ปวดท้องเมน คืออาการปวดท้องน้อย และอาจปวดบริเวณหลังส่วนล่างไปถึงต้นขา ที่เกิดขึ้นในช่วงขณะที่มีประจำเดือน โดยอาจมีสาเหตุการบีบตัวของมดลูกตามปกติ หรืออาจเกิดจากปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกในมดลูก ปากมดลูกอักเสบ หากสังเกตว่ามีอาการปวดประจำเดือนมากผิดปกติ ควรพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-ovulation]
ปวดท้องเมน คืออะไร
อาการปวดท้องเมนจะเกิดขึ้นต่อเมื่อใกล้เข้าสู่ช่วงมีประจำเดือน เนื่องจากเยื่อบุมดลูกจะผลิตสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งเป็นสารที่เข้าไปกระตุ้นให้มดลูกเกิดการบีบตัวและคลายตัวเพื่อขับเยื่อบุมดลูกออกจากช่องคลอด ซึ่งลักษณะการบีบตัวและคลายตัวนี้ส่งผลให้ผู้หญิงส่วนใหญ่อาจมีอาการปวดท้องก่อนมีประจำเดือนหรือระหว่างมีประจำเดือน โดยลักษณะของอาการปวดท้องจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับลักษณะการบีบตัวของมดลูก
อาการปวดท้องเมน
อาการปวดท้องเมน อาจสังเกตได้จากปฏิกิริยาต่าง ๆ เหล่านี้
- มีอาการปวดบริเวณท้องน้อย และอาจปวดท้องอย่างหนักในบางครั้ง
- ปวดท้องก่อนมีประจำเดือนประมาณ 1-3 วัน และอาจรู้สึกปวดท้องมากในช่วง 24 ชั่วโมง เมื่อประจำเดือนมา และจะบรรเทาลงภายใน 2-3 วัน
- รู้สึกปวดไปถึงหลังส่วนล่าง และต้นขา
- ประจำเดือนออกมาเป็นลักษณะลิ่มเลือดปริมาณมาก
ผู้หญิงบางคนอาจมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ ท้องร่วง ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง หรือนานกว่า 2-3 วัน ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจช่องคลอด และปากมดลูกภายในอย่างละเอียด
สาเหตุของอาการปวดท้องเมน
สาเหตุที่อาจทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ปวดท้องเมน อาจเกิดได้จากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- ผู้หญิงที่อายุระหว่าง 30-45 ปี เนื่องจากช่วงวัยนี้ฮอร์โมนเอสโตรเจนภายในร่างกายเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงอาจส่งผลให้ภาวะมดลูกโต ทำให้ประจำเดือนมามาก ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง
- ภาวะประจำเดือนมามาก และประจำเดือนมาผิดปกติ
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก
- เนื้องอกในมดลูก
- ภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญเติบโตผิดที่
- โรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ
- ปากมดลูกตีบ
วิธีลดอาการปวดท้องเมน โดยไม่พึ่งยา
เมื่ออาการปวดท้องเมนกำเริบ สิ่งที่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเมนแบบธรรมชาติโดยไม่พึ่งยา มีดังนี้
- ประคบร้อนบริเวณท้องส่วนล่าง ด้วยถุงใส่น้ำร้อน หรือแผ่นความร้อน
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ลดระดับความเครียด
- นวดบริเวณหน้าท้องอย่างเบามือ
- หลีกเลี่ยงอาหาร และเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของเกลือ คาเฟอีน และแอลกอฮอล์ ควรดื่มเครื่องดื่มจากสมุนไพรทดแทน เช่น ชาดอกคาโมไมล์ สมุนไพรจีน ขิง
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น วิ่งจ็อกกิ้ง โยคะ
หากอาการปวดท้องเมนยังไม่บรรเทาลง อาจเข้ารับคำปรึกษาจากคุณหมอ ซึ่งคุณหมออาจสั่งจ่ายยาต้านการอักเสบสำหรับอาการปวดประจำเดือนโดยเฉพาะ ยาที่คุณหมอสั่งจ่ายอาจมีส่วนช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น และลดการบีบตัวของมดลูก เช่น ไอบูโพรเฟน ยาคุมกำเนิด
กรณีอาการปวดท้องประจำเดือนที่เกิดจากความผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก อาจทำให้มดลูกมีขนาดโตและหนาขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง คุณหมออาจต้องทำการผ่าตัด เพื่อแก้ไขปัญหาอาการปวดท้อง และอาจจำเป็นต้องนำมดลูกออกโดยผ่านการยินยอมของผู้ป่วยหากไม่ได้วางแผนการมีบุตร