backup og meta

หูดหงอนไก่ ชาย เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

    หูดหงอนไก่ ชาย เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร

    หูดหงอนไก่ ชาย เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ทำให้เกิดตุ่มหรือหูดบริเวณอวัยวะเพศ เช่น ปลายองคชาต ถุงอัณฑะ รอบทวารหนัก ปัจจัยเสี่ยงโรคนี้ ได้แก่ การสัมผัสกับผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศที่ติดเชื้อ และการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ผู้ที่ไม่สวมถุงยางอนามัยจึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสและเกิดเป็นโรคหูดหงอนไก่ได้ง่ายกว่า หากพบว่ามีติ่งเนื้อคล้ายหูดที่ขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ควรไปพบคุณหมอ เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม

    หูดหงอนไก่คืออะไร

    หูดหงอนไก่ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สามารถพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โรคนี้ทำให้เกิดหูดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ในผู้หญิงอาจเกิดหูดหงอนไก่ได้ทั้งภายในและภายนอกช่องคลอด เช่น ปากมดลูก รอบทวารหนัก ส่วนผู้ชายอาจเกิดหูดที่ปลายองคชาต บนถุงอัณฑะ และรอบทวารหนัก หูดหงอนไก่ที่ขึ้นรอบอวัยวะเพศอาจมีรูปร่างแบนราบและมีผิวขรุขระคล้ายดอกกะหล่ำ โดย ทั่วไป หูดหงอนไก่จะมีขนาดโตขึ้นและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว

    หูดหงอนไก่ในผู้ชาย เกิดจากอะไร

    โรคหูดหงอนไก่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (Human papillomavirus) หรือเชื้อเอชพีวี (HPV) มักทำให้เกิดการติดเชื้อที่เนื้อเยื่อบริเวณอวัยวะเพศซึ่งอุ่นและชื้น เมื่อติดเชื้อแล้วอาจใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือนกว่าอาการของโรคจะเริ่มปรากฏ หูดจะเริ่มขึ้นเป็นหย่อม ๆ บริเวณอวัยวะเพศ ทำให้เกิดอาการคันและระคายเคือง แต่ในบางกรณีที่พบได้ไม่บ่อย อาจเกิดหูดภายในช่องปากและลำคอ ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อบางรายก็อาจไม่แสดงอาการ ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันและจำนวนเชื้อที่ได้รับ จึงอาจไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อและแพร่เชื้อไปยังคู่นอนของตัวเองได้

    ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นโรคหูดหงอนไก่ได้ มีดังนี้

    • มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
    • มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคนโดยไม่ได้ป้องกัน
    • เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นอยู่แล้ว เช่น ซิฟิลิส หนองใน พยาธิในช่องคลอด
    • สัมผัสกับผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศที่ติดเชื้อ
    • มีภูมิคุ้มกันบกพร่องเนื่องจากติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
    • มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ

    อาการของ หูดหงอนไก่ ชาย

    อาการของหูดหงอนไก่ของผู้ชาย อาจมีดังนี้

    • ผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศมีติ่งลักษณะขรุขระคล้ายหงอนไก่ มีสีเดียวกับผิวหนัง สีชมพู หรือสีแดง
    • ติ่งเนื้อมีขนาดเล็ก และอาจขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ
    • รู้สึกระคายเคือง เจ็บเล็กน้อย หรือมีจุดเลือดออก
    • มีอาการคัน
    • รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์

    วิธีรักษา หูดหงอนไก่ ชาย  

    หูดหงอนไก่ ชาย รักษาอย่างไร ? ปกติแล้วจะรักษาตามระดับความรุนแรงของการติดเชื้อ โดยมีวิธีรักษาต่าง ๆ ดังนี้

    การรักษาด้วยการใช้ยา

    • ทิงเจอร์ โพโดฟิลลิน (Tincture podophyllin) ความเข้มข้น 25% ให้ทาบริเวณที่เป็นหูดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยควรให้บุคคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ทายาให้ และผู้ป่วยควรล้างยาออกด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หลังจากทายาประมาณ 4 ชั่วโมง
    • อิมิควิโมด (Lmiquimod) ความเข้มข้น 5% ให้ทาบริเวณที่เป็นหูดสัปดาห์ละ 3 ครั้งก่อนนอน แล้วล้างออกภายใน 6-10 ชั่วโมง โดยทาวันเว้นวันหรือสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 16 สัปดาห์
    • กรดไตรคลอโรอะซิติก (Trichloroacetic acid) ความเข้มข้น 80-90% ให้ทาบริเวณที่เป็นหูดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 6-10 สัปดาห์ ตามระดับความรุนแรงของหูด

    การรักษาด้วยการผ่าตัด นิยมใช้รักษาหูดที่มีขนาดใหญ่หรือรักษาได้ด้วยยาแล้วไม่ได้ผล

    • การจี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy) คุณหมออาจใช้ไนโตรเจนเหลวจี้หูดให้หลุดออก วิธีนี้อาจต้องทำซ้ำหลายครั้ง และอาจมีผลข้างเคียง คือ ทำให้รู้สึกเจ็บและบวม
    • การจี้ด้วยไฟฟ้า คุณหมออาจใช้ไฟฟ้าเพื่อเผาให้หูดหลุดออก วิธีนี้อาจทำให้เกิดอาการปวดและบวมหลังการรักษา
    • การผ่าตัด คุณหมออาจใช้เครื่องมือตัดหูดออก โดยต้องฉีดยาชาก่อนผ่าตัด และอาจทำให้เกิดอาการปวดหลังการรักษา
    • การใช้เลเซอร์ คุณหมออาจใช้ลำแสงเลเซอร์เข้มข้นสำหรับหูดที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวด ระคายเคือง หรือเกิดแผลเป็นได้

    หูดหงอนไก่สามารถกลับเป็นซ้ำได้ถึง 30-70% ในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งอาจเกืดจากกการติดเชื้อซ้ำจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือการเกิดรอยโรคจากเชื้อในร่างกายตัวเอง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา