backup og meta

เมน คืออะไร ควรใช้ผ้าอนามัยแบบไหน

เมน คืออะไร ควรใช้ผ้าอนามัยแบบไหน

เมน คืออะไร ? มักเป็นคำถามของเพศหญิงเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นและมีอาการเลือดไหลออกทางช่องคลอด เมน หรือประจำเดือน เป็นภาวะสุขภาพของเพศหญิงซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากเพศหญิงเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยเจริญพันธุ์ โดยเกิดจากการจากที่ร่างกายตกไข่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผสมกับอสุจิ แต่หากไม่มีการปฏิสนธิ ไข่รวมทั้งเนื้อเยื่อผนังมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน โดยปกติ ผู้หญิงจะเป็นเมนติดต่อกันราว 5-7 วัน ทุก ๆ 21-35 วัน และระหว่างเป็นเมน ผู้หญิงอาจหงุดหงิดง่ายกว่าปกติ ปวดท้อง หรือปวดเมื่อยเนื้อตัว รวมถึงอาจรู้สึกอยากรับประทานอาหารมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ผู้หญิงจะหยุดเป็นเมนหลังจากร่างกายไม่ผลิตฮอร์โมนเพศหรือเรียกว่าเข้าสู่วัยทองเมื่อมีอายุประมาณ 48 ปีขึ้นไป

เมน คืออะไร เมื่อเป็นเมนแล้วจะมีอาการอย่างไร

เมน ย่อมาจาก เมนสทรูเอเชิน (Menstruation) หรือประจำเดือน เป็นภาวะสุขภาพปกติของเพศหญิงเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์พร้อมที่จะตั้งครรภ์โดยอาการที่พบคือ การมีเลือดไหลออกทางช่องคลอด ทุก ๆ 21-35 วัน

โดยทั่วไป ผู้หญิงจะเป็นเมนครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 12 ปี อย่างไรก็ตาม บางรายอาจเป็นเมนครั้งแรกตั้งแต่ 8 ปี หรือช้ากว่านั้นแต่มักไม่เกิน 16 ปี ขึ้นอยู่กับภาวะทางสุขภาพ พันธุกรรม

เมื่อเป็นเมน ผู้หญิงจะมีเลือดออกทางช่องคลอด ติดต่อกันประมาณ 5-7 วัน หรือประมาณ 30-72 มิลลิลิตร ต่อการเป็นเมน 1 ครั้ง

นอกจากนี้ ขณะเป็นเมน ผู้หญิงอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ อยากอาหาร ปวดท้อง ปวดหลัง ท้องอืด สิวขึ้น

หากผู้หญิงเป็นเมนมากกว่า 7 วัน จะเรียกว่า “ประจำเดือนมามาก” โดยเกิดได้จากหลายปัจจัย อาทิ ระดับฮอร์โมนที่มากเกินไปในร่างกาย การใช้ยาคุมกำเนิด การรักษามะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด

ทั้งนี้ ผู้หญิงจะหยุดเป็นเมนเมื่ออายุราว 48-52 ปี หรือเมื่อเข้าสู่ “วัยทอง” ซึ่งรังไข่เลิกผลิตฮอร์โมนเพศเอสโทรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) อันเกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ และลักษณะทางเพศต่าง ๆ ในเพศหญิง

สาเหตุของการเป็นเมน คืออะไร  

ในแต่ละเดือน รังไข่ของผู้หญิงจะสร้างไข่ หรือเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิงขึ้นมา ภายใต้การกระตุ้นของฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน โดยเมื่อไข่สุกพร้อมปฏิสนธิแล้ว ไข่จะถูกส่งไปยังมดลูกผ่านท่อนำไข่ เพื่อรอการปฏิสนธิกับตัวอสุจิ หรือเซลล์สืบพันธุ์เพศชาย ซึ่งจะเคลื่อนที่เข้ามาในช่องคลอดเพศหญิงผ่านการมีเพศสัมพันธ์

ในช่วงเวลาที่ไข่ตก ระดับโปรเจสเตอโรนของร่างกายเพศหญิงจะเพิ่มสูงขึ้น และหากไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิ โปรเจสเตอโรนรวมทั้งเอสโตรเจนจะลดต่ำลง ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมา กลายเป็นเลือดประจำเดือนไหลออกทางช่องคลอด ขณะเดียวกัน ไข่ซึ่งไม่ได้รับการผสมกับอสุจิจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและฝ่อสลายไปตามธรรมชาติ

ตรงกันข้าม หากไข่ได้ปฏิสนธิกับตัวอสุจิ โปรเจสเตอโรนจะเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในร่างกายของฝ่ายหญิง เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับทารกที่เกิดขึ้นในครรภ์ โดยร่างกายของเพศหญิงจะไม่เป็นเมน จนกว่าทารกในครรภ์จะคลอด หรือหลังจากเกิดภาวะแท้งบุตร

[embed-health-tool-ovulation]

ภาวะก่อนเป็นเมน คืออะไร ส่งผลต่อร่างกายอย่างไร

ภาวะก่อนเป็นเมน หรือ PMS (Premenstrual Syndrome) หมายถึง อาการทางร่างกายหรืออารมณ์ของเพศหญิงซึ่งอาจเกิดขึ้นก่อนเป็นเมนประมาณ 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งอาจประกอบด้วยอาการเหล่านี้

อาการทางร่างกาย

  • ปวดหัว ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
  • อ่อนล้า หมดแรง
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้น มีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
  • เจ็บเต้านม
  • สิวขึ้น
  • ท้องผูก ท้องเสีย ท้องอืด

อาการทางอารมณ์

  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
  • เครียด ซึมเศร้า
  • ไม่มีสมาธิ ไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับใคร
  • ความต้องการทางเพศมากขึ้นหรือลดลง

ทั้งนี้ อาการ PMS จะหายไปภายในประมาณ 4 วัน หลังจากมีประจำเดือน

อาการเป็นเมนแบบไหนที่ผิดปกติและควรไปพบคุณหมอ

เมื่อพบความผิดปกติเกี่ยวกับการเป็นเมนดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ

  • ยังไม่เคยเป็นเมน แม้อายุ 16 ปีแล้ว
  • หยุดเป็นเมนกะทันหัน และตรวจพบว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
  • เป็นเมนปริมาณมากกว่าที่เคยเป็น โดยสังเกตจากปริมาณการใช้ผ้าอนามัยที่มากกว่าปกติ
  • เป็นเมนในระยะเวลานานกว่าที่เคยเป็น
  • รู้สึกปวดท้องอย่างรุนแรงเมื่อเป็นเมน
  • ไม่สบายหรือมีไข้หลังจากใช้ผ้าอนามัยแบบสอดหรือแบบถ้วย
  • เมนไม่มาภายใน 3 เดือน หลังจากหยุดใช้ยาคุมกำเนิด
  • หยุดเป็นเมนไปแล้วหลังวัยทอง และกลับมาเป็นเมนอีก

ผ้าอนามัยแบบต่าง ๆ สำหรับใช้เมื่อเป็นเมน

เมื่อเป็นเมน ผู้หญิงต้องใช้ผ้าอนามัยเพื่อซับเลือดประจำเดือนซึ่งไหลออกมาทางช่องคลอด โดยผ้าอนามัยในท้องตลาด มีด้วยกัน 3 รูปแบบ แต่ละรูปแบบมีรายละเอียดแตกต่างกัน ดังนี้

  • ผ้าอนามัยแบบแผ่น เป็นผ้าอนามัยแบบที่ผู้หญิงส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้หญิงไทยใช้มากที่สุด มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าความยาวระหว่าง 20-45 เซนติเมตร มีแผ่นซึมซับรองอยู่ภายในซึ่งมักทำจากสำลี พอลิเมอร์ เยื่อกระดาษ ด้านหนึ่งซึ่งมีพื้นผิวหน้านุ่มจะแนบกับช่องคลอดและอีกด้านจะมีแถบกาวสำหรับแนบติดกับกางเกงชั้นใน โดยทั่วไป ผ้าอนามัยแบบแผ่นควรเปลี่ยนทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง เพื่อป้องกันแบคทีเรียก่อตัวและการสะสมกลิ่นไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ ผ้าอนามัยแบบแผ่นยังมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบมีปีก ไม่มีปีก แบบหนา แบบบาง แบบผิวหน้านุ่ม ผิวหน้าแห้ง แบบสั้น แบบยาว เพื่อรองรับปริมาณประจำเดือนและความต้องการที่แตกต่างกันในผู้หญิงแต่ละคน
  • ผ้าอนามัยแบบสอด เป็นผ้าอนามัยทรงกระบอกเป็นแท่งขนาดเล็ก มีหลายขนาดเช่นเดียวกับผ้าอนามัยแบบแผ่น ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่พิเศษ ความยาวของผ้าอนามัยแบบสอดประมาณ 5 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ใช้สอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อซับเลือดประจำเดือน โดย 1 ชิ้นสามารถใช้งานได้ 4-6 ชั่วโมง โดยจะมีเชือกเส้นเล็ก ๆ ติดกับแท่งผ้าอนามัยสำหรับดึงผ้าอนามัยออกจากช่องคลอด ทำให้สะดวกในการใช้งาน อย่างไรก็ตาม การใช้ผ้าอนามัยแบบสอดไม่ควรใช้ขณะนอนเพราะอาจทำให้ลืมตื่นมาเปลี่ยนและเกิดการหมักหมมและติดเชื้อได้
  • ผ้าอนามัยแบบถ้วย มีลักษณะเป็นถ้วยขนาดเล็กทรงกรวย มักทำจากยางชนิดนิ่มพิเศษหรือซิลิโคน นิ่มและยืดหยุ่นสูง ใช้สอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อรองรับเลือดประจำเดือน ความยาวเส้นผ่านศูนย์กลางของผ้าอนามัยแบบถ้วยจะอยู่ที่ประมาณ 5 เซนติเมตร ทั้งนี้ ผ้าอนามัยแบบสอดใช้งานได้ถึง 12 ชั่วโมง และรองรับเลือดประเดือนได้ค่อนข้างมาก ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย ๆ ระหว่างวัน รวมถึงสามารถใช้ซ้ำได้หลังจากล้างทำความสะอาด อย่างไรก็ตาม ผ้าอนามัยชนิดนี้อาจใส่เข้าไปในช่องคลอดได้ค่อนข้างยาก อาจเกิดอาการแพ้สำหรับผู้ที่มีประวัติแพ้ยางหรือซิลิโคน รวมทั้งอาจทำให้ประจำเดือนหกเลอะเทอะได้ ขณะนำออกจากร่างกาย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Premenstrual syndrome (PMS). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/premenstrual-syndrome/symptoms-causes/syc-20376780. Accessed April 4, 2022

“PMS” เพราะฮอร์โมน..เปลี่ยนแปลงในรอบเดือน. https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/pms-%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AE%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B8%99-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9B/#:~:text=PMS%20(Premenstrual%20Syndrome)%20%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3,%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%87%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%87%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2. Accessed April 4, 2022

All About Periods. https://kidshealth.org/en/teens/menstruation.html. Accessed April 4, 2022

Periods: https://www.nhs.uk/conditions/periods/. Accessed April 4, 2022

Tampons, Pads, and Other Period Supplies. https://kidshealth.org/en/teens/supplies.html#:~:text=Most%20girls%20use%20on%20or,menstrual%20cups. Accessed April 4, 2022

The Facts on Tampons—and How to Use Them Safely. https://www.fda.gov/consumers/consumer-updates/facts-tampons-and-how-use-them-safely. Accessed April 4, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/04/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ไข้ทับระดู อาการป่วยเมื่อเป็นประจำเดือนที่ควรรู้

ประจำเดือนขาด เกิดจากสาเหตุใด


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา