หลอดเก็บอสุจิ หน้าที่ คือ กักเก็บอสุจิที่ผลิตจากอัณฑะให้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ และช่วยลำเลียงให้อสุจิเคลื่อนตัวออกมาเมื่อถึงจุดสุดยอด ซึ่งหลอดเก็บอสุจิจะมีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก ขดทบไปมาอยู่บริเวณด้านหลังของอัณฑะ หากหลอดเก็บอสุจิมีความผิดปกติ อาจส่งผลกระทบต่อการสืบพันธุ์ หรือทำให้เป็นหมันได้
[embed-health-tool-bmr]
หลอดเก็บอสุจิ มีหน้าที่อะไร
หลอดเก็บอสุจิ มีหน้าที่เก็บอสุจิที่ผลิตจากอัณฑะ และช่วยให้อสุจิเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ ซึ่งอาจใช้ระยะเวลา 2-4 สัปดาห์ ในการเดินทางจากปลายหลอดไปยังอีกด้านหนึ่ง ก่อนจะเคลื่อนตัวต่อไปยังท่อนำอสุจิเพื่อเตรียมตัวปล่อยออกมาเมื่อถึงจุดสุดยอด หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันหรือสวมถุงยางอนามัยอาจทำให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ของผู้หญิงจนเกิดการปฏิสนธิ และฝังตัวลงในผนังมดลูกจนเกิดการตั้งครรภ์ได้
ความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับหลอดอสุจิ
ความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับหลอดอสุจิที่มีหน้าที่กักเก็บอสุจิ คือ ภาวะหลอดเก็บอสุจิอักเสบ (Epididymitis) ที่อาจเกิดจากสาเหตุ ดังต่อไปนี้
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่ส่งผลให้หลอดเก็บอสุจิอักเสบหรือเกิดความผิดปกติ
- การติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อที่ต่อมลูกหมาก การติดเชื้อไวรัสคางทูม ที่อาจแพร่กระจายไปยังหลอดเก็บอสุจิและท่อนำอสุจิ จนส่งผลให้เกิดการอักเสบ
- อุบัติเหตุหรือการผ่าตัด เช่น การทำหมัน การบาดเจ็บบริเวณขาหนีบ อาจกระทบต่อหลอดเก็บอสุจิ และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเก็บอสุจิอักเสบ
- การติดเชื้อไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) ที่เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาจทำให้เกิดวัณโรค อาจส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเก็บอสุจิอักเสบได้ด้วยเช่นกัน
สัญญาณเตือนของภาวะหลอดเก็บอสุจิอักเสบ มีดังนี้
- อัณฑะบวมแดง
- รู้สึกปวดอัณฑะ
- เจ็บแสบขณะปัสสาวะและปัสสาวะบ่อยครั้ง
- ปวดท้องส่วนล่างและปวดอุ้งเชิงกราน
- มีของเหลวไหลจากองคชาต
- อสุจิปนเลือด
- มีไข้
อาการผิดปกติของหลอดเก็บอสุจิที่ควรพบคุณหมอ
หากสังเกตว่ามีอาการอัณฑะบวม มีของเหลวไหลออกจากองคชาต และรู้สึกเจ็บปวดขณะปัสสาวะ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาทันที เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะหลอดเก็บอสุจิอักเสบเรื้อรังที่อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน เช่น ฝีในถุงอัณฑะ ลูกอัณฑะอักเสบ ภาวะมีบุตรยาก
วิธีดูแลหลอดเก็บอสุจิ
วิธีดูแลหลอดเก็บอสุจิที่มีหน้าที่กักเก็บอสุจิ อาจทำได้ดังนี้
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจทำให้เกิดภาวะหลอดเก็บอสุจิอักเสบ
- เลือกกางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้าย ระบายอากาศได้ดี และไม่รัดแน่นบริเวณอัณฑะมากเกินไป
- หากรู้สึกเจ็บปวดอัณฑะควรรับประทานยาแก้ปวดทันที เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือขอคำแนะนำจากคุณหมอ ไม่ควรปล่อยให้มีอาการปวดเป็นเวลานาน เพราะอาจนำไปสู่ภาวะหลอดเก็บอสุจิเรื้อรัง
- ประคบบริเวณขาหนีบด้วยผ้าห่อน้ำแข็งเมื่อรู้สึกเจ็บปวดจากการผ่าตัด หรืออุบัติเหตุ เพื่อช่วยทำให้บริเวณที่ได้รับผลกระทบชาและบรรเทาอาการปวด
- เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีและตรวจคัดกรองโรค