backup og meta

เป็นก้อนแข็งที่อวัยวะเพศหญิง เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง

เป็นก้อนแข็งที่อวัยวะเพศหญิง เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง

เป็นก้อนแข็งที่อวัยวะเพศหญิง เป็นการคลำหรือตรวจเจอก้อนเนื้อที่มักมีลักษณะแข็งบริเวณอวัยวะเพศและรอบ ๆ เช่น ช่องคลอด แคม ขาหนีบ ทวารหนัก ซึ่งมักเป็นอาการบ่งชี้ปัญหาสุขภาพ เช่น ถุงน้ำในช่องคลอด หูดหงอนไก่ มะเร็งช่องคลอด ทั้งนี้ หากคลำเจอก้อนแข็งที่อวัยวะเพศหญิง ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อตรวจรักษา เพราะหากเป็นโรคร้ายอย่างมะเร็งช่องคลอดแล้วปล่อยไว้นาน เซลล์มะเร็งจะลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

[embed-health-tool-ovulation]

สาเหตุการเป็นก้อนแข็งที่อวัยวะเพศหญิง

เป็นก้อนแข็งที่อวัยวะเพศหญิงอาจเป็นอาการของภาวะสุขภาพดังต่อไปนี้

ถุงน้ำในช่องคลอด

ถุงน้ำในช่องคลอด (Vaginal Cysts) เป็นภาวะสุขภาพที่มักไม่สร้างความเจ็บปวดหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเกิดจากการอุดตันของท่อหรือต่อมบริเวณช่องคลอด ซึ่งทำให้ของเหลวหรือสารอื่น ๆ ไปรวมกันข้างใน และกลายเป็นก้อนแข็ง มักเป็นก้อนแข็งบริเวณช่องคลอดหรือในช่องคลอด โดยก้อนแข็งมีทั้งขนาดเล็ก จนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น หรือขนาดใหญ่เทียบเท่าผลส้ม

ประเภทของถุงน้ำในช่องคลอด ที่พบได้บ่อย ประกอบด้วย

  • อินคลูชัน ซีสต์ (Inclusion cysts) เป็นถุงน้ำในช่องคลอดประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด โดยปกติจะมีขนาดเล็ก และเกิดจากการบาดเจ็บบริเวณช่องคลอดจากการผ่าตัดขยายช่องคลอดเพื่อทำคลอด หรือการผ่าตัดแบบอื่น ซึ่งทำให้เยื่อบุช่องคลอดเสียหาย
  • ถุงน้ำต่อมบาร์โธลินอักเสบ (Bartholin’s Gland Cyst) เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ การอุดตันของต่อมบาร์โธลิน ซึ่งทำหน้าที่ผลิตน้ำหล่อลื่นช่องคลอด รวมถึง การติดเชื้อแบคทีเรียเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) ซึ่งพบได้ในลำไส้ของมนุษย์

การรักษาถุงน้ำในช่องคลอด

โดยปกติ หากตรวจพบถุงน้ำขนาดเล็กในช่องคลอด ไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย คุณหมอจะยังไม่ผ่าตัดหรือรักษา แต่มักแนะนำให้คอยสังเกตขนาดของก้อนแข็งไปก่อนว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นหรือไม่ และอาจนัดตรวจสุขภาพทุก 3-6 เดือนเพื่อติดตามดูอาการ

อย่างไรก็ตาม หากถุงน้ำที่พบมีขนาดใหญ่ คุณหมออาจผ่าถุงน้ำเพื่อดูดของเหลวออก หรือสอดสายสวนเข้าไปที่ถุงน้ำ เพื่อระบายของเหลวให้ไหลออกมาจนหมด

นอกจากนี้ เมื่อเป็นถุงน้ำในช่องคลอด คุณหมออาจขอตัดชิ้นเนื้อของถุงน้ำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาค่ามะเร็ง

หูดหงอนไก่

หูดหงอนไก่ (Genital Warts) เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ซึ่งแพร่กระจายผ่านสารคัดหลั่ง ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์

อาการของหูดหงอนไก่ คือ เป็นก้อนแข็งที่อวัยวะเพศหญิง หรือบริเวณทวารหนัก โดยก้อนแข็งดังกล่าวจะมีลักษณะดังนี้

  • เป็นสีชมพูหรือน้ำตาล
  • เป็นสาเหตุของอาการคันหรือไม่สบายตัวบริเวณอวัยวะเพศหญิง
  • มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์
  • มักเกิดก้อนแข็งขึ้นจำนวนมาก หากระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง
  • รูปร่างภายนอกอาจดูคล้ายกับดอกกะหล่ำ
  • เกิดขึ้นในช่องคลอดได้ ทำให้มองไม่เห็นและหากไม่คลำเจอ ก็จะไม่ทราบว่าเป็นโรคดังกล่าว

การรักษาหูดหงอนไก่

เมื่อเป็นหูดหงอนไก่ คุณหมอจะรักษาด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • ยาใช้ภายนอกสำหรับทาบริเวณที่เป็น เช่น อิมิควิโมด (Imiquimod) ในรูปแบบครีม ซึ่งกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ต่อสู้กับเชื้อหูดหงอนไก่ หรือกรดไตรคลอโรอะเซติก (Trichloroacetic Acid) ซึ่งใช้ฆ่าโปรตีนในเซลล์ของหูด เพื่อให้หูดหดเล็กลงและหายไป
  • การผ่าตัดโดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การผ่าก้อนแข็งออกจากร่างกายด้วยกระแสไฟฟ้าหรือแสงเลเซอร์ โดยวิธีการแบบหลังจะมีค่าใช้จ่ายสูง และมักเลือกใช้ในกรณีของหูดหงอนไก่ที่รักษาได้ยาก

มะเร็งช่องคลอด

มะเร็งช่องคลอด เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี เช่นเดียวกับโรคหูดหงอนไก่ โดยเซลล์มะเร็งจะทวีจำนวนขึ้นมากกระทั่งควบคุมไม่ได้ กลายเป็นก้อนแข็งที่อวัยวะเพศหญิง และเซลล์มะเร็งจะแพร่ไปยังกระดูก ตับ หรือปอด หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา

ทั้งนี้ อาการอื่น ๆ ของโรคมะเร็งช่องคลอด ที่อาจพบร่วมด้วย คือ

  • เลือดไหลจากช่องคลอดในช่วงที่ไม่เป็นรอบเดือน หรือหลังจากการร่วมเพศ
  • เจ็บบริเวณอวัยวะเพศ เมื่อปัสสาวะ
  • มีตกขาวใส หรือมีเลือดเจือปน
  • ปัสสาวะบ่อย
  • ปวดท้องน้อย

อย่างไรก็ตาม มะเร็งช่องคลอดเป็นมะเร็งที่พบได้ยาก หากเป็นก้อนแข็งที่อวัยวะเพศหญิง มักมีแนวโน้มเป็นอาการของภาวะสุขภาพแบบอื่นหรืออาจเป็นติ่งเนื้อหรือเนื้องอกที่ไม่ใช่เนื้อร้าย ซึ่งไม่สร้างความเจ็บปวด อย่างไรก็ตาม ควรเข้ารับการตรวจจากคุณหมอเพื่อยืนยันสาเหตุของก้อนแข็งที่อวัยวะเพศ

การรักษามะเร็งช่องคลอด

มะเร็งช่องคลอด อาจรักษาได้ด้วยวิธีการดังนี้

  • ผ่าตัด เพื่อนำเนื้อร้ายออกจากร่างกาย โดยหากเซลล์มะเร็งที่พบยังจำกัดอยู่แค่บนพื้นผิวช่องคลอด คุณหมอจะผ่าตัดเพียงก้อนแข็งและเนื้อเยื่อรอบ ๆ อย่างไรก็ตาม หากมะเร็งลุกลามไปมากกว่านั้น คุณหมออาจต้องผ่าตัดออกทั้งหมด
  • ฉายรังสี คือการฆ่าเซลล์มะเร็งด้วยรังสี ข้อดีของการรักษาวิธีนี้คือกำจัดเซลล์มะเร็งได้อย่างรวดเร็ว ข้อเสียคือเซลล์ปกติบริเวณที่ฉายรังสีมักได้รับความเสียหายไปด้วย และอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงมากมาย

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การเป็นก้อนแข็งที่อวัยวะเพศหญิง สามารถป้องกันได้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • มีเพศสัมพันธ์โดยป้องกัน โดยสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ อันเป็นสาเหตุของโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งช่องคลอด
  • รับวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี เพื่อลดความเสี่ยงเป็นหูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งช่องคลอด
  • ตรวจภายในสม่ำเสมอ เพราะหากตรวจพบมะเร็งช่องคลอดตั้งแต่ระยะแรก ๆ ทำให้สามารถรักษาได้ง่ายกว่าและโอกาสหายมีมากกว่า โดยที่เซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ทั้งนี้ ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกมักเสี่ยงเป็นมะเร็งช่องคลอดมากกว่าผู้อื่น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How Do I Know if I Have Genital Warts?. https://www.webmd.com/sexual-conditions/hpv-genital-warts/genital-wart-symptoms-diagnosis. Accessed March 24, 2022

Genital warts. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/genital-warts/diagnosis-treatment/drc-20355240. Accessed March 24, 2022

Vaginal Cysts. https://www.webmd.com/women/guide/vaginal-cysts-causes-symptoms-treatments. Accessed March 24, 2022

Bartholin’s cyst. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/bartholin-cyst/symptoms-causes/syc-20369976. Accessed March 24, 2022

Bartholin’s Cyst. https://www.webmd.com/women/guide/bartholins-gland-cyst. Accessed March 24, 2022

Vaginal cancer, Causes. https://www.nhs.uk/conditions/vaginal-cancer/causes/. Accessed March 24, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/07/2024

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีรักษาตกขาว และการดูแลสุขภาพช่องคลอด

ติดเชื้อในช่องคลอด สาเหตุ อาการ และวิธีป้องกัน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 01/07/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา