อาการแพ้ยาคุม เป็นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่มีต่อส่วนประกอบของยาคุมกำเนิด อย่างฮอร์โมนหรือสีสังเคราะห์ ผู้ที่แพ้ยาคุมอาจมีผื่นขึ้นตามลำตัว สิวขึ้น คัน น้ำตาไหล ปวดหัว หรือคลื่นไส้ ทั้งนี้ เมื่อมีอาการแพ้ยาคุม ควรหยุดใช้ยาทันทีแล้วปรึกษาคุณหมอ โดยคุณหมออาจแนะนำให้ผู้ที่แพ้ยาคุมเลือกคุมกำเนิดวิธีอื่น หรืออาจจ่ายยาแก้แพ้ให้เพื่อบรรเทาอาการแพ้
[embed-health-tool-ovulation]
ยาคุมกำเนิด คืออะไร
ยาคุมกำเนิด เป็นยาเม็ดรับประทานเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์สำหรับผู้ที่ไม่พร้อมมีบุตร โดยมีส่วนประกอบหลักเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายและกระบวนการตกไข่ หรือป้องกันเซลล์อสุจิเดินทางไปปฏิสนธิกับไข่ ด้วยการเพิ่มความหนาของเมือกบริเวณปากมดลูก
ทั้งนี้ ยาคุมกำเนิดชนิดต่าง ๆ ที่มีจำหน่ายตามร้านขายยา ได้แก่
- ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม (Combined Oral Contraceptive) หรือยาคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสติน (Progestin) ในอัตราส่วนต่าง ๆ กัน โดยขึ้นอยู่กับสูตรหรือยี่ห้อของยา
- ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดียว (Progestin Only Pill) เป็นยาคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว มักใช้ในหญิงระยะให้นมบุตรหรือผู้ที่มีอาการข้างเคียงเมื่อได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน
- ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Emergency Pill) เป็นยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนสูง ใช้สำหรับป้องกันการตั้งครรภ์ในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือการควบคุมด้วยวิธีอื่นเกิดผิดพลาด เช่น ถุงยางอนามัยขาด ถุงยางอนามัยหลุด ขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยยาคุมฉุกเฉินที่นิยมใช้กันทั่วไปคือ ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ซึ่งต้องบริโภคภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ และรับประทานอีกเม็ดใน 12 ชั่วโมงให้หลัง หรืออาจรับประทานยาทั้ง 2 เม็ดพร้อมกันในคราวเดียวภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ และไม่ควรรับประทานบ่อยเพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้
อาการแพ้ยาคุมเกิดจากอะไร
อาการแพ้ยาคุมเป็นอาการที่พบได้ไม่บ่อย หรือในอัตราต่ำกว่า 1 ใน 1,000 ของผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดทั้งหมด โดยเกิดจากการตอบสนองอย่างผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต่อส่วนประกอบของยาคุมกำเนิด อย่างฮอร์โมนหรือสีสังเคราะห์
ทั้งนี้ อาการแพ้ยาคุม แตกต่างกับผลข้างเคียงเมื่อใช้ยาคุมกำเนิดที่มักมีอาการเจ็บเต้านม ปวดหัว คลื่นไส้ มีเลือดออกทางช่องคลอด เนื่องจากอาการดังกล่าวเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน
อย่างไรก็ตาม อาการแพ้ยาคุม อย่างอาการปวดหัวหรือคลื่นไส้ อาจเป็นอาการที่คล้ายกับผลข้างเคียงเมื่อใช้ยาคุม ดังนั้น หากสงสัยว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุมหรืออาการแพ้ยาคุม ควรปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ
อาการแพ้ยาคุมเป็นอย่างไร
โดยปกติ อาการแพ้ยาคุมจะเกิดขึ้นทันที หรือไม่นานหลังจากใช้ยา โดยอาการอาจคงอยู่เป็นเวลานานหลายชั่วโมง หลายวัน หรือหลายสัปดาห์
อาการแพ้ยาคุมที่พบบ่อย ๆ ประกอบด้วย
- ลมพิษ หรือผื่นตามผิวหนัง
- อาการคัน
- ไข้ขึ้น
- น้ำมูกไหล
- อาการบวมของใบหน้า ลำตัว ปาก และลำคอ
- หายใจถี่ และหายใจมีเสียง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- คันตาและมีน้ำตาไหล
นอกจากนี้ อาการแพ้ยาคุมอาจรุนแรงมากขึ้นจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ควรสังเกตตนเองหลังใช้ยาคุม หากมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใด ควรรีบไปพบคุณหมอ โดยอาการแพ้ยาคุมรุนแรง ได้แก่
- แน่นหน้าอก
- หายใจลำบาก
- ความดันโลหิตต่ำ
- ชีพจรอ่อน
- สับสน
- ชัก
- หมดสติ
อาการแพ้ยาคุม รักษาอย่างไร
โดยทั่วไป เมื่อมีอาการแพ้ยาคุม ควรหยุดรับประทานยาทันที และไปพบคุณหมอ โดยคุณหมอมักแนะนำให้เปลี่ยนตัวยา หรือเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นแทน เช่น การใช้ถุงยางอนามัย ห่วงคุมกำเนิด การทำหมัน
นอกจากนี้ อาการแพ้ยาคุม อาจรักษาได้วิธีการต่อไปนี้
- ยาต้านฮิสตามีน (Histamine) เป็นยาที่คุณหมอมักจ่ายให้คนไข้เพื่อรักษาอาการแพ้ต่าง ๆ โดยยาต้านฮิสตามีน มีคุณสมบัติยับยั้งการออกฤทธิ์ของสารฮิสตามีนซึ่งเป็นสารที่หลั่งจากระบบภูมิคุ้มกันเมื่อมีอาการแพ้ แล้วทำให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นยาแก้อักเสบ มีคุณสมบัติบรรเทาอาการแพ้ต่าง ๆ
- ยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) หรืออะดรีนาลีน (Adrenaline) โดยฉีดเข้าสู่ร่างกายเพื่อยับยั้งปฏิกิริยาภูมิแพ้โดยเฉพาะในกรณีของผู้ป่วยที่มีภาวะแพ้รุนแรง ทั้งนี้ การฉีดอิพิเนฟริน 1 ครั้ง จะมีผลประมาณ 1 ปี ดังนั้น เมื่อครบปีแล้ว ผู้ที่แพ้ยาคุมอย่างรุนแรง จึงควรเข้ารับการฉีดยาอิพิเนฟรินอีกครั้งเพื่อป้องกันอาการแพ้อย่างรุนแรงเกิดซ้ำ