backup og meta

ริดสีดวง ติ่งแข็ง อันตรายหรือไม่ ควรรักษาอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 4 สัปดาห์ก่อน

    ริดสีดวง ติ่งแข็ง อันตรายหรือไม่ ควรรักษาอย่างไร

    ริดสีดวง ทวารหนัก เกิดจากการที่หลอดเลือดบริเวณทวารหนักอักเสบจนมีอาการบวม หรือยื่นออกมาเป็น ติ่งแข็ง อยู่ที่บริเวณรูทวาร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการขับถ่าย มักพบได้ในผู้ที่มีปัญหาอาการท้องผูก ไม่ขับถ่ายหลายวัน หรืออาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ หากพบว่าอาจมีอาการของโรคริดสีดวงทวาร ควรเข้ารับการตรวจรักษาโดยคุณหมอในทันที

    ลักษณะของ ริดสีดวง ติ่งแข็ง

    ริดสีดวงเป็นโรคของหลอดเลือดบริเวณปากทวารหนักโป่งพอง อาจเกิดได้จากการอักเสบของหลอดเลือดดำที่ผนังลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย บวมพองยื่นนูนเป็นติ่งออกมา เมื่อเกิดเป็นก้อนเนื้อที่ปากทวารหนัก ติ่งเนื้อนี้อาจบวม ขณะที่เบ่งถ่ายอาจมีเลือดสดออกมาด้วย โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

    1. ริดสีดวงภายใน เกิดบริเวณเนื้อเยื่อทวารหนักที่อยู่สูงกว่าระดับหูรูดทวารหนัก 
    2. ริดสีดวงภายนอก เกิดบริเวณทวารหนักส่วนล่างมีอาการนูนเป็นติ่งออกจากทวารหนัก มองเห็นได้จากภายนอก 

    สาเหตุของโรคริดสีดวงทวารหนัก

    แม้ว่าสาเหตุของริดสีดวงจะยังไม่แน่ชัด แต่พบปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคได้ เช่น

  • เนื้อเยื่อรองรับเบาะรองทวารหนัก ที่ช่วยควบคุมการขับถ่ายเสื่อมสภาพ เกิดการหย่อนตัวลงจากตำแหน่งปกติ ทำให้หลอดเลือดดำขยายตัว 
  • ภาวะท้องผูก ทำให้ต้องเบ่งถ่ายอุจจาระ ซึ่งเป็นการเพิ่มความดันของหลอดเลือดดำ
  • โรคแทรกซ้อน เช่น ตับแข็ง อาการท้องมานในระยะสุดท้าย ทำให้มีน้ำในช่องท้องมาก ส่งผลต่อหลอดเลือดดำ
  • ปัจจัยอื่น เช่น โรคอ้วน เกิดขณะตั้งครรภ์ มีอาการท้องเสียเรื้อรัง และการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก 
  • ระยะของโรคริดสีดวงทวารหนัก

    • ระยะที่ 1 – คลำแล้วพบก้อนอยู่ข้างในรูทวาร 
    • ระยะที่ 2 – มีก้อนหรือติ่งที่รูทวารหนักเป็นบางครั้ง ก้อนนั้นกลับเข้าไปได้เอง
    • ระยะที่ 3 – ก้อนโผล่พ้นปากทวารหนักออกมา แต่ใช้นิ้วดันกลับเข้าไปได้
    • ระยะที่ 4 – ก้อนยื่นออกมา แล้วใช้นิ้วดันกลับเข้าไปไม่ได้

    วิธีรักษาริดสีดวงทวารหนัก

    การรักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก ทำได้หลายวิธี ได้แก่

    • การใช้ยาเหน็บทวารหนัก
    • การกินยาระบายหรือยาที่ทำให้อุจจาระนุ่ม
    • การฉีดยาที่หัวริดสีดวงทวารหนัก 
    • การใช้ยางรัด 
    • การผ่าตัดหัวริดสีดวงทวารหนัก 
    • การใช้แสงเลเซอร์รักษา

    แต่ละวิธีจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค โดยริดสีดวง ติ่งแข็ง แพทย์อาจพิจารณาในการฉีดยา ใช้ยางรัด ใช้แสงเลเซอร์ หรือผ่าตัดหัวริดสีดวงทวารหนัก จึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และทำการรักษาอย่างเหมาะสมกับสภาวะร่างกายของผู้ป่วย

    การรักษาด้วยวิธีอื่น

    ผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวาร สามารถดูแลสุขภาพเพื่อให้อาการริดสีดวงทุเลาลงได้เอง ดังนี้

  • นั่งแช่ในน้ำอุ่นที่ผสมด่างทับทิม โดยผสมเพียงเล็กน้อยให้เกิดสีชมพู แล้วนั่งในน้ำอุ่น 15-30 นาทีต่อวัน โดยนั่งก่อนขับถ่ายอุจจาระและหลังขับถ่ายอุจจาระ 
  • ใช้ยาเหน็บทวารหนักด้วยตนเอง โดยซื้อยาเหน็บรักษาริดสีดวงที่ร้านยาทั่วไป อ่านฉลากยาและศึกษาวิธีใช้อย่างละเอียด ลักษณะของยาเหน็บจะเป็นแท่ง สะดวกต่อการเหน็บยา วิธีเหน็บให้นอนตะแคงเหยียดขาด้านล่างให้ตรง ขาด้านบนงอขึ้น สอดหัวยาเข้าไปช้า ๆ ใช้นิ้วชี้ดันหัวยาลึกประมาณ 1 นิ้วหรือตามคำแนะนำการใช้ วิธีนี้ควรอ่านคู่มือการใช้ยาเหน็บให้เข้าใจ รวมถึงรักษาความสะอาด ล้างมือก่อนใช้ยา
  • แนวทางดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคริดสีดวงทวาร

    1. รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ดีต่อระบบขับถ่าย
    2. ดื่มน้ำสะอาด โดยจิบตลอดทั้งวัน จะช่วยบรรเทาอาการท้องผูก 
    3. ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ลำไส้ได้เคลื่อนไหว ขับถ่ายสะดวกขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 4 สัปดาห์ก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา