backup og meta

วงจรการตอบสนองทางเพศ ทั้ง 4 ระยะ มีอะไรบ้าง

วงจรการตอบสนองทางเพศ ทั้ง 4 ระยะ มีอะไรบ้าง

วงจรการตอบสนองทางเพศ (Sexual Response Cycle) หมายถึง ลำดับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับการกระตุ้นทางเพศหรือเมื่อทำกิจกรรมทางเพศ เช่น มีเพศสัมพันธ์ ช่วยตัวเอง ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่ มีอารมณ์ (Excitement) ความตื่นตัว (Plateau) การถึงจุดสุดยอด (Orgasm) และกลับสู่ภาวะปกติ (Resolution) การเรียนรู้เกี่ยวกับวงจรการตอบสนองทางเพศในแต่ละช่วง อาจสามารถช่วยทำให้ความสัมพันธ์กับคนรักดีขึ้นได้

[embed-health-tool-ovulation]

วงจรการตอบสนองทางเพศ คืออะไร

วงจรการตอบสนองทางเพศ มี 4 ระยะ ได้แก่

  • มีอารมณ์
  • ความตื่นตัว
  • การถึงจุดสุดยอด
  • กลับสู่ภาวะปกติ

ทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะมี 4 ระยะนี้เกิดขึ้นในวงจรการตอบสนองทางเพศ แต่ระยะเวลาจะต่างกัน ตัวอย่างเช่น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คู่รักจะถึงจุดสุดยอดพร้อมกัน นอกจากนี้ความรุนแรงของการตอบสนอง และเวลาที่ใช้ในแต่ละระยะ จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งการเข้าใจความแตกต่างนี้อาจช่วยให้คู่รักเข้าใจร่างกาย และการตอบสนองของอีกฝ่ายมากขึ้น

ระยะที่ 1 เกิดอารมณ์

โดยทั่วไประยะที่ 1 จะสามารถคงอยู่ตั้งแต่เวลาเพียงไม่กี่นาที จนถึงเวลาหลายชั่วโมง โดยมีลักษณะดังนี้

  • ความตึงเครียดของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น
  • อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นและหายใจเร็วขึ้น
  • ผิวอาจมีสีเลือดฝาด (ผิวที่หน้าอกหรือหลังแดงขึ้น)
  • หัวนมตั้งขึ้นหรือแข็งขึ้น
  • เลือดไหลเวียนไปยังอวัยวะเพศมากขึ้น ส่งผลให้คลิตอริส (Clitoris) และแคมเล็ก (Labia Minora) ในอวัยวะเพศหญิงจะบวมขึ้น และในเพศชายจะเกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย
  • เกิดสารหล่อลื่นตามธรรมชาติในช่องคลอด
  • หน้าอกของผู้หญิงจะเต่งตึงขึ้น และผนังช่องคลอดเริ่มบวม
  • อัณฑะของผู้ชายจะบวม และจะเริ่มหลั่งสารหล่อลื่น

ระยะที่ 2 ความตื่นตัว

ระยะที่ 2 จะเป็นระยะก่อนไปถึงการถึงจุดสุดยอด ซึ่งมีลักษณะดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงที่เริ่มในระยะที่ 1 จะทวีความรุนแรงมากขึ้น
  • ช่องคลอดยังคงบวม เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้น และผนังช่องคลอดจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้ม
  • คลิตอริสของผู้หญิงจะอ่อนไหวมากขึ้น (อาจรู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส) และจะหดตัวเข้าไปในกลีบคลุมคลิตอริส (Clitoral hood) เพื่อหลีกเลี่ยงการกระตุ้นจากอวัยวะเพศชายโดยตรง
  • อัณฑะของผู้ชายจะกระชับขึ้น
  • การหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิตยังคงเพิ่มขึ้น
  • กล้ามเนื้อเกร็งกระตุกอาจเริ่มขึ้นที่เท้า ใบหน้า และมือ
  • ความตึงเครียดของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น

ระยะที่ 3 การถึงจุดสุดยอด

การถึงจุดสุดยอดเป็นจุดสิ้นสุดของวงจรตอบสนองทางเพศ ที่จะมีระยะเวลาสั้นที่สุด และโดยทั่วไปจะใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น ซึ่งจะมีลักษณะดังนี้

  • การหดตัวของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
  • ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และการหายใจ จะอยู่ในอัตราสูงสุด ร่วมกันกับการได้รับออกซิเจนอย่างรวดเร็ว
  • กล้ามเนื้อเท้ากระตุกเกร็ง
  • การปลดปล่อยความตึงเครียดทางเพศเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรง
  • สำหรับผู้หญิง กล้ามเนื้อช่องคลอดจะหดตัว และมดลูกยังมีการหดตัวเป็นจังหวะ
  • สำหรับผู้ชาย การหดตัวเป็นจังหวะของกล้ามเนื้อที่ฐานของอวัยวะเพศชาย ทำให้เกิดการหลั่งอสุจิ
  • ผื่นแดง หรือรอยเลือดฝาดบนผิวที่เรียกว่า (Sex flush) จะปรากฏทั่วร่างกาย

ระยะที่ 4 กลับสู่ภาวะปกติ

ระยะนี้เป็นระยะที่ร่างกายค่อยๆ กลับสู่สภาวะปกติ และส่วนที่บวมหรือแข็งตัวจะกลับไปสู่สภาพเดิม คือมีขนาดและสีเหมือนในสภาวะปกติ นอกจากนี้ระยะดังกล่าวยังเป็นการเพิ่มความใกล้ชิดและมีความเหนื่อยล้า

หลังการถึงจุดสุดยอด ผู้หญิงบางคนที่ได้รับการกระตุ้นทางเพศต่อไป อาจถึงจุดสุดยอดได้หลายครั้ง ส่วนผู้ชายต้องการเวลาในการฟื้นฟูหลังจากการถึงจุดสุดยอด หรือที่เรียกว่าระยะดื้อ (Refractory period) ซึ่งในระยะนี้ผู้ชายจะไม่สามารถถึงจุดสุดยอดได้อีกครั้ง และระยะดื้อของผู้ชายจะแตกต่างกันไป รวมถึงจะมีระยะเวลานานขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Your Guide to the Sexual Response Cycle. https://www.webmd.com/sex-relationships/guide/sexual-health-your-guide-to-sexual-response-cycle#1. Accessed on December 12 2018.

Sexual Response Cycle. https://my.clevelandclinic.org/health/articles/9119-sexual-response-cycle. Accessed on December 12 2018.

Phases of the Sexual Response Cycle. https://scholar.valpo.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1061&context=psych_fac_pub. Accessed March 24, 2022.

The human sexual response cycle: Brain imaging evidence linking sex to other pleasures. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0301008212000718. Accessed March 24, 2022.

Human sexual response. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26003236/. Accessed March 24, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/10/2023

เขียนโดย Sopista Kongchon

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

7 สิ่งที่ควรรู้ เพื่อช่วยให้มี เซ็กส์ดี และปลอดภัย

ออรัลเซ็กส์ ความเสี่ยงต่อสุขภาพที่คู่รักควรรู้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 25/10/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา