ไข่ตกเป็นกลไกธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับร่างกายผู้หญิง เมื่อถึงวัยมีประจำเดือน โดยไข่ตกจะใช้เวลาเฉลี่ยรอบละ 28 – 35 วัน นับจากวันแรกที่ประจำเดือนมา ซึ่งวันไข่ตกจะเป็นวันที่ไข่สุกออกจากรังไข่ จากนั้นไปยังส่วนปลายของท่อนำไข่ สำหรับมูกไข่ตกเป็นสัญญาณของร่างกายบ่งบอกว่าเป็นช่วงวันไข่ตก คนที่วางแผนมีลูกควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลานี้
[embed-health-tool-ovulation]
มูกไข่ตก เป็นอย่างไร
มูกไข่ตกจะมีลักษณะเป็นของเหลวที่ร่างกายผลิตออกมา ซึ่งจะขับออกจากปากมดลูก มูกชนิดนี้จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มูกช่องคลอด (Cervical Mucus) หรือตกขาว โดยมูกไข่ตกหลั่งออกมาจากต่อมบริเวณปากมดลูก ไม่เหมือนกับน้ำหล่อลื่นที่หลั่งจากช่องคลอด (Vagina) ลักษณะของมูกไข่ตกและปริมาณของมูกสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นมูกไข่ตกให้หลั่งออกมา เพราะช่วงระหว่างรอบเดือน ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากขึ้น
ลักษณะของมูกช่องคลอด
ลักษณะของมูกไข่ตกหรือมูกช่องคลอด จะเปลี่ยนแปลงในรอบ 28 วัน สำหรับผู้ที่วางแผนการมีบุตร สามารถสังเกตมูกไข่ตกได้ดังนี้
- มูกช่องคลอดหลังหมดรอบเดือน : หลังจากมีประจำเดือนไปแล้ว ร่างกายจะผลิตมูกช่องคลอดออกมาน้อย อาจพบว่ามูกจะมีลักษณะแห้ง ๆ หรือเหนียวข้น แต่พบได้น้อยมาก
- มูกก่อนไข่ตก : ลักษณะของมูกจะเริ่มมีสีขาวคล้ายครีม อาจมีความข้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
- มูกไข่ตก : ก่อนวันไข่ตกเล็กน้อย มูกจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีใส ๆ คล้ายไข่ขาวดิบ จนถึงวันไข่ตก มูกจะเหนียวใส ลื่นแล้วยืดหยุ่นดี แสดงถึงความชุ่มชื้นสูง ผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์สามารถเริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้ ช่วงเวลานี้จะเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ เพราะมูกไข่ตกจะช่วยเป็นเหมือนน้ำหล่อลื่น ให้สเปิร์มเคลื่นตัวได้ดี โดยเคลื่อนที่ได้รวดเร็วไปยังปีกมดลูก อีกทั้งมีค่า PH ที่ช่วยยืดอายุของอสุจิ มีแคลเซียม แมกนีเซียม ดีต่อกระบวนการปฏิสนธิ
- มูกหลังไข่ตก : มูกช่องคลอดจะเปลี่ยนเป็นลักษณะขาวขุ่น และเมื่อไม่เกิดการปฏิสนธิขึ้น ไข่ไม่ได้ผสมกับอสุจิ ผนังชั้นในของมดลูกจึงหลุดและขับออกมาทางช่องคลอดเกิดเป็นประจำเดือน
ช่วงที่มีประจำเดือน ร่างกายจะยังผลิตมูกอยู่ เพียงแต่มองเห็นได้ยาก หลังจากรอบเดือนหมดไปแล้ว มูกจะค่อย ๆ น้อยลงช่วงหนึ่งประมาณ 11 – 14 วัน กว่าที่จะเกิดประจำเดือนครั้งถัดไป
ความสำคัญของการนับวันไข่ตก
หากต้องการมีบุตร ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนช่วงไข่ตก 1-2 วัน ให้อสุจิรอที่รังไข่ เพราะอสุจิจะรอปฏิสนธิอยู่ในรังไข่ได้ประมาณ 2 วัน ซึ่งจะพอดีกับวันไข่ตก ซึ่งรังไข่ทั้ง 2 ข้างจะสลับกันตกไข่ใบที่สมบูรณ์ที่สุด เมื่ออสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับเซลล์ไข่จะส่งผลให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ โดยทั่วไปวันไข่ตกจะอยู่ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนประจำเดือนมา หากประจำเดือนมาปกติและสม่ำเสมอ วันไข่ตกจะอยู่ในวันที่ 14 ของรอบเดือน หรือให้นับหลังจากวันที่ประจำเดือนมาเป็นวันที่ 1 และวันที่ 14 จะเป็นวันที่ไข่ตก โดยสามารถสังเกตสัญญาณวันไข่ตกได้ ดังนี้
- เกิดอารมณ์ทางเพศ : เมื่อไข่ตกจะมีอารมณ์ทางเพศเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีเลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณช่องคลอด และมีการสร้างของเหลวหล่อลื่นมากเป็นพิเศษ
- อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น : ร่างกายจะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) สูงขึ้นช่วงวันไข่ตก หรืออุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส วัดได้ด้วยปรอทวัดไข้หลังตื่นนอนก่อนทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน จากนั้นจดบันทึกอุณหภูมิร่างกายไว้ในช่วงระหว่างก่อนวันตกไข่จะพบว่าอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นกว่าปกติในวันที่ตกไข่ หากวางแผนในการตั้งครรภ์ควรวัดอุณหภูมิอย่างน้อย 2-3 เดือน เพื่อสังเกตวันไข่ตก
- เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ปากมดลูก : ช่วงไข่ตกปากมดลูกเปลี่ยนต่ำแหน่งเลื่อนสูงขึ้น และยังอ่อนนุ่มเป็นพิเศษ
- เจ็บคัดเต้านม : ช่วงวันไข่ตกจะเริ่มเกิดอาการเจ็บคัดเต้านมได้
- ปวดท้องน้อยข้างเดียว : รังไข่จะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพให้เหมาะสมกับการฝังตัวของตัวอ่อน จึงทำให้เกิดการปวดท้องน้อยข้างเดียวได้ในช่วงวันไข่ตก แต่หากไม่มีการปฏิสนธิผนังภายในรังไข่ก็จะหลุดลอกส่งผลให้ปวดท้องน้อยได้มากขึ้น