เนื้องอกมดลูก หรือ Myoma uteri คือ ก้อนเนื้องอกของกล้ามเนื้อมดลูก เกิดจากเซลล์กล้ามเนื้อเรียบมดลูกเพิ่มจำนวนมากผิดปกติ เนื้องอกมดลูกอาจมีเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อน Myoma uteri สามารถทำให้เกิดอาการที่ผิดปกติได้ ขึ้นกับขนาดและตำแหน่งของเนื้องอก ทั้งยังก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในหญิงตั้งครรภ์ เช่น ภาวะแท้งบุตร ภาวะคลอดก่อนกำหนด เนื้องอกมดลูกพบได้ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ แต่อาจพบมากในผู้หญิงวัย 40-50 ปี อย่างไรก็ตาม หากพบความผิดปกติของมดลูกหรือบริเวณอวัยวะเพศ ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรง
[embed-health-tool-ovulation]
Myoma uteri คือ อะไร
เนื้องอกมดลูก หรือ Myoma uteri คือ ก้อนเนื้องอกที่เจริญเติบโตบริเวณกล้ามเนื้อมดลูก เนื่องจากเซลล์กล้ามเนื้อเรียบบริเวณมดลูกเจริญเติบโตผิดปกติ เนื้องอกที่พบอาจมีเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อน และอาจมีขนาดเล็กจนไม่แสดงอาการ ไปจนถึงมีขนาดใหญ่ที่ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยต้องขึ้นกับตำแหน่งของเนื้องอกมดลูกด้วย เนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่ไม่ใช่เนื้อร้ายที่ทำให้เกิดมะเร็ง แต่หากปล่อยไว้อาจขยายใหญ่ขึ้นจนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้ โรคนี้พบได้ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 40-50 ปี อย่างไรก็ตาม หากมีปัจจัยบางประการ เช่น การมีประจำเดือนเร็ว การคุมกำเนิด การขาดวิตามินดี การรับประทานเนื้อสัตว์แดงมากเกินไป การดื่มแอลกอฮอล์ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกมดลูกได้
ประเภทของ Myoma uteri
ประเภทของเนื้องอกมดลูก หรือ Myoma uteri อาจแบ่งตามตำแหน่งของเนื้องอกได้ดังนี้
- เนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูก (Intramural myoma) เป็นตำแหน่งเนื้องอกที่พบได้บ่อยที่สุด พื้นที่ของเนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูกส่วนมากยังคงอยู่ในชั้นกล้ามเนื้อมดลูก ไม่กดเบียดโพรงมดลูก หรือไม่ยื่นออกไปด้านนอกมดลูก
- เนื้องอกในโพรงมดลูก (Submucous myoma) เนื้องอกประเภทนี้จะกดเบียดหรือยื่นเข้าไปในโพรงมดลูก และฝังตัวอยู่ใต้กล้ามเนื้อบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้พื้นผิวของโพรงมดลูกขรุขระ มักเป็นสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมามาก
- เนื้องอกที่ผิวด้านนอกมดลูก (Subserous myoma) เนื้องอกเจริญเติบโตออกไปทางด้านนอกของเนื้อมดลูก หากมีขนาดใหญ่มากมักจะไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียงได้ เช่น กดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย
อย่างไรก็ตาม อาจพบเนื้องอกมดลูกหลาย ๆ ประเภทร่วมกันได้
สาเหตุของ Myoma uteri คืออะไร
การเกิดเนื้องอกมดลูกสัมพันธ์กับวัยเจริญพันธุ์ ในแต่ละรอบเดือน ร่างกายผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์จะผลิตฮอร์โมนเพศหญิงอย่างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) มากระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมเป็นที่ฝังตัวของตัวอ่อนที่เกิดจากไข่ผสมกับอสุจิและเกิดการปฏิสนธิ ซึ่งกระบวนการนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเนื้องอกบริเวณมดลูกได้ เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนหรือช่วงที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศหญิงลดลง มักส่งผลให้ขนาดของเนื้องอกค่อย ๆ เล็กลงตามไปด้วยและไม่มีโอกาสเกิดซ้ำอีก นอกจากนี้ พันธุกรรมก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเนื้องอกมดลูกได้ หากคนในครอบครัว เช่น แม่ พี่สาว น้องสาว เคยมีประวัติเป็นเนื้องอกมดลูกมาก่อน ก็อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ได้มากขึ้น
อาการของเนื้องอกมดลูก
ผู้ป่วยที่มีเนื่องอกมดลูกส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ และมักตรวจเจอเมื่อตรวจภายในประจำปี อย่างไรก็ตาม หากเนื้องอกมดลูกมีขนาดใหญ่หรืออยู่ในตำแหน่งที่สำคัญ อาจก่อให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- เลือดประจำมามากผิดปกติ
- ประจำเดือนมานานกว่า 1 สัปดาห์
- ปวดท้องส่วนล่างหรือท้องน้อย
- คลำเจอก้อนเนื้อที่ท้อง หรือท้องโตผิดปกติ
- รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
- รู้สึกปวดบริเวณหลังและขา
- ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ อาจเกิดจากเนื้องอกไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ
- มีอาการท้องผูก อาจเกิดจากเนื้องอกไปเบียดทับลำไส้ใหญ่
การรักษาเนื้องอกมดลูก
การรักษาเนื้องอกมดลูกอาจแตกต่างกันไปตามขนาด จำนวน ตำแหน่งของเนื้องอก และอาการที่พบ ดังนี้
- เนื้องอกมดลูกขนาดเล็กที่ไม่ทำให้เกิดอาการ หากตรวจพบเนื้องอกมีขนาดเล็กอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เนื่องจากเนื้องอกมักหายหรือเล็กลงได้หลังวัยหมดประจำเดือน คุณหมออาจสังเกตการเปลี่ยนแปลงของขนาดก้อนเนื้องอก หากพบว่าเนื้องอกใหญ่ขึ้นหรือมีแนวโน้มจะใหญ่ขึ้นในอนาคต อาจลดขนาดเนื้องอกด้วยการใช้ยาฮอร์โมน หรือการผ่าตัดนำเนื้องอกออก
- เนื้องอกมดลูกขนาดเล็กแต่มีอาการเพียงเล็กน้อย คุณหมออาจให้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) และยาปรับระดับฮอร์โมนที่อาจช่วยลดขนาดเนื้องอกให้เล็กลงได้
- เนื้องอกมดลูกที่มีขนาดใหญ่และทำให้มีอาการป่วย หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่จนทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง ทำให้มีเลือดออก หรือกดทับอวัยวะใกล้เคียงมดลูกจนมีปัญหาสุขภาพตามมา คุณหมออาจรักษาด้วยการผ่าตัด โดยวิธีการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับขนาดและระดับความรุนแรงของเนื้องอกในมดลูก บางกรณีอาจผ่าตัดนำเนื้องอกออกอย่างเดียว หรือบางกรณีอาจต้องผ่าตัดนำมดลูกออกทั้งหมด
ภาวะแทรกซ้อนของเนื้องอกมดลูก
เนื้องอกมดลูกอาจขยายใหญ่ขึ้นจนไปกดทับอวัยวะบริเวณใกล้เคียง หรือส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนดังนี้
- ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) อาจเกิดขึ้นได้หากเนื้องอกมดลูกมีขนาดใหญ่จนไปปิดกั้นท่อนำไข่ หรือทำให้ตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิฝังตัวที่บริเวณผนังมดลูกได้ยากขึ้น จนอาจทำให้ตั้งครรภ์ไม่สำเร็จ
- ภาวะแท้งบุตร ในช่วงไตรมาสแรก ตัวอ่อนทารกอาจยังฝังตัวที่ผนังมดลูกไม่แน่นพอ หากมีเนื้องอกมดลูกมากดทับที่ผนังมดลูกอาจทำให้แท้งบุตรได้
- ภาวะคลอดก่อนกำหนด เนื้องอกมดลูกอาจเบียดทารกในครรภ์ และทำให้มดลูกขยายตัวได้ไม่เต็มที่ จนส่งผลให้คลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ได้ นอกจากนี้ ในบางรายอาจทำให้ทารกในครรภ์ไม่กลับหัว หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะรกเกาะต่ำ หากตำแหน่งของเนื้องอกมดลูกอยู่บริเวณส่วนล่างของมดลูกในหญิงตั้งครรภ์