backup og meta

อาการก่อนเมนส์มา มีอะไรบ้าง และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/08/2022

    อาการก่อนเมนส์มา มีอะไรบ้าง และควรดูแลตัวเองอย่างไร

    อาการก่อนเมนส์มา อาจแตกต่างกันออกไป เช่น ปวดท้องน้อย เหนื่อยล้าง่าย วิงเวียนศีรษะ เจ็บเต้านม ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่มีหน้าที่กระตุ้นให้รังไข่ผลิตไข่และปล่อยไข่ออกมา รวมถึงกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ แต่หากไม่มีการตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนทั้งสองจะลดลง ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดและไหลออกมาเป็นประจำเดือน อาการก่อนเมนส์มาเป็นเรื่องปกติ และมักเป็นช่วงก่อนมีประจำเดือน 5-11 วัน และอาการพวกนี้จะเริ่มดีขึ้นได้หลังประจำเดือนมา 4-7 วัน

    อาการก่อนเมนส์มา มีอะไรบ้าง

    อาการก่อนเมนส์มา อาจมีดังนี้

    • ปวดศีรษะ อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้มีอาการปวดศีรษะหรือเป็นไมเกรนก่อนเมนส์มา
    • สิวขึ้น อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแอนโดรเจน ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน และฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนเมนส์มา จนส่งผลต่อการผลิตน้ำมันส่วนเกินบนใบหน้า ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้สิวขึ้น โดยเฉพาะบริเวณคางและกราม
    • เจ็บเต้านม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน และโปรแลคติน (Prolactin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ถูกผลิตขึ้นจากต่อมใต้สมอง เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลังตกไข่ก่อนเมนส์มา ส่งผลให้มีอาการเต้านมขยาย เจ็บเต้านม หรือหัวนมเมื่อสัมผัสหรือเสียดสีกับเสื้อผ้า
    • อารมณ์แปรปรวน ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอาจส่งผลให้เกิดอารมณ์แปรปรวน เช่น เดี๋ยวหงุดหงิด เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวหัวเราะ กลับไปกลับมา
    • เหนื่อยล้าง่ายและนอนหลับยาก การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน อาจทำให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อยล้าง่าย และทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น จึงส่งผลให้รู้สึกไม่สบายตัว และอาจทำให้นอนไม่หลับได้
    • ปวดท้องเกร็ง อาจเกิดจากการที่กล้ามเนื้อมดลูกหดตัวเพื่อเตรียมขับเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาเป็นเมนส์ จึงส่งผลให้บางคนอาจรู้สึกปวดท้องเกร็งบริเวณท้องน้อย และอาจปวดต่อเนื่องไปจนถึงช่วงที่เมนส์มาและช่วงที่เมนส์ใกล้หมด
    • ท้องผูก ท้องเสีย หรือท้องอืด เกิดจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) หรือฮอร์โมนแห่งความสุข ส่วนใหญ่จะถูกสร้างและอยู่ที่ระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบย่อยอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องผูก หรือท้องอืด ก่อนเมนส์มา และอาจมีอาการต่อเนื่องในระหว่างที่กำลังเป็นเมนส์

    การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการก่อนเมนส์มา

    การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการก่อนเมนส์มา อาจทำได้ดังนี้

  • ผู้ที่มีอาการปวดท้องน้อยควรประคบด้วยถุงน้ำร้อน หรือแผ่นทำความร้อนครั้งละ 3-5​ นาที
  • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง/วัน เพื่อลดอาการเหนื่อยล้า
  • ทำกิจกรรมที่ชอบเพื่อลดความเครียด ลดอาการวิตกกังวล และช่วยปรับอารมณ์ให้คงที่ เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง เล่นเกมส์ ฟังเพลง
  • สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บเต้านม ควรหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้ารัดรูปและควรเลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย รวมถึงสวมเสื้อชั้นในแบบไร้โครงหรือแบบสปอร์ตบรา เพื่อลดการเสียดสีและช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดเต้านม
  • ควรเลือกรับประทานอาหารอาหารจำพวกผักและผลไม้ และอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ตอีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพื่อลดการสะสมของเหลวที่อาจทำให้ท้องอืด ท้องเสียและท้องผูกได้
  • ควรแบ่งรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อช่วยป้องกันอาการท้องอืด
  • ออกกำลังกาย อย่างน้อย 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์ เพื่อช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า และช่วยลดความเครียด
  • รับประทานยา เช่น ยากล่อมประสาท ที่อาจช่วยควบคุมภาวะอารมณ์แปรปรวน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดท้องน้อย ยาขับปัสสาวะที่อาจช่วยขับของเหลวส่วนเกินออกและบรรเทาอาการท้องอืด และยาคุมกำเนิด ที่ช่วยยับยั้งการตกไข่ อย่างไรก็ตาม ควรขอคำแนะนำและแจ้งอาการให้คุณหมอทราบ เพื่อรับยารักษาให้เหมาะสมกับอาการที่เป็น นอกจากนี้ วิตามินบี6 และวิตามินอี ช่วยลดอาการซึมเศร้าและอาการทางกายได้
  • อาการก่อนเมนส์มาแบบไหนที่ควรพบคุณหมอ

    ควรพบคุณหมอทันที หากสังเกตว่าตนเองมีอาการผิดปกติ เช่น มือเท้าบวม การมองเห็นเปลี่ยนแปลง มีความเครียดสูง ไม่มีสมาธิ แขนขาชาหรือรู้สึกเสียวซ่า กล้ามเนื้อกระตุก น้ำหนักเพิ่มกะทันหัน ใจสั่น เป็นลมบ่อยครั้ง รวมถึงผู้ที่มีอารมณ์แปรปรวนเกินกว่าจะควบคุมและมีอาการซึมเศร้า เพราะอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตัวเองและผู้อื่นได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/08/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา