ประจำเดือน หรือที่อาจเรียกว่า เมนส์ คือ ภาวะที่มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดเป็นประจำทุกเดือนของหญิงวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีเมนส์ประมาณ 2-8 วัน และเมนส์มักมาทุกเดือน แต่หาก เมนส์ไม่มา อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การตั้งครรภ์ ความผิดปกติของมดลูก จึงควรหมั่นสังเกตการมีประจำเดือน หากพบความผิดปกติใด ๆ ควรพบคุณหมอทันที
เมนส์ คือ
เมนส์ หรือประจำเดือน คือ ภาวะที่มีเลือดออกจากช่องคลอดทุกเดือนของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ ถือเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ ในช่วงไข่ตก ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเพศอย่างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนมากขึ้น ฮอร์โมนเหล่านี้จะกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมให้ตัวอ่อนมาฝังตัว แต่หากไข่ไม่ได้ผสมกับอสุจิ และไม่เกิดการปฏิสนธิจนเป็นตัวอ่อน เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหลุดลอกและไหลออกจากช่องคลอด กลายเป็นเลือดประจำเดือนหรือเมนส์
ผู้หญิงส่วนมากจะมีรอบประจำเดือน 24-38 วัน และจะมีประจำเดือนประมาณ 2- 8 วัน โดยประจำเดือนมักมีลักษณะและปริมาณใกล้เคียงกันทุกเดือน หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น เมนส์ไม่มาติดต่อกันหลายเดือน เมนส์มาไม่ปกติหรือมากะปริบกะปรอย อาจเกิดจากการตั้งครรภ์ การให้นมลูก ความเครียด และโรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์อื่น ๆ เช่น รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด ภาวะอุ้งเชิงการอักเสบ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาวิธีช่วยให้เมนส์มาเป็นปกติ เช่น ปรับพฤติกรรมการออกกำลังกาย หาวิธีลดความเครียด และในบางกรณี อาจต้องรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ร่วมด้วย
สาเหตุที่เมนส์ไม่มา
เมนส์ไม่มา อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- การตั้งครรภ์ ผู้หญิงจะไม่มีประจำเดือนหากตั้งครรภ์ และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ ก็อาจทำให้เมนส์ไม่มาเป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ในช่วงหลังคลอด นอกจากนี้ หากให้ลูกกินนมแม่ ฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ที่หลั่งออกมาในช่วงให้นมลูก ก็อาจทำให้เมนส์ไม่มาได้เช่นกัน ในกรณีนี้ หากหยุดให้นมลูก เมนส์ก็จะกลับมาตามปกติ
- รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด เป็นภาวะที่รังไข่สร้างฮอร์โมนเพศได้น้อยลงก่อนวัยอันควร และหยุดทำงานก่อนอายุ 40 ปี จึงอาจทำให้เมนส์ไม่มาตามปกติ หรือมาแบบกะปริบกะปรอยเป็นเวลาหลายปีก่อนถึงวัยที่รังไข่จะหยุดทำงาน หรือที่เรียกว่าวัยหมดประจำเดือน ซึ่งมักเกิดกับผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
- ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease หรือ PID) เป็นภาวะติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ อาจเกิดตรงบริเวณมดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ เยื่อบุช่องท้อง ที่กระทบต่อการเป็นเมนส์
- ความเครียด ความเครียดทั้งทางร่างกายและทางจิตใจอาจกระทบต่อการทำงานของไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานของฮอร์โมนเอฟเอสเอช (FSH) ที่กระตุ้นให้ไข่ในรังไข่เจริญเติบโต เมื่อไฮโปทาลามัสทำงานผิดปกติ จะส่งต่อการหลั่งฮอร์โมนดังกล่าว และอาจทำให้เมนส์ไม่มาได้
- น้ำหนักเยอะหรือน้อยเกินไป เมื่อมีน้ำหนักเยอะหรือเกินเกณฑ์ ร่างกายอาจสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่ควบคุมการทำงานของระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงออกมามากเกินจำเป็น จนส่งผลกระทบต่อการมีเมนส์ หรือหากมีน้ำหนักน้อยเกินไปก็อาจส่งผลต่อกระบวนการตกไข่ และทำให้เมนส์ไม่มาได้
- การคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestin only pill หรือ POP) ยาคุมกำเนิดแบบฉีด (Contraceptive Injection) ห่วงอนามัยคุมกำเนิด (Intrauterine device หรือ IUD) อาจทำให้เมนส์ไม่มาได้ จึงควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนตัดสินใจเลือกวิธีคุมกำเนิด เพื่อให้ได้วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเหมาะสมที่สุด
วิธีที่อาจช่วยให้เมนส์มาเป็นปกติ
- ลดกิจกรรมที่หนักเกินไป ผู้หญิงบางคนอาจทำกิจกรรมที่ส่งผลให้เมนส์ไม่มาตามปกติ เช่น การออกกำลังกายที่หนักและหักโหมเกินไป การทำกิจกรรมที่ต้องฝึกอย่างเข้มงวดอย่างบัลเลต์ จนส่งผลให้มีไขมันในร่างกายต่ำ เครียดสะสม ซึ่งอาจมีส่วนทำให้เมนส์ไม่มาได้ ควรลดเวลาในการฝึกซ้อมหรือหันมาออกกำลังกายที่ใช้แรงไม่เยอะเท่าเดิม เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพและกลับมามีเมนส์ตามปกติ
- หาวิธีลดความเครียด พยายามลดความเครียดในชีวิตประจำวันด้วยการทำกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูจิตใจให้ดีขึ้นหรือช่วยคลายเครียดได้ดี เช่น การฝึกลมหายใจ การทำงานอดิเรกที่สนใจ การออกกำลังกายเบา ๆ ไม่ควรปล่อยให้เครียดสะสม หรือหากเครียดจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาคุณหมอหรือนักบำบัด เพื่อจะได้หาวิธีแก้ไขได้อย่างถูกต้อง เช่น การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy หรือ CBT) เมื่อความเครียดลดลง ก็อาจช่วยทำให้เมนส์กลับมาเป็นปกติ
- เข้ารับการรักษาทางการแพทย์ เช่น
- การตรวจเลือด เพื่อวัดระดับของฮอร์โมนภายในร่างกายว่ามีระดับที่เหมาะสมหรืออยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ เช่น ฮอร์โมนฟอลลิเคิลสติมิวเลติง (Follicle Stimulating Hormone หรือ FSH) ที่ทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของรังไข่ ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (Thyroid – stimulating homone หรือ TSH) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานและเจริญเติบโตของรังไข่ ฮอร์โมนโปรแลกติน (Prolactin) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการตกไข่
- การบำบัดด้วยฮอร์โมน คุณหมออาจให้กินยาฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นให้เมนส์มาเมื่อหยุดกินยา แต่หากหยุดกินยาแล้วเมนส์ยังไม่มา อาจเป็นเพราะร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งการกินอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายเป็นประจำ อาจช่วยปรับสมดุลในร่างกายและทำให้เมนส์มาเป็นปกติ แต่ในบางกรณี คุณหมออาจแนะนำให้รักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนต่อไป
- การตรวจด้วยเครื่องฉายรังสี เช่น เครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (Computerized tomography หรือ CT) เครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI) เพื่อดูความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์หรือตำแหน่งเนื้องอกที่อาจไปกดทับการทำงานของต่อมใต้สมอง และอาจไปกระทบต่อการทำงานของฮอร์โมนเอฟเอสเอช (FSH) จนส่งผลให้เมนส์ไม่มาได้
เมื่อไหร่ที่ควรปรึกษาคุณหมอ
- เมนส์ไม่มาติดต่อกันมากกว่า 90 วัน หรือประมาณ 3 เดือน
- เมนส์มามากกว่า 7 วัน
- เลือดออกในช่วงที่ไม่ได้เป็นเมนส์
- ปวดท้องรุนแรงผิดปกติในช่วงที่เป็นเมนส์
- เมนส์ไม่มาตามปกติ หรือลักษณะการมีเมนส์เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เมนส์มามากหรือน้อยกว่าเดิม ระยะเวลาในการมีเมนส์ยาวขึ้นหรือสั้นลง
- เกิดอาการป่วยหรือเป็นไข้กะทันหันในช่วงที่ใช้ผ้าอนามัย
- เมนส์ไม่มาก่อนอายุ 45 ปี หรือยังมีเมนส์หลังอายุ 55 ปี
หากเมนส์ไม่มานานเกิน 3 เดือน ถึง 1 ปี คุณหมออาจซักประวัติสุขภาพของผู้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยและครอบครัว รวมถึงเรื่องที่ทำให้เครียด วิธีการออกกำลังกาย เป็นต้น เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่ทำให้เมนส์ไม่มาและจะได้แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด