อาการปวดท้องเมนส์เป็นอาการที่ไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยในช่วงเป็นประจำเดือนหรือเป็นเมนส์ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อาการนี้เกิดจากสารเคมีที่เรียกว่าพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ซึ่งผลิตขึ้นที่เยื่อบุมดลูกทำให้กล้ามเนื้อหดรัดตัว ส่งผลให้ปวดท้อง เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว โดยบางคนอาจเริ่มมีอาการตั้งแต่ช่วงที่เริ่มมีเมนส์ครั้งแรก จนทำให้เกิดคำถามว่า ปวดท้องเมนส์ ทําไง โดยการดูแลตัวเองเมื่อปวดท้องเมนส์โดยเบื้องต้น เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ อาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้ อย่างไรก็ตามหากปวดท้องรุนแรงจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม
[embed-health-tool-ovulation]
สาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงปวดท้องเมนส์
สาเหตุของอาการปวดท้องเมนส์ อาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
สาเหตุของอาการปวดท้องเมนส์ปฐมภูมิ (Primary dysmenorrhoea)
เกิดจากการบีบรัดของมดลูกเพื่อขับประจำเดือนออกจากร่างกาย ถือเป็นภาวะปกติของระบบสืบพันธุ์ เมื่อมดลูกบีบรัดตัวเนื่องจากได้รับการกระตุ้นจากสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนที่เรียกว่าพรอสตาแกลนดินในเยื่อบุโพรงมดลูก เมื่อผนังมดลูกหดตัวจะทำให้หลอดเลือดภายในมดลูกถูกบีบรัด จนไม่สามารถส่งเลือดและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงมดลูกได้ชั่วคราว กล้ามเนื้อมดลูกจึงบีบตัวมากขึ้นและทำให้ปวดท้องเมนส์ได้
สาเหตุของอาการปวดท้องเมนส์ทุติยภูมิ (Secondary dysmenorrhoea)
เกิดจากภาวะสุขภาพที่อาจทำให้มีอาการปวดท้องเมนส์รุนแรงกว่าปกติ โดยอาการปวดท้องเมนส์ทุติยภูมิมักจะปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละรอบเดือน ในบางรายอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ที่มีอาการปวดลักษณะนี้อาจพบว่ามีโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่างที่เป็นต้นเหตุการปวดท้องนอกเหนือไปจากกลไกการปวดท้องเมนส์ปกติ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษา โดยภาวะผิดปกติที่ทำให้ปวดท้องเมนส์อย่างรุนแรง อาจเกิดได้จากสาเหตุต่อไปนี้
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- เนื้องอกมดลูก
- มดลูกโต
- การใช้ห่วงอนามัย
อาการปวดท้องเมนส์
อาการปวดท้องเมนส์ อาจมีลักษณะดังนี้
- ปวดท้องส่วนล่างหรือท้องน้อย
- ปวดตั้งแต่ก่อนมีเมนส์ 1-3 วัน และมีอาการปวดรุนแรงในช่วงวันแรกที่เมนส์มา โดยอาการจะบรรเทาลงใน 2-3 วัน
- ปวดร้าวบริเวณหลังไปจนถึงต้นขา
- ปวดบีบหรือปวดเกร็งเป็นพัก ๆ บริเวณหน้าท้อง
- บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ ถ่ายท้อง ร่วมด้วย
ปวดท้องเมนส์ ทําไง ได้บ้าง
วิธีรักษาและดูแลตัวเองเมื่อมีอาการปวดท้องเมนส์ อาจทำได้ดังนี้
- รับประทานยาแก้ปวดในกลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen) กรดมีเฟนามิก แอซิด (Mefenamic acid) ที่ช่วยลดการผลิตพรอสตาแกลนดินของร่างกาย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของแมกนีเซียม วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 วิตามินอี น้ำมันปลา เป็นต้น เพื่อบรรเทาอาการปวดท้องเมนส์
- ประคบบริเวณหน้าท้องด้วยถุงน้ำร้อน กระเป๋าน้ำร้อน หรือผ้าสะอาดชุบน้ำร้อนบิดหมาด ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวดท้องเมนส์
- นวดคลึงบริเวณหน้าท้องเบา ๆ ในช่วงก่อนเป็นเมนส์ เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และอาจช่วยลดอาการปวดเกร็งเมื่อเป็นเมนส์ได้
- จัดการกับความเครียดด้วยการทำกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น โยคะ พิลาทิส อย่าปล่อยให้เครียดสะสมเนื่องจากความเครียดอาจทำให้ปวดท้องรุนแรงมากขึ้น
ปวดท้องเมนส์แบบไหนควรไปพบคุณหมอ
อาการปวดท้องฉับพลันหรือปวดท้องน้อยเป็นเวลา 1-2 วันแรกของการมีเมนส์ถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากอาการปวดท้องเมนส์รุนแรงขึ้น หรือมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมและรับการรักษาตามสาเหตุของอาการปวดอย่างทันท่วงที
- ปวดท้องเมนส์นานกว่า 2 วัน
- ปวดรุนแรงขึ้นในแต่ละเดือน (Progressive dysmenorrhea)
- อาการปวดไม่ทุเลาลง แม้จะรับประทานยาแก้ปวดหรือยาคุมกำเนิด
- รู้สึกเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- ปวดมากจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน