backup og meta

มดลูกอักเสบเกิดจาก อะไร มีปัจจัยเสี่ยงและวิธีป้องกันอย่างไร

มดลูกอักเสบเกิดจาก อะไร มีปัจจัยเสี่ยงและวิธีป้องกันอย่างไร

มดลูกอักเสบเกิดจาก ภาวะติดเชื้อภายในมดลูกและระบบสืบพันธุ์ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ที่มีมดลูกอักเสบอาจมีอาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือท้องส่วนล่าง ประจำเดือนมามาก มีตกขาวผิดปกติ เป็นต้น ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้มดลูกอักเสบ เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย การมีคู่นอนหลายคน อย่างไรก็ตาม หากมดลูกอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ แต่หากติดเชื้อนานเกินไปอาจไม่สามารถรักษาแผลที่เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะภายในได้ จึงควรหมั่นสังเกตอาการเป็นประจำ และหากรู้สึกถึงความผิดปกติ ควรรีบพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม การรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอักเสบเรื้อรัง และช่วยให้มดลูกกลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว

[embed-health-tool-ovulation]

มดลูกอักเสบเกิดจาก

ส่วนใหญ่แล้ว มดลูกอักเสบเกิดจาก การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อคลาไมเดียหรือเชื้อหนองในเทียม (Chlamydia) เชื้อหนองใน (Gonorrhoea) ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคบริเวณอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง แบคทีเรียเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายผ่านทางช่องคลอด ก่อนจะไปถึงปากมดลูก และอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะใกล้เคียง เช่น มดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ อุ้งเชิงกราน เชื้อมักถ่ายทอดผ่านการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากมดลูกติดเชื้อจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การระคายเคืองเมื่อใช้ผ้าอนามัยแบบสอด ความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศและแบคทีเรียในช่องคลอด ภาวะเหล่านี้หากไม่รักษาและปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ อาจทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง ฝีในท่อรังไข่ ภาวะมีบุตรยากในอนาคต และภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มดลูกอักเสบ

ปัจจัยต่อไปนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมดลูกอักเสบได้

  • มีเพศสัมพันธ์ก่อนอายุ 25 ปี
  • มีคู่นอนหลายคน
  • มีคู่นอนที่มีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในเวลาเดียวกัน
  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมใส่ถุงยางอนามัย
  • สวนล้างช่องคลอดเป็นประจำ ทำให้ปริมาณแบคทีเรียที่ดีภายในช่องคลอดเสียสมดุล
  • มีประวัติเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ หรือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน

สัญญาณของมดลูกอักเสบ

อาการที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะมดลูกอักเสบ อาจมีดังนี้

  • วิงเวียนศีรษะ อาเจียน
  • รู้สึกอ่อนเพลีย
  • ปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือท้องส่วนล่าง
  • รู้สึกเจ็บหรือแสบขณะถ่ายปัสสาวะ
  • มีเลือดออกระหว่างและหลังมีเพศสัมพันธ์
  • ความรู้สึกไม่สบายหรือเจ็บบริเวณท้องส่วนล่างระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • ประจำเดือนมามาก
  • ปวดประจำเดือน
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงที่ไม่ได้มีประจำเดือน
  • มีตกขาวผิดปกติ เช่น ตกขาวสีเหลือง สีเขียว และอาจมีกลิ่น

วิธีป้องกันมดลูกอักเสบ

วิธีป้องกันการเกิดภาวะมดลูกอักเสบ อาจทำได้ดังต่อไปนี้

  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้ ยาคุมกำเนิดประเภทต่าง ๆ ไม่อาจป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ จำเป็นต้องสวมใส่ถุงยางอนามัยเท่านั้น
  • เข้ารับการตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
  • หากพบว่าตัวเองเสี่ยงเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจภายในและรับการรักษาตั้งแต่ติดเชื้อในระยะแรก ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะมดลูกอักเสบในอนาคต
  • หากตรวจพบว่าติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรแนะนำให้คู่นอนเข้ารับการตรวจรักษาด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ
  • ไม่ควรล้างสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบ และกระทบต่อแบคทีเรียที่ดีในช่องคลอดได้
  • หากใช้ผ้าอนามัยแบบสอดแล้วรู้สึกระคายเคือง ควรเปลี่ยนไปใช้ผ้าอนามัยแบบอื่น เช่น ผ้าอนามัยแบบแผ่น เพื่อลดความระคายเคืองภายในช่องคลอดที่อาจทำให้เกิดการอักเสบได้

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบคุณหมอ

หากมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม อาการที่พบและระดับความรุนแรงของภาวะมดลูกอักเสบอาจแตกต่างไปในแต่ละราย ยิ่งไปพบคุณหมอเร็วเท่าไหร่ ก็อาจรักษาอาการให้ดีขึ้นได้เร็วเท่านั้น ทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะติดเชื้อรุนแรงได้อีกด้วย

  • ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีไข้ และอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38.3 องศาเซลเซียส (°C)
  • มีตกขาวผิดปกติและตกขาวอาจมีกลิ่น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pelvic inflammatory disease. https://www.nhs.uk/conditions/pelvic-inflammatory-disease-pid/. Accessed April 5, 2022

Pelvic inflammatory disease (PID). https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/pelvic-inflammatory-disease-pid. Accessed April 5, 2022

Pelvic inflammatory disease (PID). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pelvic-inflammatory-disease/symptoms-causes/syc-20352594. Accessed April 5, 2022

Pelvic Inflammatory Disease (PID). https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/9129-pelvic-inflammatory-disease-pid. Accessed April 5, 2022

What Are the Symptoms of Pelvic Inflammatory Disease? https://www.webmd.com/women/symptoms-pelvic-inflammatory-disease. Accessed April 5, 2022

Pelvic Inflammatory Disease (PID). https://www.plannedparenthood.org/learn/health-and-wellness/pelvic-inflammatory-disease-pid. Accessed April 5, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/11/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

มดลูก มีโครงสร้างและหน้าที่อย่างไร

มดลูก มีโครงสร้างและหน้าที่อย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา