backup og meta

ประจำเดือนเลื่อน กี่วันถึงจะท้อง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/06/2022

    ประจำเดือนเลื่อน กี่วันถึงจะท้อง

    ประจำเดือนเลื่อน กี่วันถึงจะท้อง อาจเป็นคำถามที่หลายคนอาจสงสัย ประจำเดือนคือเลือดและเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกและไหลออกทางช่องคลอดในแต่ละรอบเดือนเมื่อไม่มีการตั้งครรภ์ ดังนั้น หากประจำเดือนไม่มาตามปกติ หรือประจำเดือนเลื่อน ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกการตั้งครรภ์ หรือภาวะทางสุขภาพที่ผิดปกติ

    ประจำเดือนเลื่อน กี่วันถึงจะท้อง

    ปกติแล้วประจำเดือนมักจะเกิดขึ้นในทุก ๆ 28 วัน บางคนอาจมีรอบเดือนที่สั้นหรือนานกว่า ประมาณ 21-35 วัน ตามแต่ภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคล แต่หากประจำเดือนเลื่อนประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือ 14 วัน โดยเฉพาะหลังจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ก็อาจมีความเสี่ยงว่าจะตั้งครรภ์ และควรตรวจให้แน่ชัดโดยการใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง หรือเข้ารับการตรวจครรภ์โดยคุณหมอ

    สาเหตุอื่นที่อาจทำให้ประจำเดือนเลื่อน

    • ความเครียด อาจส่งผลให้ฮอร์โมนที่หลั่งจากไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ที่อยู่บริเวณสมอง ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการตกไข่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ประจำเดือนเลื่อน และอาจกลับมาเป็นปกติหากมีความเครียดลดลง
    • ยาคุมกำเนิด เนื่องจากยาคุมกำเนิดมีบทบาทสำคัญที่ช่วยชะลอการตกไข่ และอาจทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เปลี่ยนแปลงซึ่งอาจส่งผลให้ประจำเดือนเลื่อนได้
    • การออกกำลังกายมากเกินไป อาจส่งผลให้ร่างกายเกิดความเครียดและทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตกไข่ และทำให้ประจำเดือนเลื่อน
    • น้ำหนักตัว การมีน้ำหนักลดลงอย่างกะทันหันหรือการมีน้ำหนักเกินอาจส่งผลให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศที่จำเป็นต่อการตกไข่ลดลง ส่งผลให้ประจำเดือนเลื่อน
    • กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ อาจส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป จึงทำให้ไม่สามารถเกิดการตกไข่ได้
    • วัยหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายลดลง ส่งผลให้การตกไข่น้อยลง จนทำให้ประจำเดือนเลื่อน หรืออาจทำให้ไม่มีประจำเดือนโดยสมบูรณ์
    • ยาบางชนิด เช่น ยารักษาจิตเภท ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต ยารักษาโรคภูมิแพ้ เคมีบำบัดมะเร็ง อาจส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเจอโรนลดลง ซึ่งทำให้ไม่เกิดการตกไข่ที่ทำให้ประจำเดือนเลื่อนและประจำเดือนขาด
    • เนื้องอกต่อมใต้สมอง อาจไปรบกวนการทำงานของต่อมใต้สมอง ที่ผลิตฮอร์โมนที่มีหน้าที่ควบคุมการมีประจำเดือน จึงอาจส่งผลให้ประจำเดือนเลื่อนได้

    ควรตรวจครรภ์เมื่อใด

    ควรตรวจครรภ์ทันที หากสังเกตเห็นว่าประจำเดือนไม่มาตรงกับรอบเดือน หรือประจำเดือนเลื่อนนานเกินกว่า 14 วัน ทั้งนี้ อาจสังเกตสัญญาณเตือนการตั้งครรภ์เบื้องต้น เช่น

    • คลื่นไส้
    • อาเจียน
    • เหนื่อยล้าง่าย
    • อ่อนเพลีย
    • อารมณ์แปรปรวน
    • เต้านมขยาย
    • เจ็บเต้านม
    • ปัสสาวะบ่อย
    • ท้องผูก
    • ตกขาวมีเลือดปนหรือเลือดไหลเล็กน้อยทางช่องคลอด ที่ไม่ใช่ประจำเดือน

    วิธีการตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง

    วิธีการตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง อาจแตกต่างกันตามรูปแบบของชุดที่ตรวจครรภ์ ดังนี้

    ชุดทดสอบตั้งครรภ์แบบหยด

    จะประกอบด้วยถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ หลอดหยดสำหรับดูดน้ำปัสสาวะ และตลับทดสอบการตั้งครรภ์

    วิธีใช้ที่ตรวจครรภ์

    • ปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
    • นำหลอดดูดน้ำปัสสาวะ แล้วหยดลงบนตลับการทดสอบที่มีตัวอักษร S ประมาณ 3 หยด สูงสุดไม่เกิน 6 หยด
    • วางทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที หรือตามคำแนะนำที่ระบุข้างผลิตภัณฑ์ เพื่อรอผลทดสอบ

    หากเส้นสีแดงปรากฏตรงกับตัวอักษร C และ T ทั้ง 2 ขีด อาจหมายความว่ากำลังตั้งท้อง แต่หากมีเส้นสีแดงตรงกับตัว C เพียงอักษรเดียว อาจหมายความว่าไม่ได้ตั้งท้อง แต่หากมีเส้นสีที่เจือจาง อาจจำเป็นต้องทำการตรวจใหม่ในเช้าวันถัดไป

    ชุดทดสอบการตั้งครรภ์แบบจุ่ม

    จะมีถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ กระดาษ ตลับทดสอบการตั้งครรภ์ หรือเป็นเครื่องพลาสติกที่มีส่วนปลายไว้จุ่มปัสสาวะ ซึ่งสามารถอ่านผลลัพธ์ได้ภายในชิ้นเดียวกัน

    วิธีใช้ที่ตรวจครรภ์

    • ปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
    • นำกระดาษทดสอบ หรือนำอุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์ส่วนปลายจุ่มลงในปัสสาวะ ไม่เกินขีดที่กำหนด ประมาณ 7-10 วินาที
    • วางกระดาษหรือปิดฝาอุปกรณ์ในพื้นที่สะอาดและแห้งสนิท รอผลลัพธ์ประมาณ 5 นาที หรือตามคำแนะนำที่ระบุข้างผลิตภัณฑ์

    หากเส้นสีแดงปรากฏตรงกับตัวอักษร C เพียงอักษรเดียว อาจหมายความว่าไม่ได้ตั้งท้อง แต่หากมีเส้นสีแดงขึ้นตรงกับตัวอักษร C และ T ทั้ง 2 ขีด อาจหมายความว่ากำลังตั้งท้อง อีกทั้งควรสังเกตสีของเส้นว่ามีความจางไม่ชัดเจนหรือไม่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น อาจจำเป็นต้องตรวจใหม่ในเช้าวันถัดไป

    ข้อควรระวังเกี่ยวกับการตรวจครรภ์

    การตรวจครรภ์ด้วยตัวเองด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ควรตรวจด้วยปัสสาวะแรกของวัน หรือในช่วงเวลาเช้าหลังตื่นนอนทันที เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ปัสสาวะมีความเข้มข้นของฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (hCG) สูง จึงอาจทำให้ทราบผลแม่นยำ อีกทั้งยังไม่ควรดื่มน้ำก่อนการตรวจ เพราะอาจทำให้ปัสสาวะเจือจาง และทำให้ผลคลาดเคลื่อนได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา