backup og meta

เซ็กส์บำบัด คืออะไร ช่วยเรื่องอะไรได้บ้าง

เซ็กส์บำบัด คืออะไร ช่วยเรื่องอะไรได้บ้าง

เซ็กส์บำบัด หรือการบำบัดทางเพศ เป็นวิธีแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพทางเพศและความสัมพันธ์วิธีหนึ่ง ที่อาจช่วยให้ชีวิตคู่และชีวิตทางเพศดีและน่าพึงพอใจขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจเกี่ยวกับเซ็กส์บำบัดในเบื้องต้น อาจเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทราบได้ว่า การบำบัดนี้เหมาะสมกับปัญหาที่พบหรือไม่ เมื่อไหร่ที่ควรเข้ารับการบำบัด เป็นต้น

เซ็กส์บำบัด (Sex Therapy) คืออะไร

เซ็กส์บำบัด หรือการบำบัดทางเพศ เป็นการบำบัดด้วยการพูดคุย ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้คู่ที่มีปัญหาเรื่องเพศและความสัมพันธ์ สามารถแก้ปัญหาทั้งทางร่างกายและทางอารมณ์ จนส่งผลให้มีเซ็กส์ที่ดีและน่าพึงพอใจ สามารถสื่อสารกันได้เข้าใจมากขึ้น ใกล้ชิด ผูกพันกันมากขึ้น และมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นได้ ซึ่งปัญหาสุขภาพทางเพศที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความสัมพันธ์จนต้องเข้ารับบำบัดที่พบบ่อย ได้แก่ ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

เซ็กส์บำบัดมีด้วยกันหลายประเภท ที่ใช้กันส่วนใหญ่อาจเป็นเซ็กส์บำบัดด้วยการพูดคุย โดยการบำบัดนี้อาจจะต้องเข้าทำการบำบัดทั้งแบบคู่ และแบบเดี่ยว แต่นักบำบัดจะไม่ฟังหรือรับข้อมูลจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะการรับทราบข้อมมูลเพียงฝ่ายเดียว อาจไม่ได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน จนส่งผลทำให้ไม่ได้เกิดการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยทั่วไปแล้ว นักบำบัดอาจวิเคราะห์ว่าคู่รักที่เข้ารับการบำบัดมีวิธีการพูดคุยหรือสื่อสารกันอย่างไรบ้าง รวมถึงอาจซักถามด้วยว่า ทั้งคู่มีประสบการณ์ในเรื่องเพศอย่างไร หรือมีความรู้ในเรื่องเพศมากน้อยเพียงใด หากพบว่าจุดไหนอาจสร้างปัญหาต่อชีวิตรักหรือความสัมพันธ์ได้ นักบำบัดอาจแนะนำวิธีสื่อสารหรือให้ข้อมูลเรื่องเพศที่อาจส่งผลดีต่อสุขภาพทางเพศและความสัมพันธ์มากขึ้น บางคู่อาจได้แบบทดสอบกลับไปทำที่บ้าน แล้วอาจนำมาคุยกับนักบำบัดในครั้งต่อไป เพื่อประเมินความเปลี่ยนแปลงหรือความก้าวหน้าในการเข้ารับเซ็กส์บำบัด

นอกจากนี้ อาจมีการบำบัดด้วยวิธีการที่เรียกว่า Sensate focus ซึ่งเป็นพฤติกรรมบำบัดรูปแบบหนึ่งที่อาจช่วยพัฒนาความใกล้ชิด ความผูกพัน และการสื่อสารระหว่างคู่รักได้ วิธีนี้จะเน้นที่การสัมผัสและการถูกสัมผัส โดยอาจเริ่มจากการสัมผัสร่างกายส่วนอื่นที่ไม่ใช่อวัยวะเพศ ก่อนจะสัมผัสบริเวณอวัยวะเพศหรือหน้าอก เพิ่มการลูบไล้ด้วยโลชั่น หรือการกอดจูบ ก่อนจะมีเซ็กส์แบบเน้นที่อารมณ์หรือความรู้สึกร่วม เพื่อสำรวจว่า สัมผัสกันแล้วรู้สึกอย่างไร การสัมผัสรูปแบบใดที่ทำให้สุขสมหรือพึงพอใจที่สุด เป็นต้น

หากนักบำบัดพบว่าการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศเกิดจากปัญหาทางร่างกาย อาจจะต้องส่งต่อให้ปรึกษาและเข้ารับการรักษากับคุณหมอเฉพาะทาง โดยทั้งคุณหมอเฉพาะทางและนักบำบัดทางเพศจะรักษาหรือแก้ไขปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิตและอารมณ์ ร่วมกัน

เมื่อไหร่ที่ควรเข้ารับเซ็กส์บำบัด

ปัญหาเรื่องของความสัมพันธ์และปัญหาทางเพศ เช่น ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อาจเกิดขึ้นได้กับคู่รักหลาย ๆ คู่ แต่หากรู้สึกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและความสัมพันธ์ ควรเข้ารับการบำบัดทางเพศ เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

วิธีเตรียมตัวก่อนเข้ารับเซ็กส์บำบัด

การเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับเซ็กส์บำบัดด้วยวิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้การบำบัดมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  1. บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ เช่น ปัญหาเริ่มต้นขึ้นเพราะอะไร เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน ปัญหาเกิดขึ้นแล้วหายหรือเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน เคยเข้ารับการรักษาหรือไม่ ได้ผลอย่างไร
  2. เตรียมข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ เช่น ประวัติทางการรักษา ความเครียดที่เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่เกิดขึ้น
  3. เตรียมประวัติการใช้ยา รวมถึงวิตามิน อาหารเสริมและสมุนไพรที่เคยใช้ ว่าเคยใช้นานเท่าไร ใช้ปริมาณเท่าใด
  4. เตรียมคำถามหรือข้อสงสัยที่ต้องการถามและขอคำแนะนำจากนักบำบัดไว้ล่วงหน้า

[embed-health-tool-ovulation]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Sex therapy. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/sex-therapy/about/pac-20384613. Accessed February 8, 2022

What happens during sex therapy?. https://www.issm.info/sexual-health-qa/what-happens-during-sex-therapy/. Accessed February 8, 2022

Sensate Focus. https://health.cornell.edu/sites/health/files/pdf-library/sensate-focus.pdf. Accessed February 8, 2022

What Does a Sex Therapist Do?. https://www.webmd.com/sex-relationships/features/what-does-sex-therapist-do. Accessed February 8, 2022

What does a sex therapist do?. https://www.nhs.uk/common-health-questions/sexual-health/what-does-a-sex-therapist-do/. Accessed February 8, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/02/2022

เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความเชื่อและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องเพศ

7 สิ่งที่ควรรู้ เพื่อช่วยให้มี เซ็กส์ดี และปลอดภัย


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 09/02/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา