backup og meta

ตกขาวมีเลือดปน เกิดจากอะไร และอาการที่ควรเข้าพบคุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/01/2024

    ตกขาวมีเลือดปน เกิดจากอะไร และอาการที่ควรเข้าพบคุณหมอ

    ตกขาวมีเลือดปน เป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดจากอาการก่อนประจำเดือนมาหรือประจำเดือนตกค้างหลังจากหมดรอบเดือนนั้น ที่ทำให้มีเลือดปนกับตกขาวและไหลออกมาทางช่องคลอด อย่างไรก็ตาม อาการนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้เช่นกัน ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการผิดปกติหรือเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันที

    ตกขาว คืออะไร

    ตกขาว คือ เยื่อเมือกที่ทำหน้าที่ช่วยดักจับสิ่งสกปรก แบคทีเรีย และเซลล์ที่ตายแล้ว ถูกผลิตจากอวัยวะภายในช่องคลอด เช่น ต่อมไขมัน ต่อมเหงื่อ ต่อมบาร์โธลิน ต่อมสกีน (Skene’s gland) ผนังช่องคลอด ปากมดลูก โพรงมดลูกและท่อนำไข่ ก่อนจะถูกขับออกมาในรูปแบบของตกขาวที่ไหลออกจากช่องคลอด โดยมีส่วนช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ช่องคลอด ป้องกันช่องคลอดแห้งและลดอาการเจ็บแสบขณะมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวมักจะมีลักษณะเป็นเมือกหรือของเหลวใสหรือสีขุ่นเล็กน้อย ไม่ค่อยมีกลิ่นเหม็นและอาจมีปริมาณมากในช่วงที่ไข่ตกหรือก่อนมีประจำเดือน

    ตกขาวมีเลือดปน เกิดจากอะไร

    ตกขาวมีเลือดปน อาจเกิดจากอาการก่อนประจำเดือนมาหรือประจำเดือนตกค้าง ทำให้ตกขาวที่ไหลออกมาจากช่องคลอดมีสีแดงหรือสีน้ำตาลปนเล็กน้อย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น

    • การตั้งครรภ์ ตกขาวมีเลือดปนอาจเป็นสัญญาณเตือนแรกที่เกิดจากตัวอ่อนฝังตัวในผนังมดลูก ทำให้มีเลือดออกผสมกับตกขาวและอาจมีอาการปวดท้องเกร็งหรือปวดท้องน้อยคล้ายกับปวดประจำเดือนร่วมด้วย ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 4-5 สัปดาห์ หากสังเกตว่าประจำเดือนไม่มานานกว่า 1 เดือน ควรตรวจสอบการตั้งครรภ์ด้วยชุดตรวจครรภ์หรือเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลโดยตรง
    • การใส่หรือถอดอุปกรณ์คุมกำเนิด เช่น วงแหวนคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิด อาจทำให้เกิดการหลุดลอกของเยื่อเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้มีเลือดออก นำไปสู่ตกขาวมีเลือดปนไหลทางช่องคลอดได้
    • การติดเชื้อในช่องคลอด ที่อาจส่งผลให้ช่องคลอดอักเสบและมีเลือดปน โดยสังเกตได้จากอาการระคายเคือง รู้สึกเจ็บแสบขณะปัสสาวะหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์และช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น
    • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในเทียม เริม หูดหงอนไก่ ที่อาจทำให้ช่องคลอดและปากมดลูกอักเสบ จนมีเลือดออกและทำให้มีตกขาวมีเลือดปนไหลออกทางช่องคลอด โดยอาจสังเกตได้จากอาการมีไข้สูง คันช่องคลอด เจ็บแสบช่องคลอด ตุ่มขึ้นบริเวณรอบช่องคลอด หากพบอาการเหล่านี้ควรเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วเพื่อช่วยลดการแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นและลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน
    • การมีเพศสัมพันธ์อย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดแผลในช่องคลอด มีอาการเจ็บแสบขณะปัสสาวะหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์และอาจส่งผลให้มีเลือดออกที่ปนกับตกขาว
    • มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งปากมดลูก ที่อาจส่งผลให้เกิดเนื้องอกหรือก้อนมะเร็งภายใน ส่งผลให้มีเลือดออกปนกับตกขาวไหลออกทางช่องคลอดได้
    • วัยหมดประจำเดือน มักเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่เกิดจากระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนลดลง จึงส่งผลให้ช่องคลอดแห้ง มีตกขาวปริมาณน้อย ระคายเคือง และอาจทำให้มีเลือดออกกะปริบกะปรอย

    อาการตกขาวผิดปกติที่ควรเข้าพบคุณหมอ

    อาการตกขาวผิดปกติที่ควรเข้าพบคุณหมอ มีดังต่อไปนี้

    • ตกขาวมีสีผิดปกติ เช่น ตกขาวสีน้ำตาล ตกขาวสีเหลือง ตกขาวสีเขียว ตกขาวสีเทา
    • ตกขาวไหลปริมาณมาก หรือตกขาวมีลักษณะเป็นฟองและก้อนหนา
    • ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น
    • คันรอบช่องคลอดรุนแรงและมีอาการบวมแดง
    • รู้สึกเจ็บแสบขณะปัสสาวะหรือระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์
    • ปวดอุ้งเชิงกรานหรือปวดเกร็งท้องน้อย
    • มีไข้สูง มีตุ่มรอบช่องคลอดหรือผิวหนังส่วนต่าง ๆ ตามผิวหนังบนร่างกาย

    การรักษา ตกขาวมีเลือดปน

    การรักษาเมื่อตกขาวมีเลือดปน หากเป็นอาการที่เกิดขึ้นช่วงก่อนประจำเดือนมาหรือหลังจากประจำเดือนหมด โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย อาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใด ๆ แต่หากมีอาการผิดปกติควรเข้ารับการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัด เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น เปลี่ยนหรือถอดอุปกรณ์คุมกำเนิดที่ใส่ภายในช่องคลอดตามกำหนด สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์หรือรับประทานยาต้านไวรัส ยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยบรรเทาอาการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดูแลรักษาสุขอนามัยช่องคลอด และควรตรวจคัดกรองโรคเป็นประจำทุกปี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา