backup og meta

ท้องเสียกินอะไรดี เพื่อให้หายท้องเสีย และไม่ควรกินอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 09/09/2022

    ท้องเสียกินอะไรดี เพื่อให้หายท้องเสีย และไม่ควรกินอะไรบ้าง

    ท้องเสียกินอะไรดี? เมื่อท้องเสีย ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ไม่รบกวนการทำงานของระบบย่อยอาหารมากนัก เช่น กล้วย ข้าวโอ๊ต ข้าว แอปเปิล ต้มจืด น้ำซุป โยเกิร์ต และควรดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีเกลือเป็นส่วนผสม เพื่อป้องกันการขาดน้ำ เนื่องจากการขับถ่ายบ่อยจะทำให้ร่างกายเสียน้ำในปริมาณมากกว่าปกติ นอกจากนี้ ผู้ที่ท้องเสียไม่ควรรับประทานอาหารที่ย่อยยากหรือไปกระตุ้นให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนัก เพราะจะทำให้อาการท้องเสียแย่ลงหรือหายช้า เช่น นมและผลิตภัณฑ์จากนมต่าง ๆ ผักสดบางชนิดอย่างถั่ว กะหล่ำปลี เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมทั้งเครื่องดื่มที่หวานจัดเพราะน้ำตาลอาจทำให้อาการท้องเสียแย่ลงได้

    ท้องเสีย มีอาการอย่างไร

    ท้องเสีย หรืออุจจาระร่วง หมายถึง การถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำติดต่อกันหลายครั้ง เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อภายในร่างกาย ผลข้างเคียงจากการใช้ยา การแพ้สารประกอบในอาหาร รวมถึง ปัญหาระบบทางเดินอาหารอย่างโรคลำไส้อักเสบ โรคลำไส้แปรปรวน

    ขณะท้องเสีย ผู้ป่วยอาจมีอาการตัวร้อน ปวดเมื่อยร่างกายร่วมด้วย แต่อาการเหล่านี้มักจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 1-2 วันโดยไม่ต้องไปหาหมอ อย่างไรก็ตาม หากท้องเสียไม่หยุด ปวดท้องรุนแรง ถ่ายเป็นเลือด อาเจียน มีไข้สูงร่วมด้วย ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้อง

    ท้องเสียกินอะไรดี

    เมื่อท้องเสีย ผู้ป่วยควรเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ไม่รบกวนการทำงานของระบบย่อยอาหาร อย่างอาหารกลุ่มแบรท (BRAT Diet) ที่ประกอบด้วย คือกล้วย (Bananas) ข้าว (Rice) ซอสแอปเปิล (Applesauce) และขนมปังปิ้ง (Toast)

    อย่างไรก็ตาม อาหารกลุ่มแบรทมีสารอาหารอื่น ๆ อย่างโปรตีนหรือไขมันในปริมาณต่ำ ดังนั้น การบริโภคอาหารกลุ่มแบรทเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูสุขภาพของระบบทางเดินอาหาร จึงควรรับประทานอาหารอื่น ๆ ร่วมด้วย

    โดยสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatrics) ระบุว่า เด็กที่มีอาการท้องเสียหรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ควรรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยผัก เนื้อสัตว์ และแป้งที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ขนมปังโฮลวีต ปลานึ่ง ข้าวต้ม แครอทต้ม

    สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเสียควรรับประทานอาหารต่าง ๆ เช่น ข้าวโอ๊ต โซดา น้ำแอปเปิล และน้ำซุป รวมถึงอาหารอื่น ๆ ดังนี้

    • เครื่องดื่มบางชนิด เมื่อท้องเสียควรดื่มน้ำให้มาก ๆ หรือดื่มเครื่องดื่มบางชนิดเพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลต่ำ และเครื่องดื่มที่มีเกลือเป็นส่วนผสม โดยเกลือมีคุณสมบัติชะลอการสูญเสียของเหลวภายในร่างกาย ทั้งนี้ หากบริโภคของเหลวได้ไม่เพียงพอกับปริมาณของเหลวที่ร่างกายขับออกไปอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ หากอาการรุนแรงอาจทำให้ไตทำงานแย่ลงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
    • เครื่องดื่มที่ปราศจากแลคโตส (Lactose) แลคโตสเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ที่พบได้ในนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ผู้ที่แพ้น้ำตาลแลคโตสอาจทำให้มีอาการท้องเสียได้ งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับอาหารเพื่อบรรเทาอาการท้องเสียในเด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Public Health ปี พ.ศ. 2556 นักวิจัยได้ศึกษาผลการศึกษาจำนวน 29 ชิ้น และพบข้อสรุปว่า การบริโภคเครื่องดื่มที่ไม่มีแลคโตสอาจช่วยรักษาอาการท้องเสียแบบเฉียบพลันให้หายเร็วขึ้นกว่าการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแลคโตส
    • ใยอาหารที่ละลายน้ำ ซึ่งพบได้ในข้าวโอ๊ต ถั่ว เปลือกผลไม้ แครอท และรำข้าว เมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกาย ใยอาหารชนิดนี้จะดูดน้ำในลำไส้ และทำให้อุจจาระที่เหลวจับตัวเป็นก้อนมากขึ้น ลดการถ่ายเหลว จึงมีส่วนช่วยให้อาการท้องเสียดีขึ้นได้
    • โยเกิร์ต โยเกิร์ตมีโพรไบโอติกส์ (Probiotics) หรือแบคทีเรียและเชื้อราซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งการทำงานของเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสียงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพในการรักษาอาการท้องเสียแบบเฉียบพลันในเด็ก เผยแพร่ในวารสาร Translational Pediatrics ปี พ.ศ. 2564 นักวิจัยได้ศึกษางานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นที่เผยแพร่ระหว่างปี พ.ศ. 2553-2563 และพบข้อสรุปว่า การบริโภคอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ช่วยให้อาการท้องเสียหายเร็วขึ้น และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาอาการท้องเสียหลังผู้ป่วยเข้ารับการรักษาไปแล้ว 2 วัน

    ท้องเสียไม่ควรกินอะไร

    เมื่อท้องเสีย ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารย่อยยากหรืออาหารที่ไปกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร เพราะอาจทำให้อาการท้องเสียรุนแรงขึ้น ได้แก่

    • อาหารที่มีแลคโตส เช่น นม ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำจากนม ยกเว้นโยเกิร์ต
    • อาหารที่มีใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ เช่น มันฝรั่ง ดอกกะหล่ำ ถั่วลันเตา
    • สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น ซอร์บิทอล (Sorbitol)
    • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
    • เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ เหล้า ไวน์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 09/09/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา