backup og meta

ผู้หญิงเสร็จยาก เพราะอะไร ควรทำอย่างไรให้เสร็จง่ายขึ้น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 06/03/2024

    ผู้หญิงเสร็จยาก เพราะอะไร ควรทำอย่างไรให้เสร็จง่ายขึ้น

    ผู้หญิงเสร็จยาก หรือภาวะสุขภาพทางเพศของผู้หญิงที่ไม่สามารถถึงจุดสุดยอดระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ได้ เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอายุที่มากขึ้น ทัศนคติแง่ลบต่อการมีเพศสัมพันธ์ ความเครียด ความไม่พอใจต่อคู่นอน หรือการใช้ยาต้านเศร้า คุณหมออาจรักษาโดยใช้วิธีให้ความรู้เรื่องเพศเพื่อปรับทัศนคติและสร้างความเข้าใจที่เหมาะสมต่อการมีเพศสัมพันธ์ หรือการให้ฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้หญิงวัยทองเพื่อกระตุ้นการตอบสนองทางเพศ

    ผู้หญิงเสร็จยากเกิดจากอะไร

    การเสร็จ หรือถึงจุดสุดยอด หมายถึง ความพึงพอใจทางเพศระดับสูงสุดเมื่อถูกกระตุ้นบริเวณอวัยวะเพศระหว่างมีเพศสัมพันธ์หรือระหว่างสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ ผู้หญิงประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ไม่เคยถึงจุดสุดยอดเลย ในขณะที่ผู้หญิงบางรายอาจเสร็จยาก หรือใช้เวลานานกว่าจะถึงจุดสุดยอดขณะมีเพศสัมพันธ์

    ผู้หญิงเสร็จยากเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยแบ่งออกเป็นสาเหตุจากตัวผู้หญิงเอง สาเหตุเกี่ยวกับคู่นอน และสาเหตุด้านสุขภาพ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

    สาเหตุจากตัวผู้หญิง

    • อายุมากขึ้น
    • ความเบื่อหน่ายต่อการมีเพศสัมพันธ์
    • การมีประวัติถูกล่วงละเมิดทางเพศ
    • การขาดความมั่นใจในตัวเอง
    • การขาดความรู้เรื่องเพศศึกษา
    • ภาวะทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า ความเครียด
    • ความรู้สึกผิดหรืออายเมื่อมีเพศสัมพันธ์ซึ่งอาจเป็นทัศนคติส่วนตัว หรือทัศนคติที่ได้รับอิทธิพลจากความเชื่อทางศาสนา

    สาเหตุจากคู่นอน

    • ความเบื่อหน่าย
    • ความสัมพันธ์ที่ระหองระแหง
    • การขาดความเข้าใจเรื่องความต้องการทางเพศหรือรสนิยมทางเพศของคู่รัก
    • ปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศของฝ่ายชาย

    สาเหตุด้านสุขภาพ

    • ฮอร์โมนในร่างกายลดลงเมื่อเข้าสู่วัยทอง
    • ผลกระทบจากโรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
    • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาต้านฮิสตามีนสำหรับรักษาโรคภูมิแพ้ และยาต้านเศร้าอย่างฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) พาร็อกซีทีน (Paroxetine) เซอร์ทราลีน (Sertraline)
    • การรักษาทางนรีเวช เข่น การผ่าตัดเพื่อเอามดลูกออกจากร่างกาย เพื่อรักษาการมีประจำเดือนมากผิดปกติ รวมถึงโรคมะเร็งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง
    • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดประสาท ส่วนสารเคมีในบุหรี่ออกฤทธิ์ทำให้เลือดไหลเวียนไปยังอวัยวะเพศได้ไม่สะดวก

    ผู้หญิงเสร็จยาก รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง

    โดยปกติ คุณหมอจะรักษา ผู้หญิงเสร็จยาก ด้วยวิธีที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสาเหตุของแต่ละบุคคล โดยมีรายละเอียดดังนี้

    • การให้ความรู้ วิธีนี้ เหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีปัญหาเสร็จยากเนื่องจากการขาดความรู้เรื่องเพศศึกษา ให้เข้าใจถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาวะและความรู้สึกของอาการถึงจุดสุดยอด การเล้าโลมที่เหมาะสม รวมถึงวิธีการและการสัมผัสเพื่อให้ถึงจุดสุดยอด โดยคุณหมออาจแนะนำให้ผู้หญิงที่เสร็จยากฝึกช่วยตัวเองที่บ้าน เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับอวัยวะเพศตัวเองให้มากยิ่งขึ้น
    • การเปลี่ยนท่าร่วมเพศ คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญอาจแนะนำท่าร่วมเพศที่จะช่วยกระตุ้นคลิตอริสมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้เสร็จง่ายขึ้น เช่น ท่ามิชชันนารีหรือท่าที่ผู้หญิงนอนหงายและผู้ชายอยู่ด้านบน หรือท่าที่ผู้หญิงขึ้นคร่อมอยู่ด้านบน เพื่อให้ผู้หญิงควบคุมจังหวะได้ด้วยตนเอง
    • การใช้เซ็กส์ทอย อย่างการใช้ไวเบรเตอร์หรือไข่สั่นคลึงบริเวณคลิตอริสเพื่อกระตุ้นการตื่นตัวทางเพศ ทั้งนี้ คุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญอาจแนะนำให้ผู้หญิงที่เสร็จยากฝึกใช้เซ็กส์ทอยจนเชี่ยวชาญก่อนนำไปประยุกต์ใช้ระหว่างมีเพศสัมพันธ์กับคนรัก
    • การบำบัดด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เป็นวิธีรักษาอาการเสร็จยากในผู้หญิงวัยทอง ซึ่งร่างกายผลิตเอสโตรเจนเองไม่ได้แล้ว โดยคุณหมอจะให้ผู้หญิงวัยทองกินเอสโตรเจนทดแทน หรือใช้ครีมสำหรับทาภายนอกหรือยาสอด เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณอวัยวะเพศ และช่วยเพิ่มน้ำหล่อลื่นให้มากขึ้น
    • การบำบัดด้วยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) เมื่อเข้าสู่วัยทอง ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมักลดลงและมีผลทำให้อารมณ์ทางเพศลดลงตามไปด้วย ทำให้ผู้หญิงเสร็จยากขึ้น ดังนั้น การใช้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนทดแทนทั้งชนิดรับประทาน ชนิดทา หรือชนิดฉีดอาจช่วยกระตุ้นการตื่นตัวทางเพศ และทำให้เสร็จง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การบำบัดด้วยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนอาจมีผลข้างเคียงคือทำให้สิวขึ้น ผมหรือขนดกกว่าเดิม และคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดลง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 06/03/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา