backup og meta

Orgasm จุดสุดยอด เป็นอย่างไร และมีประโยชน์อย่างไร

Orgasm จุดสุดยอด เป็นอย่างไร และมีประโยชน์อย่างไร

Orgasm หรือ จุดสุดยอด คือ อารมณ์ทางเพศระดับสุดสูงเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เกิดขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่องทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยผู้หญิงอาจถึงจุดสุดยอดด้วยการกระตุ้นคลิตอริส ช่องคลอด ทวารหนัก ส่วนผู้ชายอาจถึงจุดสุดยอดด้วยการกระตุ้นบริเวณหัวองคชาต นอกจากนี้ การกระตุ้นที่อวัยวะส่วนอื่น ๆ เช่น หู คอ หัวนม หรือกระตุ้นด้วยภาพและเสียงก็อาจทำให้สามารถถึงจุดสุดยอดได้เช่นกัน ซึ่งการถึงจุดสุดยอดอาจช่วยให้ร่างกายคลายความตึงเครียด นอนหลับดีขึ้น สร้างสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก และอาจลดความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจ โรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้

[embed-health-tool-ovulation]

จุดกระตุ้นให้ถึง Orgasm

การกระตุ้นให้ถึงจุดสุดยอดสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายตำแหน่ง ดังนี้

  • การกระตุ้นคลิตอริส หรือปุ่มกระสัน เป็นจุดที่สามารถถูกกระตุ้นให้ถึงระยะจุดสุดยอด ได้ด้วยการสัมผัสบริเวณผิวหนังคลิตอริส จะทำให้รู้สึกเสียวซ่านตามผิวหนังและในสมอง
  • การกระตุ้นช่องคลอด เป็นการกระตุ้นจุดที่อยู่ลึกเข้าไปในช่องคลอด โดยการการสอดใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อช่วยกระตุ้นให้ถึงระยะจุดสุดยอด ได้
  • กระตุ้นจุดสุดยอดแบบผสม คือการถึงจุดสุดยอดจากการกระตุ้นทั้งบริเวณคลิตอริสและช่องคลอดไปพร้อม ๆ กัน
  • การกระตุ้นจุดกระสัน (G-spot) เป็นจุดที่อยู่ในบริเวณผนังคล้ายพังผืดช่องคลอดลึกประมาณ 1 นิ้วหลังกระดูกหัวหน่าว
  • การกระตุ้นทวารหนัก เป็นจุดที่อยู่ใกล้กล้ามเนื้อหูรูดในทวารหนัก เมื่อถึงระยะจุดสุดยอด อาจทำให้รู้สึกเหมือนปวดปัสสาวะอย่างมาก
  • การกระตุ้นอวัยวะส่วนอื่น เช่น หัวนม หู คอ ข้อศอก เข่า การสัมผัสหรือการจูบอวัยวะเหล่านี้อาจช่วยกระตุ้นให้ถึงจุดสุดยอดได้
  • การกระตุ้นด้วยภาพและเสียง เพื่อทำให้เกิดจินตนาการในหัวซึ่งกระตุ้นส่วนต่าง ๆ ของสมองที่เชื่อมต่อกับจุดสุดยอดพร้อมกับการกระตุ้นร่างกาย อาจช่วยให้ถึงจุดสุดยอดได้

จะรู้ได้อย่างไรว่าถึงจุดสุดยอด

ลักษณะการถึงจุดสุดยอดของของผู้หญิงและผู้ชายจะเกิดขึ้นอย่างเป็นวัฏจักร ดังนี้

ระยะตื่นตัว

  • ผู้หญิง: เป็นระยะกระตุ้นอารมณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ อัตราการเต้นของหัวใจและหายใจเร็วขึ้น และความดันโลหิตเพิ่มขึ้น หลอดเลือดในอวัยวะเพศขยายใหญ่ขึ้น ปริมาณเลือดเพิ่มขึ้น มีของเหลวไหลผ่านช่องคลอดทำให้ช่องคลอดบวมและเปียก รวมทั้งภายในช่องคลอดจะเริ่มขยายออก
  • ผู้ชาย: เป็นระยะกระตุ้นอารมณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้องคชาตแข็งตัว เลือดไหลเวียนมากขึ้น ส่งผลให้องคชาตมีขนาดใหญ่และแข็งตัวมากขึ้น และลูกอัณฑะจะค่อย ๆ หดตัวเข้าไปในหนังหุ้มอัณฑะ

ระยะก่อน Orgasm

  • ผู้หญิง: การไหลเวียนและการสูบฉีดของเลือดมากขึ้นทำให้หัวนมแข็งตัวน้อยลง คลิตอริสไวต่อความรู้สึกและหดตัวอยู่ภายใต้หนังหุ้มคลิตอริส
  • ผู้ชาย: เลือดจะไหลเวียนผ่านหลอดเลือดรอบ ๆ องคชาตมากขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น องคชาตและอัณฑะมีขนาดใหญ่ขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจเต้นและการหายใจเร็วขึ้น กล้ามเนื้อต้นขาและก้นตึง

ระยะ Orgasm

  • ผู้หญิง: กล้ามเนื้ออวัยวะเพศ มดลูก และช่องคลอดมีการหดตัวอย่างเป็นจังหวะ ซึ่งการถึงจุดสุดยอดของผู้หญิงอาจใช้เวลานานกว่าผู้ชายเฉลี่ยประมาณ 20-35 นาที
  • ผู้ชาย: น้ำอสุจิเดินทางเข้าท่อปัสสาวะโดยเดินทางผ่านกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ต่อมลูกหมาก ถุงน้ำเชื้อและท่อนำอสุจิ จากนั้นกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและต่อมลูกหมากจะหดตัว ส่งผลให้หลั่งน้ำอสุจิออกมา

ระยะพักฟื้น

  • ผู้หญิง: จังหวะการเต้นของหัวใจและการหายใจเริ่มช้าลง อาการบวมจะค่อย ๆ ลดลง และร่างกายจะค่อย ๆ กลับสู่สภาพเดิม นอกจากนี้ ผู้หญิงสามารถเข้าสู่ระยะจุดสุดยอด ได้อย่างรวดเร็วและหลายครั้งหากถูกกระตุ้นทางเพศเพิ่มเติมโดยไม่ต้องรอการพักฟื้นเป็นระยะเวลานาน
  • ผู้ชาย: ร่างกายจะค่อย ๆ กลับสู่สภาพเดิม องคชาตและอัณฑะกลับสู่ขนาดเดิม จังหวะการเต้นของหัวใจและการหายใจเริ่มช้าลง ผู้ชายอาจต้องใช้เวลาพักฟื้นร่างกายหลังถึงจุดสุดยอดนานกว่าผู้หญิง ซึ่งระยะเวลาอาจแตกต่างกันไปแต่ละบุคคล และช่วงเวลาพักฟื้นอาจยาวนานขึ้นตามอายุ

ประโยชน์ของการถึงจุดสุดยอด

เมื่อถึงระยะจุดสุดยอด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความผูกพัน ความรัก อาจส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย ดังนี้

  • ลดความเครียดและความวิตกกังวล ทำให้รู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น
  • อาจลดความเสี่ยงโรคหัวใจและโรคมะเร็งรังไข่ได้ ซึ่งผู้ชายที่หลั่งน้ำอสุจิบ่อยครั้งอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ โดยมีงานวิจัยตีพิมในวารสาร European Urology ปี พ.ศ. 2560 ทำการวิจัยเกี่ยวกับความถี่ในการหลั่งน้ำอสุจิอาจลดความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก พบว่า ผู้ชายที่หลั่งน้ำอสุจิบ่อยครั้งมีความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากลดลงเมื่อเทียบกับผู้ชายที่หลั่งน้ำอสุจิน้อยครั้ง
  • ช่วยให้นอนหลับง่ายและหลับสนิทขึ้น การถึงระยะ Orgasm อาจมีส่วนช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น โดยมีงานวิจัยตีพิมในวารสาร Frontiers in Public Health ปี พ.ศ. 2562 ทำการวิจัยเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ช่วยส่งเสริมการนอนหลับ พบว่า การถึงจุดสุดยอดจากการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหรือการช่วยตัวเองส่งผลดีต่อการนอนหลับที่ดีขึ้น ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้นและหลับสนิทขึ้น

ถึงจุดสุดยอดบ่อยเป็นอันตรายไหม

การถึงจุดสุดยอดบ่อยครั้งไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่อาจสร้างความระคายเคืองให้กับอวัยวะเพศ เนื่องจากการเสียดสีที่มากเกินไป อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อช่องคลอด หรือองคชาตมีอาการเจ็บปวด แสบ หรือเป็นแผลถลอกได้ ควรใช้สารหล่อลื่นเป็นตัวช่วยเพื่อลดการเสียดสีของผิวหนัง

ปัญหาที่ส่งผลต่อการถึงจุดสุดยอด

ปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อการถึงจุดสุดยอดอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • ความเบื่อหน่ายในกิจกรรมทางเพศหรือความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก
  • ไม่มีความต้องการทางเพศหรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  • เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือถูกข่มขืน
  • การมีปัญหากับคู่รัก การทะเลาะหรือโกรธเคืองกัน
  • ความเหนื่อยล้าและความเครียดจากการทำงานหรือการใช้ชีวิต หรือมีภาวะซึมเศร้า
  • ความรู้สึกเชิงลบเกี่ยวกับเพศ เช่น กลัวเจ็บ คิดว่าการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานเป็นสิ่งไม่ดี
  • ความรู้สึกเขินอายเมื่อถูกแตะตัวจากเพศตรงข้ามหรือการมีเพศสัมพันธ์

ปัญหาในเพศหญิง

ปัญหาที่อาจส่งผลต่อการถึงจุดสุดยอดในผู้หญิง มีดังนี้

  • ช่องคลอดแห้ง
  • ความผิดปกติหรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น วัยหมดประจำเดือน ช่วงตั้งครรภ์
  • การใช้ยาบางชนิดโดยเฉพาะยาที่ใช้รักษาภาวะซึมเศร้าอาจทำให้เกิดปัญหาการถึงจุดสุดยอดในผู้หญิง เช่น ฟลูออกซีทีน (Fluoxetine) พาร็อกซีทีน (Paroxetine) เซอร์ทาลีน (Sertraline)
  • โรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อสุขภาพและความสนใจทางเพศ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน
  • ปวดกระดูกเชิงกรานเรื้อรัง เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • ความเสียหายต่อเส้นประสาทที่ส่งผลต่อกระดูกเชิงกราน เช่น อาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง โรคปลอกประสาทอักเสบ เส้นประสาทถูกทำลายจากเบาหวาน

ปัญหาในเพศชาย

สาเหตุของปัญหาเพศสัมพันธ์ที่อาจส่งผลต่อการถึงจุดสุดยอดในผู้ชาย มีดังนี้

การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

เป็นภาวะที่ส่งผลให้องคชาตของผู้ชายไม่แข็งตัวหรือไม่สามารถคงความแข็งตัวได้นาน อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุทางกายและจิตใจ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด รวมถึงปัญหาในครอบครัว ความเครียดเรื่องงานหรือเงิน อาจส่งผลต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศและภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้เช่นกัน

ไม่มีความต้องการทางเพศ

ผู้ชายหลายคนอาจไม่มีความต้องการทางเพศ ไม่สนใจเรื่องเพศ หรือมีความต้องการทางเพศลดน้อยลง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับรสนิยมทางเพศของแต่ละคน รวมถึงปัญหาความสัมพันธ์ ความเครียด ความวิตกกังวล ปัญหาสุขภาพ และผลข้างเคียงของยา

ปัญหาการหลั่งอสุจิ

ปัญหาการหลั่งอสุจิเป็นปัญหาทางเพศที่พบบ่อยในผู้ชาย ซึ่งอาจส่งผลต่ออารมณ์ทางเพศและการถึงจุดสุดยอด ดังนี้

  • การหลั่งน้ำอสุจิเร็ว เป็นปัญหาที่พบบ่อยที่สุด โดยผู้ชายจะหลั่งน้ำอสุจิออกมาก่อนถึงระยะจุดสุดยอด หรืออาจหลั่งตั้งแต่เริ่มต้นการมีเพศสัมพันธ์ อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาต่อมลูกหมาก ปัญหาต่อมไทรอยด์ การใช้ยาคลายเครียด ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล เป็นต้น
  • การหลั่งน้ำอสุจิช้า เป็นความผิดปกติเมื่อผู้ชายถึงระยะจุดสุดยอด แต่น้ำอสุจิหลั่งออกมาช้ามาก อาจมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน การบาดเจ็บที่ไขสันหลัง เส้นเลือดตีบ ผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะหรือต่อมลูกหมาก อายุมากขึ้น เป็นต้น
  • การหลั่งอสุจิย้อนกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ยาก เมื่อผู้ชายถึงระยะจุดสุดยอด น้ำอสุจิจะไหลย้อนเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะแทนการไหลออกมาผ่านท่อปัสสาวะ อาจทำให้มีอาการปัสสาวะสีขุ่น หลั่งน้ำอสุจิในปริมาณน้อยหรือไม่หลั่งน้ำอสุจิเมื่อถึงจุดสุดยอด อาจมีสาเหตุมาจากการผ่าตัดต่อมลูกหมาก โรคเบาหวาน โรคปลอกประสาทอักเสบ ใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What can cause orgasm problems in women?. https://www.nhs.uk/common-health-questions/sexual-health/what-can-cause-orgasm-problems-in-women/. Accessed January 31, 2023.

Ejaculation problems. https://www.nhs.uk/conditions/ejaculation-problems/. Accessed January 31, 2023.

Male sexual problems-Sexual health. https://www.nhs.uk/live-well/sexual-health/male-sexual-problems/. Accessed January 31, 2023.

Erectile dysfunction. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/erectile-dysfunction/symptoms-causes/syc-20355776. Accessed January 31, 2023.

Sex and Sleep: Perceptions of Sex as a Sleep Promoting Behavior in the General Adult Population. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/labs/pmc/articles/PMC6409294/. Accessed January 31, 2023.

Ejaculation Frequency and Risk of Prostate Cancer: Updated Results with an Additional Decade of Follow-up. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/labs/pmc/articles/PMC5040619/. Accessed January 31, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/01/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เซ็กส์ประตูหลัง กับประโยชน์และความเสี่ยงสุขภาพที่ควรรู้

การมีเซ็กส์ทุกวัน ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/01/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา