม่หลุดลอกออกและถูกขับออกนอกร่างกายในรูปแบบประจำเดือนตลอดระยะเวลาประมาณ 40 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์เป็นสาเหตุของประจำเดือนไม่มาที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีเพศสัมพันธ์ ฉะนั้นควรตรวจการตั้งครรภ์ทุกครั้งเมื่อประจำเดือนไม่มา ก่อนไปพบคุณหมอ
  • วัยหมดประจำเดือน หรือเรียกว่าวัยทอง เป็นภาวะสุขภาพเมื่อเพศหญิงเข้าสู่ช่วงอายุ 45-55 ปี โดยฮอร์โมนเพศจะลดลงจนเป็นศูนย์ ทำให้ร่างกายไม่ตกไข่อย่างถาวร และมีอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น ประจำเดือนไม่มา อารมณ์แปรปรวน สมองล้า ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วัยทอง ประจำเดือนอาจเลื่อน มาช้าหรือเร็วกว่าปกติได้
  • ความผิดปกติของร่างกาย โครงสร้างภายในระบบสืบพันธุ์ที่ผิดปกติ เช่น มีแผ่นเนื้อเยื่อปิดบริเวณเยื่อพรหมจรรย์ ซึ่งอาจขัดขวางไม่ให้เลือดประจำเดือนไหลออกจากช่องคลอดได้ตามปกติ
  • ยาคุมกำเนิด หากรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน อาจทำให้ผนังมดลูกซึ่งเป็นต้นกำเนิดของประจำเดือนบางลง ซึ่งอาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มา หรือมาน้อยจนรู้สึกว่าไม่มาได้
  • ความเครียด เมื่อมีความเครียด วิตกกังวล ต่อมหมวกไตจะผลิตฮอร์โมนความเครียด หรือคอร์ติซอล (Cortisol) โดยฮอร์โมนนี้อาจรบกวนการทำงานของต่อมใต้สมองส่วนหน้า (Anterior Pituitary Gland) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการตกไข่ ทำให้ประจำเดือนเลื่อน ไม่มา หรือมาน้อยกว่าปกติ
  • น้ำหนักตัว หากมีน้ำหนักมากเกินเกณฑ์ หรือน้ำหนักน้อยเกินไป อาจทำให้การสั่งงานระหว่างสมอง และรังไข่ที่จำเป็นต่อการตกไข่ขัดข้อง ทำให้ประจำเดือนไม่มา1เดือน หรือนานกว่านั้นได้
  • การออกกำลังกายมากเกินไป อาจทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา จนส่งผลให้การทำงานของระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ เป็นสาเหตุให้ประจำเดือนไม่มาเป็นเวลานาน
  • ปัญหาด้านสุขภาพหรือโรคต่าง ๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ โรคเบาหวาน อาจทำให้ฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายไม่สมดุล แล้วส่งผลให้ร่างกายตกไข่ไม่สม่ำเสมอหรือประจำเดือนไม่มาได้
  • ยาบางชนิด การบริโภคยาบางชนิด โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง อาจมีผลข้างเคียงให้ประจำเดือนไม่มา เช่น ยาต้านอาการทางจิตต่าง ๆ

ประจำเดือนไม่มา1เดือน มีผลข้างเคียงต่อสุขภาพอย่างไรได้บ้าง

ประจำเดือนไม่มา1เดือน อาจไม่มีผลข้างเคียงที่น่ากังวลเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม หากประจำเดือนไม่มาติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเป็นสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนดังนี้

  • โรคระดูกพรุน ระดับฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนที่ต่ำกว่าปกติ นอกจากทำให้ร่างกายไม่ตกไข่แล้ว ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุนด้วย เนื่องจากเอสโตรเจนมีคุณสมบัติรักษาความแข็งแรงของกระดูกไว้จนกว่าจะเข้าสู่วัยทอง หากประจำเดือนไม่มา1เดือน อาจเป็นสัญญาณของวัยทอง และโอกาสเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน จึงควรดูแลและบำรุงกระดูก อาจปรึกษาคุณหมอถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้นและโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับวัยทอง
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีคุณสมบัติเกี่ยวข้องกับการไหลเวียนของเลือด รวมถึงระดับไขมันในหลอดเลือด ดังนั้น การที่เอสโตรเจนลดลง จึงอาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาหรือขาดได้ รวมทั้งอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ผลกระทบต่อจิตใจ ประจำเดือนไม่มา1เดือน อาจส่งผลให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวล หากประจำเดือนขาดนานกว่านั้น ควรเข้ารับการตรวจโดยคุณหมอ

ประจําเดือนไม่มา1เดือน ควรทำอย่างไร

ผู้หญิงที่ประจําเดือนไม่มา1เดือน หรือนานกว่านั้น ควรปฏิบัติดังนี้

  • ตรวจครรภ์ หากสงสัยว่าประจำเดือนไม่มาเนื่องจากการตั้งครรภ์ ควรลองตรวจด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง หรือเข้ารับการตรวจครรภ์โดยคุณหมอ
  • ผ่อนคลายความเครียด ด้วยการนั่งสมาธิ ทำจิตใจให้ผ่อนคลายหางานอดิเรกทำ พักผ่อน ออกไปท่องเที่ยว หรือพบปะเพื่อนฝูง เพื่อสร้างความสุขและความสมดุลในการใช้ชีวิต
  • ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้น้อยหรือมากจนเกินไป ด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังอย่างพอเหมาะ ไม่ออกกำลังกายหนักหรือหักโหมเกินไปจนร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมา
  • เข้าพบคุณหมอ หากประจำเดือนไม่มาเกิน 3 เดือน เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาตามอาการ เช่น หากประจำเดือนไม่มาเนื่องจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย คุณหมออาจให้บริโภคฮอร์โมนสังเคราะห์ หรือหากประจำเดือนไม่มาเนื่องจากเป็นอาการของโรคหรือภาวะสุขภาพ คุณหมออาจให้รับประทานยาเพื่อรักษาอาการ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Amenorrhea. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/amenorrhea/symptoms-causes/syc-20369299. Accessed July 17, 2023.

Menopause: Overview. https://www.nhs.uk/conditions/menopause/. Accessed July 17, 2023.

Estrogen Signaling and Cardiovascular Disease. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3398381/. Accessed July 17, 2023.

Missed Periods. https://patient.info/womens-health/periods-and-period-problems/missed-periods. Accessed July 17, 2023.

Stopped or missed periods. https://www.nhs.uk/conditions/stopped-or-missed-periods/. Accessed July 17, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

17/07/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีประจำเดือน ท้องได้ไหม

ประจำเดือนเป็นสีดำ ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 17/07/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา