backup og meta

วิธีรักษาหนองใน กับสิ่งที่ควรรู้

วิธีรักษาหนองใน กับสิ่งที่ควรรู้

หนองใน คือ การติดเชื้อแบคทีเรียจากการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางทวารหนัก สำหรับในเพศหญิงอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ปากมดลูกร่วมด้วย หนองในอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ท่อปัสสาวะ ทวารหนัก ลำคอ ผู้ที่ติดเชื้อควรรีบหาวิธีรักษาหนองใน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ในระยะยาว

[embed-health-tool-ovulation]

การวินิจฉัยโรคหนองใน

แม้ไม่มีอาการใด ๆ เกิดขึ้น แต่หากสงสัยว่าอาจเป็นโรคหนองใน ควรเข้าพบคุณหมอภายใน 2-3 วันหลังจากมีเพศสัมพันธ์ การเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาหนองในในระยะแรก อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ การติดเชื้อในอัณฑะ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้อระยะยาวนั้นอาจรักษาได้ยากกว่าการติดเชื้อในระยะแรก

สำหรับการวินิจฉัยโรคหนองใน คุณหมออาจซักประวัติสุขภาพและข้อมูลเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ เช่น จำนวนคู่นอน จากนั้น คุณหมออาจตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างปัสสาวะหรือของเหลวจากบริเวณทีติดเชื้อ และอาจมีการทดสอบสำหรับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) อื่น ๆ ด้วย เช่น การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) ซึ่งเป็นวิธีการเก็บเซลล์เยื่อบุปากมดลูกออกมาตรวจ เพื่อตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก

เมื่อทราบผลว่าเป็นโรคหนองใน สิ่งแรกที่ควรทำคือการแจ้งให้คู่นอนทราบ คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ป่วยแจ้งกับทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ด้วยในช่วง 60 วันที่ผ่านมา หากในช่วง 60 วันที่ผ่านมาผู้ป่วยไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ ให้ติดต่อคนสุดท้ายที่มีเพศสัมพันธ์ด้วย

วิธีรักษาหนองใน

การรักษาหนองในโดยเร็วที่สุดอาจช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ สำหรับวิธีรักษาหนองในอาจแบ่งได้ดังนี้

วิธีรักษาหนองในในผู้ใหญ่

ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหนองในอาจได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria Gonorrhoea) ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อในท่อปัสสาวะช่องคลอด ทวารหนัก หรือลำคอ เป็นชนิดที่ไวต่อยา ยาที่นิยมใช้รักษาหนองในชนิดนี้ เช่น ยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ชนิดฉีด ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ชนิดรับประทาน

หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาปฏิชีวนะกลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin Antibiotics) เช่น เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) คุณหมออาจให้รับประทานยาเจมิฟลอกซาซิน (Gemifloxacin) หรืออาจให้ฉีดยาเจนตามิซิน (Gentamicin) ร่วมกับรับประทานอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin)

วิธีรักษาหนองในสำหรับคู่นอน

คู่นอนของผู้ป่วยอาจต้องได้รับตรวจวินิจฉัยและรักษาหนองใน แม้จะไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมาให้เห็น การรักษาอาจเป็นรูปแบบเดียวกับผู้ป่วย แม้ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาหนองในจนหายแล้ว แต่คู่นอนที่ไม่ได้รับการรักษาก็อาจแพร่เชื้อให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นหนองในอีกได้

หลังจากรักษาหนองในเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยและคู่นอนอาจต้องรออย่างน้อย 7 วันถึงจะมีเพศสัมพันธ์ได้ คุณหมออาจนัดหมายเพื่อติดตามอาการ หากยังมีอาการเกิดขึ้นหลังรักษา 2-3 วัน อาจเป็นไปได้ว่าเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ จึงควรไปพบคุณหมออีกครั้ง ซึ่งคุณหมออาจเพิ่มระยะเวลาในการรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะให้นานขึ้น

วิธีป้องกันหนองใน

วิธีที่อาจช่วยป้องกันหนองในได้ดีที่สุด มีดังนี้

  • ใช้ถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ และอาจช่วยป้องกันการแพร่เชื้อหนองในไปยังผู้อื่น 
  • ไม่ควรมีคู่นอนมากกว่า 1 คน เพราะยิ่งมีคู่นอนมาก ยิ่งมีโอกาสในการติดเชื้อได้มากขึ้น 
  • ห้ามมีเพศสัมพันธ์หากมีอาการติดเชื้อ หรือกำลังรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 
  • เข้าตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก่อนจะมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนใหม่ ซึ่งคู่นอนก็ควรตรวจด้วย เพื่อความปลอดภัย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Gonorrhea. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gonorrhea/diagnosis-treatment/drc-20351780. Accessed October 06, 2021

What’s the Treatment for Gonorrhea?. https://www.webmd.com/sexual-conditions/gonorrhea-treatment. Accessed October 06, 2021

Gonorrhoea. https://www.nhs.uk/conditions/gonorrhoea/treatment/. Accessed October 06, 2021

Gonorrhea. https://www.uofmhealth.org/health-library/hw188975. Accessed October 06, 2021

Gonorrhoea. https://dermnetnz.org/topics/gonorrhoea. Accessed October 06, 2021

Gonorrhea Treatment and Care. https://www.cdc.gov/std/gonorrhea/treatment.htm. Accessed October 06, 2021

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

03/01/2023

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความแตกต่างของ อาการหนองในแท้ ในผู้หญิง และผู้ชาย

หนองในเทียม อาการ สาเหตุ การรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 03/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา