backup og meta

เพศศึกษา คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร

เพศศึกษา คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร

เพศศึกษา หมายถึงการเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การสำรวจและทำความรู้จักร่างกายตนเอง การมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้องและปลอดภัย การรักษาความสัมพันธ์กับคนรัก การปฏิบัติต่อบุคคลเพศตรงข้ามและเพศทางเลือก และอื่น ๆ

นอกจากนี้ เพศศึกษายังอาจช่วยให้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเพศน้อยลง เช่น การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ความรุนแรงทางเพศ ความเกลียดชังทางเพศ ทั้งนี้ เพศศึกษาไม่ได้หมายถึงการเรียนในห้องเรียนหรือสถานศึกษาเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศด้วยตนเอง การพูดคุยกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว และการถกเถียงทางสังคมอย่างเปิดกว้าง

[embed-health-tool-ovulation]

เพศศึกษา คืออะไร

เพศศึกษาหมายถึงการเรียนและการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศ การทำความรู้จักร่างกายตนเอง การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย การมีเพศสัมพันธ์ เพศวิถี (Sexuality) รวมถึง บรรทัดฐานและค่านิยมเรื่องเพศ การแสดงความต้องการทางเพศ การปฏิบัติต่อคู่รัก การยอมรับผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่าง ปัญหาเรื่องเพศในสังคม ทั้งการเรียนในสถานศึกษา การพูดคุยกันในครอบครัว การสอดแทรกความรู้ทางสื่อต่าง ๆ การเปิดโอกาสให้คนในสังคมได้พูดคุยกันอย่างกว้างขวาง

เพศศึกษา มีความสำคัญอย่างไร

เพศศึกษามีความสำคัญต่อคนในสังคม โดยเฉพาะในช่วงวัยเรียนหรือวัยรุ่น เพราะเป็นเครื่องมือที่จะสามารถแนะแนวและแนะนำให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องเพศได้อย่างถูกต้อง มีความรู้มากพอที่จะใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศและเพศวิถีได้อย่างเหมาะสม รวมถึงเพื่อปกป้องผู้เรียนจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศต่าง ๆ หรือช่วยให้สามารถรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น อาทิ

  • ปัญหาจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจเกิดจากความประมาท หรือการขาดข้อมูลที่ควรทราบ เช่น วิธีคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ วิธีป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ความไม่เสมอภาคทางเพศ หรือการถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกับคนอีกกลุ่ม โดยอ้างอิงจากความแตกต่างทางรสนิยมทางเพศหรือเพศสภาพ
  • ความรุนแรงบนฐานทางเพศสภาพ หรือการใช้ความรุนแรงกับผู้ที่มีเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศแตกต่างจากตัวเองหรือพวกของตัวเอง

เพศศึกษา มีอะไรบ้าง

เพศศึกษาในโรงเรียน รวมถึงการเรียนรู้เรื่องเพศจากผู้ปกครองหรือสื่อต่าง ๆ มักเป็นการให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องเพศในประเด็นดังต่อไปนี้

  • การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในระบบสืบพันธุ์เพศชายและเพศหญิง
  • การปฏิบัติต่อบุคคลเพศตรงข้ามและเพศทางเลือกอย่างเหมาะสม
  • ความหลากหลายของเพศทางเลือก และรสนิมทางเพศแบบต่าง ๆ ของผู้คนในสังคม
  • การคุมกำเนิดอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์
  • ความสำคัญของการมีเพศสัมพันธ์โดยยินยอม ระหว่างคู่รักหรือคู่นอน
  • การป้องกันตัวเอง หรือลดความเสี่ยงจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • สุขอนามัยทางเพศ เช่น การทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นอย่างถูกวิธี
  • การวางแผนครอบครัว ความสำคัญของการมีลูกเมื่อพร้อม

เพศศึกษา มีประโยชน์อย่างไรต่อผู้เรียนและสังคม

ผู้ที่เรียนเกี่ยวกับเพศศึกษา มักมีความเข้าใจเกี่ยวกับร่างกายตนเองมากขึ้น รู้จักความต้องการของตนเอง เคารพสิทธิ์ในร่างกายของผู้อื่น เข้าใจความแตกต่างระหว่างเพศตรงข้ามและเพศวิถีอื่น รวมทั้งรู้จักวิธีป้องกันตนเองจากความเสี่ยงในเรื่องเพศ ระมัดระวังและรู้จักดูแลสุขอนามัยทางเพศ

นอกจากนั้น ในสังคมที่มีการเรียนและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเพศศึกษาอย่างเสรีและเปิดกว้างด้วยวิธีการที่เหมาะสม มักช่วยลดอัตราความเสี่ยงในการมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เช่น การจำกัดจำนวนคู่นอน การมีเพศสัมพันธ์โดยรู้จักวิธีคุมกำเนิดและวิธีป้องกันโรค ช่วยลดปัญหาสังคม ลดอัตราผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และลดอัตราการท้องที่ไม่พึงประสงค์

ในงานวิจัยหนึ่ง ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเพศศึกษาและการคุมกำเนิด ตีพิมพ์ในวารสาร Contraception ปี พ.ศ. 2560 นักวิจัยได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างเพศหญิง จำนวน 5,445 คน และพบว่า ผู้หญิงที่ได้รับการศึกษาเรื่องเพศมา มีแนวโน้มจะคุมกำเนิดด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง หรือวิธีที่คิดว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า เพศศึกษาช่วยลดโอกาสตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้จริง

นอกจากนั้น ยูเนสโก (UNESCO) หรือองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ระบุโดยอ้างอิงจากหลักฐานชิ้นหนึ่งว่า การศึกษาเรื่องเพศ ไม่ว่านอกหรือในสถานศึกษา ต่างช่วยลดอัตราการมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเอดส์ โดยมีข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับประโยชน์ของเพศศึกษาดังนี้

  • การศึกษาเรื่องเพศที่ให้ความสำคัญกับเพศสภาพของผู้เรียน มีส่วนช่วยในการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ มากกว่าการศึกษาเรื่องเพศที่ไม่ให้ความสำคัญกับเพศของผู้เรียน
  • การศึกษาเรื่องเพศที่เน้นให้ผู้เรียนงดเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์ อาจไม่สามารถช่วยชะลอการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร รวมถึงความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์และการมีคู่นอนจำนวนมากของผู้ศึกษา
  • การศึกษาเรื่องเพศที่ให้ผลลัพธ์ดีที่สุด คือการศึกษาที่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองของนักเรียน โรงเรียน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้เรื่องเพศไปพร้อม ๆ กับนักเรียน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Birth Control and Sex Ed: What Works Best?. https://www.webmd.com/sex/birth-control/sex-ed-birth-control-what-works. Accessed June 22, 2022

Sex education and contraceptive use of adolescent and young adult females in the United States: an analysis of the National Survey of Family Growth 2011–2017. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7732995/. Accessed June 22, 2022

ข่าวประชาสัมพันธ์: ชวนคุยเรื่องเพศ: แนวปฏิบัติทางวิชาการเรื่องเพศวิถีศึกษาฉบับภาษาไทย. https://bangkok.unesco.org/th/conte/content/Thai-press-advisory-lets-talk-about-sex-thai-language-technical-guidance-sexuality-education#:~:text=%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89,%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%87. Accessed June 22, 2022

What Are the Goals of Sex Education?. https://www.plannedparenthood.org/learn/for-educators/what-are-goals-sex-education-youth. Accessed June 22, 2022

Why comprehensive sexuality education is important. https://en.unesco.org/news/why-comprehensive-sexuality-education-important. Accessed June 22, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/10/2024

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ประโยชน์ของการนอนหลับ ส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศอย่างไร

ดูดนม ช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้จริงหรือ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/10/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา