backup og meta

ไม่มีอาการคนท้อง แต่ประจําเดือนไม่มา เกิดจากอะไร และมีวิธีแก้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/03/2024

    ไม่มีอาการคนท้อง แต่ประจําเดือนไม่มา เกิดจากอะไร และมีวิธีแก้อย่างไร

    หลังจากการมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะไม่มีการหลั่งในหรือมีการหลั่งใน ที่ตรวจสอบแล้วว่าไม่ตั้งครรภ์ ไม่มีอาการคนท้อง แต่ประจําเดือนไม่มา อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น มีความเครียดสูง ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ดังนั้น หากมีความกังวลควรเข้ารับการวินิจฉัยหาสาเหตุให้ชัดเจนโดยคุณหมอ เพื่อรับการรักษาที่ช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติ 

    ไม่มีอาการคนท้อง แต่ประจําเดือนไม่มา เกิดจากอะไร

    สำหรับผู้หญิงที่ไม่มีอาการคนท้องหลังจากมีเพศสัมพันธ์ทั้งในการหลั่งในและไม่มีการหลั่งใน อาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้ ซึ่งควรตรวจครรภ์ด้วยที่ตรวจครรภ์หลังจากมีเพศสัมพันธ์ไปแล้วประมาณ 12-14 วัน เพราะเป็นช่วงที่ไข่ตกหรือกำลังอยู่ในกระบวนการปฏิสนธิ การฝังตัวของไข่และอสุจิที่ทำให้ทราบว่ากำลังตั้งครรภ์ นอกจากนี้บางคนก็อาจไม่มีอาการตั้งท้องเกิดขึ้น ดังนั้น จึงต้องตรวจเพื่อให้ทราบผลลัพธ์ชัดเจน หากตรวจแล้วว่าไม่มีการตั้งครรภ์ แต่ประจำเดือนไม่มาตามรอบเดือน ก็ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ดังนี้

  • ความเครียด เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ที่อยู่บริเวณสมองส่วนหน้าทำหน้าที่ควบคุมการตกไข่ ส่งผลให้เกิดการทำงานผิดปกติและทำให้ประจำเดือนไม่มาหรือมาช้าโดยอาจมาหลังจากระดับความเครียดลดลง
  • ยาคุมกำเนิด มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน ที่ช่วยชะลอการตกไข่ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบาง เพื่อไม่ให้เกิดการปฏิสนธิและฝังตัวของไข่และอสุจิที่ส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาหรือประจำเดือนมาช้ากว่าปกติได้
  • น้ำหนักตัว การมีน้ำหนักมากเกิน หรือน้ำหนักน้อยเกินไป อาจทำให้ร่างกายหยุดผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนที่จำเป็นต่อการตกไข่ หรือทำให้มีปริมาณมากเกินไปจนเสียความสมดุล และอาจทำให้ประจำเดือนไม่มา 1 เดือน หรือนานกว่านั้น
  • ฮอร์โมนไม่สมดุล ที่อาจเกิดจากกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เนื้องอกต่อมใต้สมอง เพราะอาจส่งผลให้ฮอร์โมนที่ช่วยให้เกิดการตกไข่ไม่สมดุลกันจึงส่งผลให้ประจำเดือนไม่มา
  • วัยหมดประจำเดือน พบได้มากในผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป เนื่องจากร่างกายมีระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ส่งผลให้การตกไข่น้อยลงจนทำให้ประจำเดือนไม่มาหรือหยุดลงโดยสมบูรณ์
  • ปัญหาโครงสร้างในมดลูก ซึ่งอาจเกิดจากการขูดมดลูกเก่า การผ่าตัดมดลูกหรือรังไข่จากการเป็นเนื้องอก เป็นต้น เพราะอวัยวะภายในมดลูกมีส่วนสำคัญที่ช่วยในการตกไข่ ดังนั้น เมื่อมดลูกเกิดเป็นแผลหรือจำเป็นต้องผ่าตัดอวัยวะของมดลูกออกทำให้อวัยวะภายในมดลูกทำงานไม่สมบูรณ์ที่ช่วยในการตกไข่และทำให้ประจำเดือนไม่มา
  • ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต ยารักษาโรคภูมิแพ้ เคมีบำบัดโรคมะเร็ง ยารักษาโรคทางจิตเภท เพราะยาเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองส่วนหน้าที่มีหน้าที่ช่วยควบคุมการตกไข่ หรืออาจทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุลจึงนำไปสู่ประจำเดือนขาดหรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
  • วิธีแก้ไขปัญหาประจำเดือนไม่มา

    วิธีแก้ไขปัญหาประจำเดือนไม่มา อาจทำได้ดังนี้

    • ผ่อนคลายความเครียด ด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น อ่านหนังสือ นอนพักผ่อน ฟังเพลง ดูหนัง ช เนื่องจากการที่ประจำเดือนมาช้าอาจมีสาเหตุมาจากความเครียดที่รบกวนการทำงานของต่อมไฮโปทาลามัสที่มีหน้าที่ช่วยควบคุมการตกไข่และทำให้ประจำเดือนมาปกติ
    • หยุดรับประทานยาคุมกำเนิด สำหรับผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิด ควรรับประทานยาคุมแผงเดิมให้หมดก่อน จากนั้นจึงหยุดรับประทานยาคุมประมาณ 7 วัน เพื่อให้ประจำเดือนรอบเดือนถัดไปมาเป็นปกติ หรือการใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบแผ่นแปะ การใส่ห่วงคุมกำเนิด หากอยากให้ประจำเดือนมา อาจจำเป็นต้องหยุดการใช้เพื่อให้ประจำเดือนมาตามปกติก่อนจะกลับไปใช้ใหม่เมื่อประจำเดือนหมด
    • ควบคุมน้ำหนัก การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ รวมถึงการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์น้อย อาจช่วยให้การทำงานของกรบวนการตกไข่มีประสิทธิภาพมากขึ้นทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติและมาสม่ำเสมอทุกรอบเดือน
    • เข้ารับการตรวจสุขภาพจากคุณหมอ เนื่องจากโรคประจำตัวหรือยาที่ใช้รักษาโรคอาจส่งผลต่อการมาของประจำเดือน ดังนั้น จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีหรือเมื่อประจำเดือนขาดนานกว่า 1 เดือนโดยไม่มีอาการท้อง เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนไม่มาและทำการรักษาอย่างรวดเร็ว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 29/03/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา