backup og meta

ผู้หญิง เป็น เมนส์ และการดูแลตัวเองให้ประจำเดือนมาปกติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

    ผู้หญิง เป็น เมนส์ และการดูแลตัวเองให้ประจำเดือนมาปกติ

    ผู้หญิง เป็น เมนส์ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุก ๆ 28 วัน หรืออาจมาช้าหรือเร็วกว่านั้นเมื่อไม่มีการตั้งครรภ์ แต่สำหรับบางคนอาจเป็นเมนส์ผิดปกติ เช่น เมนส์มามากจนเกินไป เมนส์ไม่มา 1-2 เดือน สีเมนส์ที่ไหลออกจากช่องคลอดมีสีผิดปกติ ดังนั้น จึงควรศึกษาวิธีการดูแลตัวเองหรือขอคำแนะนำจากคุณหมอ เพื่อช่วยให้เมนส์มาปกติ

    ผู้หญิงเป็นเมนส์ เพราะอะไร

    ผู้หญิงเป็นเมนส์ เพราะไม่มีการฝังตัวของตัวอ่อนหรือไม่มีการตั้งครรภ์ ปกติแล้วร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยกระตุ้นการปล่อยไข่จากรังไข่ ช่วยทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้นเพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนและเกิดเป็นการตั้งครรภ์ ดังนั้น เมื่อไม่มีการฝังตัวและไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ระดับฮอร์โมนเพศจะลดลงและส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกและไหลออกมาทางช่องคลอดที่เรียกว่า “ประจำเดือน” หรือ “เมนส์” 

    ลักษณะของผู้หญิงเป็นเมน์ปกติมักจะมาทุก ๆ 28 วัน บางคนอาจมาช้าหรือเร็วกว่านั้น และเป็นนานประมาณ 3-7 วัน ที่จะมีสีเลือดสีชมพู น้ำตาล ดำ ในช่วงวันแรกหรือใกล้เมนส์หมด และจะมีสีแดงในช่วงวันที่ 2-4 นอกจากนี้แต่ละรอบเดือนจะของการเป็นเมนส์จะระยะห่างกันประมาณ 21-35 วัน และมักมาในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันทุกรอบเดือน โดยสังเกตได้จากอาการท้องเสีย ท้องอืด เจ็บเต้านม อารมณ์แปรปรวน สิวขึ้น ปวดท้องน้อย และรู้สึกอยากอาหาร 

    ผู้หญิงเป็นเมนส์แบบไหนที่ผิดปกติ

    ผู้หญิงเป็นเมนส์ผิดปกติ อาจสังเกตได้จาก อาการต่าง ๆ ดังนี้

  • เป็นเมนส์นานกว่า 7 วัน
  • เมนส์ไหลในปริมาณมากที่จำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง หรือใช้ผ้าอนามัยเกิน 5 ผืนต่อวัน
  • เมนส์มาไม่สม่ำเสมอหรือมาแบบกะปริบกะปรอย
  • ไม่เป็นเมนส์นานกว่า 3 เดือน โดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์
  • ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง
  • เลือดมีลักษณะเป็นลิ่มเลือดขนาดใหญ่
  • รอบเดือนเปลี่ยนแปลงกะทันหัน และมีรอบเดือนระยะสั้นกว่า 24 วัน หรือนานกว่า 38 วัน
  • สีตกขาวผิดปกติและช่องคลอดมีกลิ่นไม่พึงประสงค์
  • มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียนระหว่างเป็นเมนส์
  • มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบากหลังเมนส์หมด
  • เข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน แต่ยังคงมีประจำเดือนอยู่
  • สีเลือดผิดปกติ เช่น สีส้ม สีเทา สีดำ สีน้ำตาล 
  • อาการตกขาวผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็น ตกขาวเป็นก้อนหนา สีตกขาวเป็นสีเหลือง เขียว ชมพูและเทา
  • ควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็วหากสังเกตพบอาการผิดปกติดังกล่าว เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพ เช่น เนื้องอกในช่องคลอด ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ การติดเชื้อในช่องคลอด โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูก การตั้งครรภ์นอกมดลูก และการแท้งบุตร

    การดูแลตัวเองให้ประจำเดือนมาปกติ

    การดูแลตัวเองให้ประจำเดือนมาปกติ อาจทำได้ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเน้นการรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด เนื้อสัตว์ไร้ไขมันและไขมันดี เช่น ผักใบเขียว มะเขือเทศ ฟักทอง อะโวคาโด แครอท ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ส้ม สับปะรด กล้วย แอปเปิ้ล ปลาแซลมอน ปลาทู อกไก่ อัลมอนด์ ถั่วเหลือง และควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทแป้ง น้ำตาลและไขมันไม่ดีสูง เช่น อาหารแปรรูป เผือก ข้าวโพด ของหวาน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำผลไม้น้ำตาลสูง เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์และช่วยรักษาความสมดุลของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการมาประจำเดือน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น วิ่งเหยาะ วิ่งบนลู่วิ่ง เดินเร็ว ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน อย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ วันละ 30 นาที เพื่อรักษาความสมดุลของน้ำหนักและฮอร์โมน ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ และไม่ควรออกกำลังกายหนักเกินหรือใช้แรงมากเกินไป เพราะอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดความเครียด ที่อาจทำให้ประจำเดือนขาดได้
  • ลดความเครียด เช่น นอนหลับพักผ่อน ดูหนัง เล่นเกม เพราะความเครียดอาจส่งผลให้ผู้หญิงเป็นเมนส์ผิดปกติหรือมาช้า
  • รับประทานยาคุมกำเนิด  ที่ประกอบไปด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินในรูปแบบรายเดือน 21 หรือ 28 เม็ด เพื่อช่วยให้ปรับฮอร์โมนสมดุลและอาจกระตุ้นให้ประจำเดือนมาปกติ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยาเพื่อรับคำแนะนำการรับประทานอย่างถูกวิธี
  • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจคัดกรองโรคที่ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น ภาวะไทรอยด์ต่ำ ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ การติดเชื้อในช่องคลอด โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ โรคมะเร็งปากมดลูกหรือมะเร็งมดลูก และเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา