backup og meta

ภาวะเพศกำกวม หรือ Intersex คือ อะไร

ภาวะเพศกำกวม หรือ Intersex คือ อะไร

Intersexuality หรือ Intersex คือ ภาวะเพศกำกวม เป็นเพศที่อยู่ในกลุ่ม LGBTQIA+ (I = Intersex) มีลักษณะทางกายภาพที่ไม่ได้เจาะจงเป็นเพศหญิงหรือเพศชายเพียงอย่างเดียวอย่างชัดเจนตั้งแต่แรกเกิด และอาจมีลักษณะทางเพศอื่น ๆ ที่จะปรากฏขึ้นเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าภาวะดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใด แต่อาจเกิดจากพันธุกรรม การมีโครโมโซมของทั้ง 2 เพศ การได้รับฮอร์โมนธรรมชาติหรือฮอร์โมนสังเคราะห์ขณะเป็นตัวอ่อน เป็นต้น

ผู้ที่มีภาวะ Intersex อาจตัดสินใจรับการผ่าตัดให้ตัวเองเป็นเพศใดเพศหนึ่งโดยสมบูรณ์ หรืออาจเลือกใช้ชีวิตตามลักษณะทางกายภาพที่มีมาตั้งแต่กำเนิดก็ได้ ภาวะนี้เป็นความแปรผันที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ ไม่ถือว่าเป็นโรค (Disease) ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาให้หายแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

Intersex คือ อะไร

Intersex คือ ภาวะเพศกำกวม เป็นคำนิยามทางเพศที่ใช้จัดหมวดหมู่บุคคลที่กำเนิดมาพร้อมกับลักษณะทางเพศหลากหลาย ซึ่งอาจส่งผลต่ออวัยวะเพศ อวัยวะในระบบสืบพันธุ์ ปริมาณฮอร์โมน ชนิดโครโมโซม เป็นต้น ภาวะ Intersex ไม่ได้อยู่ในกรอบแนวคิดที่แบ่งเพศออกเป็นทวิลักษณ์หรือไบนารี (Binary) ที่มีเพียงเพศชายและเพศหญิง โดยทั่วไปภาวะนี้มักไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพขณะเป็นทารก แต่ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ท่อปัสสาวะที่ปลายองคชาตไม่มีรูเปิด จึงอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อช่วยให้สามารถถ่ายปัสสาวะได้ตามปกติ

ภาวะ Intersex เป็นเรื่องที่ซับซ้อนเป็นอย่างมาก และการรักษาอาจส่งผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การตัดสินใจผ่าตัดเลือกเพศเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตของคน ๆ หนึ่งจึงอาจต้องพิจารณาหลายปัจจัย เช่น สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ เพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศของเด็ก ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านแนะนำให้รอจนกว่าเด็กที่มีภาวะ Intersex เติบโตและมีวุฒิภาวะเพียงพอในการตัดสินใจเกี่ยวกับเพศสรีระ (Sex) ได้ด้วยตัวเอง จะได้มีอิสระในการเลือกเส้นทางตัวเองและใช้ชีวิตตามที่ต้องการได้อย่างเต็มที่

ลักษณะของผู้ที่มีภาวะ Intersex

หลายคนอาจเข้าใจว่าผู้ที่มีภาวะ Intersex หมายถึง ผู้ที่มีอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิงและเพศชายเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้ว Intersex มีสเปกตรัม (spectrum) เป็นเฉดสีที่กระจัดกระจายและครอบคลุมได้กว้างมาก เพื่อใช้อธิบายผู้ที่มีลักษณะทางกายภาพหลากหลายเฉพาะตัวและแตกต่างไปในแต่ละคน ซึ่งอาจมีได้มากถึง 40 รูปแบบ ตัวอย่างเช่น

  • มีลักษณะและอวัยวะภายนอกเหมือนเพศหนึ่ง แต่มีอวัยวะในระบบสืบพันธุ์เป็นอีกเพศ เช่น มีอวัยวะเพศภายนอกของผู้หญิง แต่ภายในมีอัณฑะ ไม่มีมดลูกและรังไข่
  • ผู้ชายมีภาวะลูกอัณฑะติดค้าง (Undescended testis) เกิดขึ้นเมื่อลูกอัณฑะไม่ได้อยู่ในถุงอัณฑะ ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจเป็นรังไข่
  • ผู้หญิงมีก้อนที่บริเวณขาหนีบ ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจเป็นอัณฑะ
  • ผู้ชายมีภาวะท่อปัสสาวะเปิดต่ำกว่าปกติ (Hypospadias)
  • ผู้หญิงมีรูเปิดท่อปัสสาวะเข้าไปในช่องคลอด
  • มีภาวะเป็นหนุ่มสาวช้าหรือมีพัฒนาการทางเพศหยุดชะงัก
  • อวัยวะเพศมีลักษณะผิดปกติเมื่อแรกเกิด เช่น มีอวัยวะเพศชายเล็กกว่าปกติ มีคลิตอริสยาวกว่าปกติ ช่องคลอดไม่มีช่องทางเปิด องคชาตไม่มีรูเปิดของท่อปัสสาวะ
  • มีภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย
  • มีการเปลี่ยนแปลงผิดปกติในช่วงวัยรุ่น

โอกาสในการมีบุตรของผู้ที่มีภาวะ Intersex

โดยทั่วไป ความสามารถในการมีบุตรของผู้มีภาวะ Intersex จะแตกต่างกันไปตามระบบอวัยวะสืบพันธุ์ของแต่ละคน หากมีองคชาตและลูกอัณฑะที่ผลิตอสุจิได้ ก็มีโอกาสทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ ในขณะเดียวกัน หากมีลักษณะภายนอกเป็นเพศหญิง มีรังไข่และช่องคลอด แต่ไม่มีมดลูกและไม่เคยมีประจำเดือน ก็จะไม่สามารถมีบุตรได้ และอาจเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคมะเร็งรังไข่จากรังไข่ฝ่อตัว

การรักษา Intersex ทำได้อย่างไร

ภาวะ Intersex มักไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ การผ่าตัดจึงเป็นเพียงทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการให้โครงสร้างของร่างกายตรงกับเพศสภาพที่ต้องการ โดยการผ่าตัดจะมุ่งเน้นที่การเปลี่ยนรูปลักษณ์ของอวัยวะเพศหรือดัดแปลงระบบสืบพันธุ์ ซึ่งอาจแบ่งได้ดังนี้

  • การผ่าตัดตกแต่งคลิตอริส เช่น การสร้างคลิตอริส (Clitoroplasty) ให้มีโครงสร้างที่เหมาะสม การลดขนาดคลิตอลิส (Clitoral reduction) ที่ยื่นยาวออกมาจนคล้ายอวัยวะเพศชาย และตกแต่งให้มีขนาดใกล้เคียงกับอวัยวะเพศหญิงมากที่สุด
  • การผ่าตัดช่องคลอด (Vaginoplasty) เพื่อสร้างหรือตกแต่งลักษณะของช่องคลอดเพื่อให้เป็นเพศหญิงอย่างสมบูรณ์
  • การผ่าตัดแก้ไขรูเปิดท่อปัสสาวะ เพื่อซ่อมแซมท่อปัสสาวะที่ถูกสร้างอย่างไม่สมบูรณ์ ทารกอาจเกิดมาพร้อมกับภาวะรูเปิดท่อปัสสาวะบริเวณปลายองคชาตไม่เปิดออก ทำให้ไม่สามารถถ่ายปัสสาวะได้
  • การผ่าตัดนำอัณฑะหรือรังไข่ออก (Gonadectomy) ซึ่งจะทำให้ร่างกายหยุดผลิตสเตียรอยด์เพศนั้น ๆ อย่างถาวร ส่วนใหญ่จะใช้ในผู้ที่มีเพศภายนอกเป็นผู้หญิงโดยสมบูรณ์ มีรังไข่และมดลูกตามปกติ แต่มีอัณฑะด้วยเนื่องจากมีโครโมโซม 46XY

ทั้งนี้ ภาวะ Intersex อาจทำให้เด็กมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมหรือเพื่อนในวัยใกล้เคียง อาจทำให้สับสนต่อลักษณะทางกายภาพของตัวเอง รู้สึกแปลกแยก หรือส่งผลต่อสภาวะจิตใจได้ การมีครอบครัวและคนรอบข้างที่เอาใจใส่ ไม่กดดันหรือบีบบังคับให้เลือกเพศตั้งแต่ยังเด็กและตัดสินใจไม่ได้ อาจช่วยให้ผู้มีภาวะ Intersex สามารถใช้ชีวิตประจำวัน สามารถรับมือกับความรู้สึกหรือเรื่องที่ต้องเผชิญได้ดีขึ้น และมีโอกาสได้เลือกเพศตามความต้องการของตัวเองเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะ Intersex กับคนทั่วไปก็เป็นเรื่องสำคัญ หากคนในสังคมเข้าใจภาวะนี้อย่างถ่องแท้และขจัดอคติทางเพศที่มีต่อผู้ที่มีภาวะ Intersex และกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศให้หมดไปได้ อาจช่วยให้ผู้ที่มีภาวะ Intersex สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติและได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Is Intersex?. https://www.webmd.com/sex/what-is-intersex#:~:text=Intersex%2C%20by%20definition%2C%20is%20when,person%20having%20mostly%20male%20anatomy. Accessed February 13, 2023

What’s intersex?. https://www.plannedparenthood.org/learn/gender-identity/sex-gender-identity/whats-intersex#:~:text=Intersex%20is%20a%20general%20term,male%E2%80%9D%20or%20%E2%80%9Cfemale%E2%80%9D. Accessed February 13, 2023

Intersex. https://medlineplus.gov/ency/article/001669.htm. Accessed February 13, 2023

Intersex. https://my.clevelandclinic.org/health/articles/16324-intersex. Accessed February 13, 2023

Intersex variation. https://www.healthdirect.gov.au/intersex-variation. Accessed February 13, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/04/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ เอเซ็กชวล (Asexuality)

Pansexual คือ อะไร และมีอะไรที่ควรรู้บ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา