backup og meta

ไข้ทับระดู อาการป่วยเมื่อเป็นประจำเดือนที่ควรรู้

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 23/11/2022

    ไข้ทับระดู อาการป่วยเมื่อเป็นประจำเดือนที่ควรรู้

    ไข้ทับระดู เป็นปัญหาสุขภาพหญิงที่พบได้ในผู้หญิงที่ยังอยู่ในวัยมีประจำเดือน มักเกิดขึ้นในช่วงก่อนหรือช่วงที่กำลังเป็นประจำเดือน โดยทั่วไปอาการจะไม่รุนแรงนักและสามารถหายได้เองจากการรับประทานยาลดไข้ หรือยาแก้ปวด สาเหตุอาจเกิดจากระดับฮอร์โมนภายในร่างกายแปรปรวนในช่วงมีประจำเดือน แต่หากมีอาการที่รุนแรง เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน มีตกขาวผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณช่องคลอด ซึ่งควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและรักษาให้ทันท่วงที

    ไข้ทับระดู คืออะไร

    ไข้ทับระดู เป็นอาการป่วยที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนและระหว่างเป็นประจำเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนแอและมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้เกิดอาการป่วยไข้ได้ ไข้ทับระดูแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

  • ไข้ทับระดูทั่วไปที่ทำให้เกิดอาการไข้ต่ำ ๆ รู้สึกไม่สบายตัว ปวดท้อง ปวดหลัง โดยทั่วไปสามารถหายได้เองหลังรักษาเบื้องต้น เช่น รับประทานยาลดไข้ หรือยาแก้ปวด
  • ไข้ทับระดูที่มีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย ทำให้เกิดอาการที่รุนแรงกว่า เช่น เกิดไข้สูง หนาวสั่น วิงเวียนศีรษะ มีตกขาวผิดปกติ สาเหตุอาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา อาจต้องรักษาตามเชื้อที่พบ เช่น หากเป็นเพราะการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจใช้ยาปฏิชีวนะตามใบสั่งยาเพื่อฆ่าเชื้อ
  • ไข้ทับระดู เกิดจากอะไร

    ไข้ทับระดู เป็นอาการไข้หรือความรู้สึกไม่สบายตัวที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหรือช่วงที่เป็นประจำเดือน ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในร่างกายแปรปรวนอย่างมาก ส่งผลให้ร่างกายเสียสมดุลและมีอาการป่วยในระหว่างที่เป็นประจำเดือน นอกจากนี้ ในระหว่างที่มีประจำเดือน สารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ที่อยู่ในเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นให้มดลูกมีการบีบตัวเพื่อขับเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น จึงอาจส่งผลให้ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ ไปจนถึงปวดท้องน้อยได้

    ภาวะแทรกซ้อนของไข้ทับระดู

    ช่วงที่ผู้หญิงเป็นประจำเดือน ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะอ่อนแอกว่าปกติ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และอาจเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงตามมา เช่น ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease หรือ PID) ซึ่งเป็นภาวะติดเชื้อที่ระบบสืบพันธุ์ส่วนบนของเพศหญิง ได้แก่ มดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ และเยื่อบุช่องท้อง นอกจากนี้ ไข้ทับระดูที่มีอาการรุนแรงยังอาจเกิดจากโรคปีกมดลูกอักเสบ ที่มีการติดเชื้อบริเวณมดลูก ปีกมดลูก และท่อนำไข่ ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ล้วนเกิดจากแบคทีเรียที่ชื่อว่า เชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia trachomatis) ที่อาจติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ และการทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศอย่างไม่ถูกวิธีในช่วงที่เป็นประจำเดือน

    อาการไข้ทับระดู

    ไข้ทับระดูหรืออาการป่วยระหว่างมีประจำเดือน อาจส่งผลให้เกิดอาการดังนี้

    • ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • ปวดกล้ามเนื้อหรือเป็นตะคริวบ่อย
    • ปวดข้อ
    • รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบายตัว
    • ท้องอืด
    • ปวดท้องน้อย
    • ปวดหลัง

    ในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน อาการไข้ทับระดูอาจมีความรุนแรงมากกว่าปกติ เช่น

    • มีไข้หรือหนาวสั่นในช่วงที่เป็นประจำเดือน
    • มีตกขาวปนหนอง มีตกขาวในปริมาณมากกว่าปกติ หรือตกขาวมีกลิ่นเหม็น
    • ท้องเสียหรือท้องร่วง

    ควรไปพบคุณหมอเมื่อไหร่

    หากมีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะหรือวิงเวียนศีรษะอย่างหนัก พร้อมตกขาวผิดปกติไปจากเดิม อาจต้องรีบไปพบคุณหมอเพื่อรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณช่องคลอด หากปล่อยไว้ไม่รักษาอย่างทันท่วงที เชื้ออาจกระจายไปยังอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนอื่นที่ยังไม่ติดเชื้อ เช่น รังไข่ ท่อนำไข่ ปีกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูก จนอวัยวะเหล่านั้นอักเสบ และอาจทำให้เสี่ยงมีบุตรยากในอนาคต รวมไปถึงอาจเสี่ยงติดเชื้อรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้

    การดูแลตัวเองเมื่อเป็นไข้ทับระดู

    การดูแลตัวเองเมื่อเป็นไข้ทับระดู อาจทำได้ดังนี้

    • ใช้ยาแก้ปวดแผนปัจจุบัน เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อรักษาอาการปวดและลดไข้ที่เกิดระหว่างเป็นประจำเดือน
    • ใช้ยาจันทน์ลีลาซึ่งเป็นยาแผนโบราณในการบรรเทาปวด ลดไข้ และแก้อักเสบได้ สามารถใช้ได้ผลในผู้ที่มีอาการไข้ทับระดู โดยรับประทานครั้งละ 1 – 2 กรัม ละลายในน้ำ ทุก 3 – 4 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ
    • นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 7 ชั่วโมงเพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์ในช่วงที่เป็นประจำเดือน อีกทั้งการพักผ่อนอย่างเพียงพอยังช่วยลดอาการอารมณ์แปรปรวนและความวิตกกังวล ที่ทำให้ปวดศีรษะและรู้สึกวิงเวียนศีรษะได้
    • เปลี่ยนผ้าอนามัยวันละ 3-4 แผ่น โดยอาจเปลี่ยนทุก ๆ 4 ชั่วโมงเพื่อสุขอนามัยที่ดี นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดอวัยวะเพศให้สะอาดและเช็ดให้แห้งเมื่อเข้าห้องน้ำในช่วงเป็นประจำเดือน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด
    • รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีส่วนช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์เมื่อมีประจำเดือน เช่น อาหารที่มีธาตุเหล็กอย่างโยเกิร์ต ผักใบเขียว อาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น ปลา ถั่ว อาหารที่เป็นธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น ขนมปังโฮลเกรน ข้าวกล้อง นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อแทนการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ๆ เพื่อปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 23/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา