backup og meta

หูดหงอนไก่ตกขาว คืออะไร ควรรักษาอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/10/2022

    หูดหงอนไก่ตกขาว คืออะไร ควรรักษาอย่างไร

    หูดหงอนไก่ตกขาว เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่เป็นโรคหูดหงอนไก่ ที่ทำให้มีอาการตกขาวผิดปกติร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้น จึงควรเข้ารับการรักษาทันทีหากสังเกตว่ามีอาการคัน เจ็บแสบขณะปัสสาวะหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงสีตกขาวเปลี่ยนจากสีขาวใสเป็นสีและลักษณะอื่น ๆ เพราะหากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอดและหากตั้งครรภ์ก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ได้

    หูดหงอนไก่ตกขาว คืออะไร

    หูดหงอนไก่ตกขาว คือ อาการตกขาวที่เกิดขึ้นพร้อมกับโรคหูดหงอนไก่ โดยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่พบบ่อยที่สุด คือ HPV 6, 11 มักทำให้เกิดหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศ และ HPV 16, 18, 31, 33, 35 มักทำให้เกิดหูดหงอนไก่บริเวณทวารหนัก อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเพิ่มโอกาสทำให้เป็นโรคหูดหงอนไก่ตกขาว ดังต่อไปนี้

    • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
    • การมีคู่นอนหลายคนโดยไม่ทราบประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของคู่นอน
    • ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องเนื่องจากการติดเชื้อเอชไอวี หรือการรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน
    • การสัมผัสที่บริเวณอวัยวะเพศหรือแผลหูดของผู้ติดเชื้อโดยตรง

    อาการของหูดหงอนไก่ตกขาว

    อาการของหูดหงอนไก่ตกขาว มีดังนี้

    • มีหูดสีแดงหรือสีขาว รูปร่างคล้ายดอกกะหล่ำ พบได้บริเวณรอบช่องคลอด ปากมดลูก ขาหนีบ และทวารหนัก
    • เจ็บแสบอวัยวะเพศ ขณะปัสสาวะหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์
    • มีอาการคันและระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ
    • เลือดออกทางอวัยวะเพศ
    • ปวดอุ้งเชิงกราน
    • ตกขาวมากผิดปกติและมีกลิ่นเหม็น
    • ตกขาวเป็นก้อนหนา สีขาวข้น
    • ตกขาวสีผิดปกติ เช่น เหลือง เขียว น้ำตาล เทา ชมพู ฟ้า

    ควรเข้าพบคุณหมอทันทีหากสังเกตว่ามีหูดขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ และมีตกขาวผิดปกติ เพื่อรับการรักษาและวินิจฉัยว่าเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ ด้วยการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อเซลล์ในช่องคลอดหรือปากมดลูกนำมาตรวจ

    วิธีรักษาหูดหงอนไก่ตกขาว

    วิธีรักษาหูดหงอนไก่ตกขาว มีดังนี้

    ยา

    • อิมิควิโมด (Imiquimod) คือ ยาในรูปแบบครีม ใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับการติดเชื้อเอชพีวี ควรทาก่อนนอน ทิ้งไว้ 6-10 ชั่วโมง แล้วล้างออก ควรใช้ต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ และหยุดใช้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อพักผิว แล้วกลับมาใช้ต่อเนื่องจนกว่าหูดจะหาย ซึ่งอาจนานถึง 8 สัปดาห์ ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยานี้เพราะอาจส่งผลข้างเคียงทำให้คู่นอนมีผื่นแดง ระคายเคือง และไม่แนะนำให้ใช้ในสตรีตั้งครรภ์
    • โพโดฟิลอกซ์ (Podofilox) เป็นยาในรูปแบบทา ใช้ทาบริเวณหูดหงอนไก่เพื่อหยุดการเจริญเติบโตของหูดและช่วยทำลายเนื้อเยื่อหูดหงอนไก่ โดยหูดจะค่อย ๆ หลุดเองภายใน 2-3 วัน ควรทาวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน ติดต่อกัน และหยุดใช้เป็นเวลา 4 วัน หากหูดยังมีอาการไม่ดีขึ้นควรกลับมาใช้ยาต่อเนื่องอีก 4 สัปดาห์ ยานี้อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนและคันในบริเวณที่ทาเล็กน้อย หากรู้สึกว่ามีอาการเจ็บปวดรุนแรง มีเลือดออก ควรล้างออกทันทีและควรแจ้งให้คุณหมอทราบ อีกทั้งยังไม่แนะนำให้ใช้ในระหว่างตั้งครรภ์
    • กรดไตรคลอโรอะซิติก (Trichloroacetic acid) เป็นยาในรูปแบบทา ใช้เพื่อรักษาหูดหงอนไก่ตกขาวโดยออกฤทธิ์กระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวหนังบริเวณหูดหงอนไก่ ทำให้หูดค่อย ๆ หลุดออก ควรใช้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 6-10 สัปดาห์ โดยทาบริเวณหูดและปิดแผลเอาไว้ 5-6 วัน ยานี้มีผลข้างเคียงคืออาจทำให้รู้สึกระคายเคืองผิวหนังและเจ็บปวดแผลบริเวณที่ทา สามารถใช้ในผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากไม่ดูดซึมผ่านผิวหนังหรือเยื่อบุโพรงมดลูก
    • ซิเนคาเทชิน (Sinecatechins) เป็นยาในรูปแบบทา ใช้สำหรับรักษาอาการหูดหงอนไก่ตกขาว โดยควรทารอบอวัยวะเพศ วันละ 3 ครั้ง แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน 16 สัปดาห์ ยานี้อาจส่งผลให้มีอาการผิวแดง แสบร้อน และเจ็บปวดแผล

    การผ่าตัด

    • การผ่าตัดเพื่อกำจัดตุ่มหูดหงอนไก่ออกทั้งหมด โดยมีผลข้างเคียงคืออาจทำให้เกิดบาดแผลและอาการปวดแผลหลังการผ่าตัด
    • การจี้ด้วยไฟฟ้า เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการหูดหงอนไก่ขนาดใหญ่และยากต่อการรักษา โดยใช้ไฟฟ้าจี้ในบริเวณที่มีอาการหูดหงอนไก่ ทำให้เนื้อเยื่อหูดตายและหลุดออก
    • การเลเซอร์ เป็นการใช้ลำแสงที่มีความเข้มข้นสูงฉายในบริเวณที่มีอาการหูดหงอนไก่ เพื่อช่วยให้เซลล์เนื้อเยื่อของหูดตายและหลุดออก ซึ่งอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหลายครั้ง การรักษาด้วยวิธีนี้อาจส่งผลให้มีอาการเจ็บปวดและรอยแผลเป็น
    • ไนโตรเจนเหลว (Cryotherapy) ใช้เพื่อแช่แข็งหูดหงอนไก่ ทำให้เนื้อเยื่อของหูดถูกทำลายจนหลุดออกเอง ซึ่งอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาซ้ำ ๆ หลายครั้ง การรักษาด้วยวิธีนี้อาจส่งผลให้ผิวหนังรอบข้างตาย จนรู้สึกเจ็บปวดหรือผิวหนังพองจากความเย็นจัดของไนโตรเจนเหลวได้

    อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อ HPV ที่เป็นสาเหตุของการเกิดหูดหงอนไก่ ปัจจุบันนี้ HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา