backup og meta

แบ่งปัน

หรือ คัดลอกลิงก์

หลั่งกี่ครั้งถึงจะท้อง ข้อควรรู้สำหรับคนอยากมีลูกและยังไม่พร้อมมีลูก

หลั่งกี่ครั้งถึงจะท้อง ข้อควรรู้สำหรับคนอยากมีลูกและยังไม่พร้อมมีลูก

หลั่งกี่ครั้งถึงท้อง เป็นคำถามชวนสงสัยสำหรับคนอยากมีลูก โดยปกติผู้หญิงสามารถตั้งท้องได้จากการหลั่งน้ำอสุจิในช่องคลอดเพียงแค่ครั้งเดียว แต่การหลั่งน้ำอสุจิในช่องคลอดบ่อยครั้งขึ้น จะยิ่งเพิ่มจำนวนอสุจิที่แข็งแรงเพื่อรอผสมกับไข่ และช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งท้องมากขึ้นเช่นกัน

[embed-health-tool-ovulation]

หลั่งกี่ครั้งถึงจะท้อง

การตั้งครรภ์จำเป็นต้องใช้อสุจิ 1 ตัว และไข่ 1 ฟอง เพื่อสร้างตัวอ่อนในครรภ์  ซึ่งโดยเฉลี่ยการหลั่งน้ำอสุจิ 1 ครั้ง อาจมีตัวอสุจิมากกว่า 100 ล้านตัว อีกทั้งตัวอสุจิสามารถมีชีวิตอยู่ในช่องคลอดเพื่อรอผสมกับไข่ได้นานประมาณ 3-5 วัน ดังนั้น การมีเพศสัมพันธ์และหลั่งภายในช่องคลอดแม้เพียงครั้งเดียวก็อาจมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้ อย่างไรก็ตาม การมีเพศสัมพันธ์และการหลั่งในช่องคลอดบ่อยครั้งสามารถช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์มากขึ้น

ข้อควรรู้สำหรับคนอยากมีลูก

ปริมาณและคุณภาพของอสุจิส่งผลอย่างมากต่อการตั้งครรภ์ เนื่องจากยิ่งตัวอสุจิมีปริมาณมากโอกาสในการมีชีวิตรอดและเดินทางไปยังไข่ย่อมมีมากขึ้น นอกจากนี้ คุณภาพของตัวอสุจิทั้งรูปร่างและการเคลื่อนไหว ส่งผลดีต่อการเคลื่อนตัวที่รวดเร็วและความแข็งแรงของตัวอสุจิมากขึ้น ทำให้อสุจิมีชีวิตรอดจนถึงไข่ได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน สิ่งที่ควรรู้เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ มีดังนี้

วิธีเพิ่มปริมาณและความแข็งแรงของอสุจิ

วิธีที่อาจช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของอสุจิ อาจมีดังนี้

  • รักษาอุณหภูมิของอัณฑะให้เย็นอยู่เสมอ เพื่อให้การผลิตอสุจิดีขึ้นควรทำให้ถุงอัณฑะมีอุณหภูมิที่เย็นสบายหรือมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าร่างกายส่วนอื่น เพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิตายด้วยความร้อน โดยอาจใช้วิธีหลีกเลี่ยงการนั่งนิ่ง ๆ เป็นเวลานาน พยายามลุกเดินหรือขยับตัวบ่อย ๆ เพื่อระบายความร้อน และพยายามไม่สวมกางเกงที่คับแน่นเกินไป
  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายอาจช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศและเพิ่มจำนวนอสุจิได้ เนื่องจากการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงเซลล์ทำให้อสุจิแข็งแรงขึ้น
  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การรับประทานอาหารที่อุดมไปสารอาหารหลากหลาย เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว ปลา ไข่ โยเกิร์ต นมถั่วเหลือง ข้าว และหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงและโปรตีน เช่น เนื้อแดง เนื้อแปรรูป อาจช่วยเพิ่มคุณภาพของตัวอสุจิให้แข็งแรงขึ้น
  • จัดการกับความเครียด ความเครียดอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก ดังนั้นจึงควรจัดการกับความเครียดด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อผ่อนคลาย เช่น ทำงานอดิเรก เดินเล่น ออกกำลังกาย ร้องเพลง นั่งสมาธิ ทำสวน อาจช่วยเพิ่มจำนวนอสุจิและเพิ่มคุณภาพการเคลื่อนไหวของอสุจิให้ดีขึ้น
  • งดสูบบุหรี่และใช้สารเสพติด เช่น โคเคน เฮโรอีน ที่อาจส่งผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ และควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป เพื่อช่วยเพิ่มจำนวน ความแข็งแรง การเคลื่อนไหวและรูปร่างของตัวอสุจิที่ดีขึ้น

เคล็ดลับเพิ่มโอกาสในการมีลูก

  • งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เนื่องจากอาจส่งผลต่อภาวะเจริญพันธ์ ทำให้จำนวนและคุณภาพของอสุจิลดลง รวมทั้งอาจทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัวเท่าที่ควร การงดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงอาจช่วยปรับสมดุลของภาวะเจริญพันธ์ให้เป็นปกติ และเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิด ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาเคมีบำบัด อาจส่งผลต่อภาวะเจริญพันธ์ในผู้ชาย ทำให้จำนวนและคุณภาพอสุจิลดลง ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อเปลี่ยนยาหากจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อรักษาโรค
  • ควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในค่า BMI 18.5-22.90 ซึ่งเป็นเกณฑ์น้ำหนักปกติ เนื่องจากการมีน้ำหนักตัวมากเกินไปอาจส่งผลต่อคุณภาพและจำนวนอสุจิที่ลดลง รวมถึงอาจทำให้ความต้องการทางเพศลดลงตามไปด้วย การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้วยังช่วยเพิ่มภาวะเจริญพันธ์อีกด้วย
  • จัดการกับความเครียด เนื่องจากความเครียดอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก ที่อาจลดความต้องการทางเพศและความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ อาจส่งผลต่อสุขภาพอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติและอาจทำให้อสุจิไม่แข็งแรงได้เช่นกัน ดังนั้น การสร้างสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัวโดยการหากิจกรรมทำร่วมกัน เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง ร้องเพลง ทำสวน อาจช่วยจัดการความเครียด และเพิ่มโอกาสในการมีเพศสัมพันธ์และตั้งครรภ์มากขึ้น

ข้อควรรู้สำหรับคนยังไม่พร้อมมีลูก

สิ่งที่ควรรู้เพื่อลดโอกาสการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ มีดังนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์
  • ใช้สารหล่อลื่นที่เหมาะสมกับถุงยางอนามัย เช่น เบบี้ออย เจลปิโตรเลียม โลชั่น เพื่อป้องกันถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพและแตกง่ายขณะใช้งาน
  • ใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น เช่น ยาคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิด ฉีดยาคุมกำเนิด เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์
  • หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ถุงยางแตก หรือลืมกินยาคุมกำเนิดแบบปกติ ให้รีบกินยาคุมกำเนิดฉุกเฉินทันทีหรือไม่เกิน 72 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ ไม่ควรกินมากกว่า 2 แผง (4 เม็ด) ภายในรอบเดือนเดียว เนื่องจากยาจะส่งผลให้ระบบสืบพันธุ์สร้างฮอร์โมนผิดปกติ
  • นับวันตกไข่หน้า 7 หลัง 7 โดยนับ 7 วันก่อนมีประจำเดือนและ 7 วันหลังประจำเดือนหมด ในช่วงนี้เป็นระยะปลอดภัยที่ไม่มีการตกไข่ แต่วิธีนี้อาจไม่ได้ผลเสมอไปเนื่องจากบางคนอาจไม่ทราบระยะไข่ตกที่แน่ชัดได้ โดยเฉพาะคนที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจไม่สามารถใช้วิธีนี้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์
  • หลั่งนอก วิธีนี้อาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้เนื่องจากน้ำอสุจิอาจไม่เข้าไปในช่องคลอด แต่ไม่เสมอไปเนื่องจากตัวอสุจิอาจอยู่ในน้ำหล่อลื่นที่ออกมาระหว่างมีเพศสัมพันธ์และทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน และวิธีนี้ยังไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Optimizing Male Fertility. https://www.reproductivefacts.org/news-and-publications/patient-fact-sheets-and-booklets/documents/fact-sheets-and-info-booklets/optimizing-male-fertility/. Accessed January 21, 2022

Sperm FAQ. https://www.webmd.com/infertility-and-reproduction/guide/sperm-and-semen-faq#:~:text=How%20many%20sperm%20do%20you,release%20nearly%20100%20million%20sperm. Accessed January 21, 2022

What Helps With Sperm Count and Quality?. https://www.webmd.com/infertility-and-reproduction/guide/sperm-count. Accessed January 21, 2022

How can I improve my chances of becoming a dad?. https://www.nhs.uk/common-health-questions/mens-health/how-can-i-improve-my-chances-of-becoming-a-dad/.  Accessed January 21, 2022

Sperm health. https://www.healthymale.org.au/mens-health/sperm-health. Accessed January 21, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/01/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล

avatar

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/01/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา