backup og meta

โรคหูดหงอนไก่ สัญญาณเตือนและวิธีป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

    โรคหูดหงอนไก่ สัญญาณเตือนและวิธีป้องกัน

    โรคหูดหงอนไก่ คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human papillomavirus: HPV) ที่ทำให้เกิดตุ่มหูดเล็ก ๆ คล้ายดอกกะหล่ำในบริเวณอวัยวะเพศ ช่องคลอด ปากมดลูก องคชาต อัณฑะ และทวารหนัก รวมถึงอาการคัน ระคายเคือง เลือดออกจากอวัยวะเพศ และอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวในขณะที่เคลื่อนไหว ดังนั้น หากสังเกตอาการดังกล่าว ควรเข้ารับการรักษาจากคุณหมอทันที

    สาเหตุของโรคหูดหงอนไก่

    โรคหูดหงอนไก่ อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา  หรือเชื้อเอชพีวี ที่อาจได้รับจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การใช้เซ็กส์ทอยร่วมกับผู้อื่น และการสัมผัสกับหูดโดยตรงขณะมีเซ็กส์ทางปากหรือทางทวารหนัก

    นอกจากนี้ คุณแม่ที่เป็นโรคหูดหงอนไก่อาจแพร่กระจายเชื้อไปสู่ทารกได้ขณะคลอดบุตรผ่านทางช่องคลอด ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดหูดหงอนไก่ที่ทางเดินหายใจ (Recurrent Respiratory Papillomatosis) ที่ส่งผลให้ทารกมีอาการกล่องเสียงอุดตัน เสียงแหบ หายใจลำบาก และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

    สัญญาณเตือนโรคหูดหงอนไก่

    ปกติแล้ว หลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเอชพีวี อาจใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันและปริมาณของเชื้อที่ได้รับ โดยอาจสังเกตสัญญาณเตือนได้ดังนี้

    • อวัยวะเพศมีอาการบวม
    • อาการคัน และรู้สึกไม่สบายตัวเมื่อเคลื่อนไหวหรือมีเพศสัมพันธ์
    • เลือดออกระหว่างมีเพศสัมพันธ์
    • รู้สึกเจ็บแสบขณะปัสสาวะ ผู้หญิงอาจมีตกขาวผิดปกติ
    • ตุ่มหูดขึ้นบริเวณรอบ ๆ อวัยวะเพศ ช่องคลอด องคชาต หรือทวารหนัก มากกว่า 1 ตุ่มขึ้นไป
    • บางคนอาจมีตุ่มหรือแผลพุพองขึ้นในช่องปากและลำคอ หลังจากมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางปาก

    ภาวะแทรกซ้อนโรคหูดหงอนไก่

    ภาวะแทรกซ้อนของโรคหูดหงอนไก่ มีดังนี้

    • มะเร็ง เชื้อไวรัสเอชพีวีบางสายพันธุ์ เช่น HPV16 , HPV18 อาจส่งผลให้เกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งองคชาต และมะเร็งทวารหนัก
    • ปัญหาระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ปัสสาวะลำบาก คลอดบุตรยาก หูดขนาดใหญ่ในช่องคลอด เลือดออกจากช่องคลอด อีกทั้งเชื้อยังอาจแพร่กระจายไปสู่ทารกได้ขณะคลอด เพื่อลดปัญหาเหล่านี้อาจจำเป็นต้องเลือกวิธีการผ่าคลอดแทนการคลอดธรรมชาติ

    การรักษาโรคหูดหงอนไก่

    วิธีการรักษาโรคหูดหงอนไก่ มีดังนี้

    ยาในรูปแบบทา

    • โพโดฟิลอกซ์ (Podofilox) ใช้เพื่อช่วยทำลายเนื้อเยื่อหูดที่อวัยวะเพศ จนหูดค่อย ๆ หลุดออกเองภายใน 2-3 วัน อย่างไรก็ตาม ยานี้อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อน อาการคันบริเวณที่ทา นอกจากนี้ ยาอาจซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เส้นประสาทอักเสบ และทำให้มีอาการชาได้
    • อิมิควิโมด (Imiquimod) เป็นยาในรูปแบบครีมที่ใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับการติดเชื้อเอชพีวี โดยควรทาก่อนนอน หรือทาทิ้งไว้ 6-10 ชั่วโมงแล้วล้างออก ควรทา 3 ครั้ง/สัปดาห์ (วันเว้นวัน) แต่ไม่เกิน 16 สัปดาห์ติดต่อกัน เพราะอาจส่งผลข้างเคียงทำให้เกิดผื่นแดง ระคายเคือง และอาการบวม ไม่ควรใช้ยานี้ทาหูดที่ปากมดลูก ภายในช่องคลอด และไม่แนะนำให้ใช้กับสตรีตั้งครรภ์
    • กรดไตรคลอโรอะซิติก (Trichloroacetic acid) เป็นยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวหนัง ใช้เพื่อกำจัดหูดบริเวณอวัยวะเพศโดยการลอกผิวหนังบริเวณหูดออก ควรใช้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 6-10 สัปดาห์ โดยทาบริเวณหูดและปิดแผลเอาไว้ 5-6 วัน แต่อาจส่งผลให้มีอาการระคายเคืองผิวหนังเล็กน้อย บางคนอาจมีแผลและเจ็บปวด
    • ซิเนคาเทชิน (Sinecatechins) เหมาะสำหรับผู้ที่มีหูดรอบ ๆ อวัยวะเพศ ควรทาวันละ 3 ครั้ง โดยไม่ต้องล้างออก และไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน 16 สัปดาห์ ยานี้มีผลข้างเคียงคืออาจทำให้รู้สึกแสบ คัน ผื่นขึ้น อีกทั้งยังไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเริม
    • ทิงเจอร์พอโดฟิลลิน (Tincture podophyllin) คือยาที่ออกฤทธิ์ช่วยทำลายเนื้อเยื่อหูด ทำให้หูดหลุดออก ควรทาในปริมาณน้อย ๆ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง และทิ้งไว้ให้แห้งสนิทโดยไม่ต้องล้างออก

    การผ่าตัด

    • ไนโตรเจนเหลว (Cryotherapy) เป็นการรักษาโดยการแช่แข็งหูดด้วยไนโตรเจนเหลว ทำให้เนื้อเยื่อของหูดถูกทำลายจนหลุดออก วิธีรักษานี้อาจทำให้ผิวรอบข้างตาย รู้สึกปวด และผิวพองได้
    • การผ่าตัด คุณหมออาจฉีดยาชาหรือทายาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด และใช้เครื่องมือพิเศษตัดหูดออก วิธีนี้อาจทำให้รู้สึกปวดบริเวณผ่าตัดหลังจากยาชาหมดฤทธิ์
    • การจี้ด้วยไฟฟ้า เป็นการใช้ไฟฟ้าจี้ในบริเวณเนื้อเยื่อของหูด ทำให้เนื้อเยื่อหูดตาย และหลุดลอกออก ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงคือรู้สึกปวดและผิวบวมหลังกำจัดหูด
    • การทำเลเซอร์ เป็นการใช้ลำแสงที่มีความเข้มข้นสูงฉายที่หูด เพื่อทำให้เซลล์เนื้อเยื่อของหูดตายและหลุดออก ซึ่งอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้ง และอาจทิ้งรอยแผลเป็นไว้ได้

    วิธีป้องกันโรคหูดหงอนไก่

    วิธีป้องกันโรคหูดหงอนไก่ มีดังนี้

    • ฉีดวัคซีนเอชพีวี เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อที่ก่อให้เกิดหูดหงอนไก่ได้ โดยแนะนำให้ฉีดตั้งแต่อายุ 11-12 ปี ขึ้นไป ให้ครบทั้ง 2 โดส แต่ละโดสห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน สำหรับช่วงอายุ 15-26 ปี ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 45 ปี ควรปรึกษาคุณหมอก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยคุณหมออาจฉีดทั้งหมด 3 โดส ซึ่งโดสที่ 2 จะฉีดห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน และเว้นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ก่อนจะฉีดเข็มสุดท้าย
    • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
    • หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
    • ไม่ควรใช้เซ็กส์ทอยและของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว กางเกงชั้นใน ร่วมกับผู้อื่น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา