backup og meta

ยาเลื่อนประจําเดือน ผลข้างเคียง ที่ควรรู้

ยาเลื่อนประจําเดือน ผลข้างเคียง ที่ควรรู้

ยาเลื่อนประจำเดือนเป็นยาที่ช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือนตามกำหนด จึงอาจช่วยให้ประจำเดือนมาช้ากว่ารอบเดือนปกติได้ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเลื่อนประจำเดือนออกไปสักระยะหนึ่งเพราะมีเหตุจำเป็นบางอย่าง ทั้งนี้ การใช้ ยาเลื่อนประจําเดือน ผลข้างเคียง ที่พบได้บ่อย เช่น ไม่สบายท้อง อารมณ์แปรปรวน เป็นสิว มีจุดเลือดออกกะปริบกะปรอย อารมณ์ทางเพศลดลง ปวดเต้านม คลื่นไส้ จึงควรใช้ยาเลื่อนประจำเดือนตามคำแนะนำของคุณหมอและเภสัชกรอย่างเคร่งครัด หากหยุดยาแล้วประจำเดือนไม่มาตามปกติ ไม่กลับมามีประจำเดือนภายใน 1 สัปดาห์ หรือเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-ovulation]

ยาเลื่อนประจำเดือน ทำงานอย่างไร

ยาเลื่อนประจำเดือนที่นิยมใช้ คือ ยานอร์เอทิสเทอโรน (Norethisterone) เป็นยาในกลุ่มฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่ทำงานโดยการหยุดการเจริญเติบโตของเยื่อบุโพรงมดลูกในระหว่างรอบเดือน และส่งสัญญาณให้ฮอร์โมนภายในมดลูกเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หลุดลอกจากช่องคลอดออกมาเป็นประจำเดือน นอกจากใช้ในการเลื่อนประจำเดือนแล้ว ยังนิยมใช้เพื่อรักษาโรคอื่น ๆ เช่น ภาวะขาดประจำเดือน (Amenorrhea) ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) อีกด้วย

โดยทั่วไป ควรรับประทานยาเลื่อนประจำเดือนนอร์เอทิสเทอโรน (ขนาด 5 มิลลิกรัม) ก่อนวันที่คาดว่าจะมีประจำเดือนประมาณ 3 วัน โดยรับประทานยาวันละ 2 เม็ด (เช้า เย็น) หรือวันละ 3 เม็ด (เช้า กลางวัน เย็น) ไม่ควรรับประทานยานี้ติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ และประจำเดือนจะกลับมาหลังจากหยุดยาประมาณ 2-3 วัน

ทั้งนี้ ความล่าช้าของประจำเดือนและประสิทธิภาพในการเลื่อนประจำเดือนของยานอร์เอทิสเทอโรนอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ยาจะมีประสิทธิภาพในการเลื่อนประจำเดือนสูงสุดเมื่อใช้ในผู้ที่ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ และประสิทธิภาพของยาอาจลดลงเมื่อใช้ในผู้ที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ

ยาเลื่อนประจำเดือน ใช้คุมกำเนิดได้หรือไม่

ยาเลื่อนประจำเดือนอาจช่วยเลื่อนประจำเดือนได้ชั่วคราวเมื่อใช้อย่างถูกวิธี แต่ไม่ใช่วิธีคุมกำเนิดจึงไม่สามารถใช้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ หากผู้ที่ไม่ได้คุมกำเนิดหรือใช้การคุมกำเนิดแบบไม่ใช่ฮอร์โมน เช่น ห่วงอนามัยทองแดง ตัดสินใจใช้ยาเลื่อนประจำเดือน จำเป็นต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น การสวมถุงยางอนามัย ด้วย หากไม่ต้องการตั้งครรภ์

ใครบ้างไม่ควรใช้ยาเลื่อนประจำเดือน

ผู้ที่ไม่ควรใช้ยาเลื่อนประจำเดือน อาจมีดังนี้

  • ผู้ที่มีเนื้องอกในตับ ทำให้ตับทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และตัวยาอาจสะสมอยู่ในตับได้
  • ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม เพราะอาจไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้องอกหรือเชื้อมะเร็งได้
  • ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดในระดับรุนแรง เพราะอาจทำให้เสี่ยงเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตัน
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์หรือสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากยาอาจส่งผลให้ทารกในครรภ์เพศหญิงมีอวัยวะเพศคล้ายเพศชายได้
  • คุณแม่เพิ่งคลอดและคุณแม่ให้นมบุตร เนื่องจากยาอาจปนเปื้อนในน้ำนม ทำให้ทารกเสี่ยงพิการได้
  • ผู้หญิงที่ใช้วิธีคุมกำเนิดแบบฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแปะคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดแบบฝัง

ยาเลื่อนประจําเดือน ผลข้างเคียง มีอะไรบ้าง

แม้ยาเลื่อนประจำเดือนจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เช่น ทำกิจกรรมทางน้ำ เล่นกีฬา แต่ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากใช้ยาเลื่อนประจำเดือนบ่อยเกินไป โดยผลข้างเคียงของการใช้ยาเลื่อนประจำเดือนที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงของรอบประจำเดือน อาจมีดังนี้

  • ไม่สบายท้อง
  • อารมณ์แปรปรวน
  • เป็นสิว
  • มีจุดเลือดออกกะปริบกะปรอย
  • มีอารมณ์ทางเพศน้อยลง
  • คัดตึงเต้านม
  • คลื่นไส้

ดังนั้น ผู้ที่ต้องการใช้ยาเลื่อนประจำเดือน จึงควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรเกี่ยวกับวิธีใช้ยาที่ถูกต้อง และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ก่อนตัดสินใจใช้ยาทุกครั้ง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Norethindrone (Oral Route). https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/norethindrone-oral-route/precautions/drg-20137986?p=1#:~:text=The%20bleeding%20usually%20stops%20within,months%2C%20check%20with%20your%20doctor. Accessed March 20, 2023

Norethindrone for the Delay of Menstruation. https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT03594604. Accessed March 20, 2023

https://www.nhs.uk/common-health-questions/travel-health/how-can-i-delay-my-period/. Accessed March 20, 2023

Norethisterone. https://www.sciencedirect.com/topics/medicine-and-dentistry/norethisterone. Accessed March 20, 2023

Norethindrone AC (LUPANETA) – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-6024/norethindrone-acetate-oral/details. Accessed March 20, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/05/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ประจําเดือนเลื่อน เกิดจาก อะไร อันตรายต่อร่างกายหรือไม่

ประจำเดือนเลื่อน กี่วันถึงจะท้อง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา