backup og meta

วิธีแก้ปวดท้องเมนส์ ด้วยตัวเองทำได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    วิธีแก้ปวดท้องเมนส์ ด้วยตัวเองทำได้อย่างไร

    อาการปวดท้องเมนส์ เป็นเรื่องปกติที่มักเกิดขึ้นในช่วงก่อนหรือระหว่างการมีประจำเดือน ซึ่งอาจมีตั้งแต่อาการปวดเบา ๆ ไปจนถึงอาการปวดรุนแรงที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น จึงควรศึกษา วิธีแก้ปวดท้องเมนส์ เช่น ประคบร้อน รับประทานยาแก้ปวด หรือหากมีอาการปวดอย่างรุนแรงหรือมีอาการปวดที่เพิ่มขึ้นทุกเดือน เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ และอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัดและทำการรักษาอย่างรวดเร็ว

    อาการปวดท้องเมนส์ เกิดจากอะไร

    อาการปวดท้องเมนส์ เกิดขึ้นจากสารพรอสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) ที่ร่างกายผลิตขึ้นเมื่อมีประจำเดือน ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวเพื่อขับเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาเป็นประจำเดือน จึงส่งผลให้รู้สึกปวดท้องเกร็งบริเวณท้องน้อย โดยยิ่งมีสารพรอสตาแกลนดินส์มากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้มีอาการปวดท้องเมนส์มากเท่านั้น

    นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้มีอาการปวดท้องเมนส์ได้ ดังนี้

  • ภาวะปากมดลูกตีบ (Cervical Stenosis) อาจทำให้ประจำเดือนไหลออกจากช่องคลอดยากขึ้น จึงส่งผลให้ความดันภายในมดลูกเพิ่มสูงขึ้น จนนำไปสู่การอาการปวดท้องเมนส์
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ พบได้มากบริเวณรังไข่ ท่อนำไข่ และเนื้อเยื่อบริเวณอุ้งเชิงกราน เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก ( Adenomyosos) ที่อาจส่งผลให้มีอาการปวดคล้ายกับอาการปวดท้องเมนส์
  • อุ้งเชิงกรานอักเสบ ที่อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก ที่อาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆในบริเวณอุ้งเชิงกราน จนส่งผลให้มีอาการปวดท้องลักษณะเดียวกับปวดท้องเมนส์ แต่อาจไม่ได้เกิดในช่วงมีประจำเดือนก็ได้
  • ห่วงคุมกำเนิด เป็นอุปกรณ์คุมกำเนิดที่ทำมาจากทองแดงและพลาสติก ใช้ใส่ในโพรงมดลูกเพื่อช่วยคุมกำเนิด โดยอาจส่งผลให้มีอาการปวดท้องเมนส์ได้ โดยเฉพาะช่วงแรกของการใส่
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนมามาก
  • ผู้ที่เริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อยหรือเมื่อเข้าสู่วัยแรกรุ่น
  • การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • วิธีแก้ปวดท้องเมนส์ ด้วยตัวเอง ทำได้อย่างไร

    วิธีแก้ปวดท้องเมนส์ ด้วยตัวเอง อาจทำได้ดังนี้

    • ประคบร้อน โดยใช้ถุงน้ำร้อนหรือขวดใส่น้ำร้อนและห่อด้วยผ้า วางไว้บนหน้าท้องส่วนล่าง เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเมนส์ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรวางขวดน้ำร้อนบนผิวหนังโดยตรงเพราะอาจทำให้ผิวไหม้และรู้สึกแสบผิวได้
    • พักผ่อน ด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น เล่นเกม อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ ฟังเพลง ดูหนัง นอนหลับ เพื่อช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากอาการปวดท้องเมนส์
    • ออกกำลังกาย เช่น การเดินช้า ๆ ปั่นจักรยาน โยคะ โดยเฉพาะก่อนประจำเดือนมา อาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเมนส์ได้
    • นวดหน้าท้อง การนวดรอบ ๆ หน้าท้องส่วนล่างเบา ๆ อาจช่วยลดอาการปวดท้องเมนส์ได้
    • หยุดสูบบุหรี่และจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยควรดื่มไม่เกิน 1 แก้ว/วัน เพราะอาจทำให้อาการปวดท้องเมนส์แย่ลงและเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่น ตับแข็ง โรคหัวใจ โรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพองและโรคปอดบวม
    • รับประทานยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน โซเดียม (Naproxen sodium) พาราเซตามอล เพื่อลดระดับของสารพรอสตาแกลนดินส์ ที่เป็นสาเหตุทำให้มดลูกบีบตัวจนเกิดการปวดท้องเมนส์ ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเมนส์ โดยสามารถรับประทานได้ทันทีหลังอาหารเมื่อมีอาการ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี ไม่ควรรับประทานยาแอสไพริน นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารไต ตับ และโรคหอบหืด ก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาไอบูโพรเฟน
    • เปลี่ยนรูปแบบการคุมกำเนิด สำหรับผู้ที่มีอาการปวดท้องเมนส์เนื่องจากการใส่ห่วงคุมกำเนิด อาจมีวิธีแก้ปวดท้องเมนส์ได้ด้วยการเปลี่ยนไปใช้วิธีการคุมกำเกิดรูปแบบอื่น เช่น ถุงยางอนามัย ยาคุมแบบฉีด แผ่นแปะคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิดแบบมีฮอร์โมน และยาคุมแบบรับประทาน อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอก่อนเสมอ

    ปวดท้องเมนส์แบบไหน ที่ควรเข้าพบคุณหมอ

    โดยปกติ อาการปวดท้องเมนส์มักเริ่มมีอาการปวดช่วงก่อนเมนส์มา 1-3 วัน หรือใน 1-2 วันแรกที่เป็นเมนส์ ก่อนอาการบรรเทาลงตามลำดับและอาจหายไปเองเมื่อเมนส์หมด แต่สำหรับผู้ที่ยังคงมีอาการปวดท้องเมนส์แม้ว่าจะรับประทานยาแก้ปวดหรือประคบร้อนแล้ว หรือมีอาการปวดท้องเมนส์ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ท้องเสีย ปวดเมื่อยตัว ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น เป็นลมหมดสติ หรืออาการปวดที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆทุกเดือน  เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย ควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เนื้องอก มะเร็ง เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ อุ้งเชิงกรานติดเชื้อและอักเสบ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา