backup og meta

Pride Month มีความสำคัญอย่างไร ทำไมต้องเป็นเดือนมิถุนายน

Pride Month มีความสำคัญอย่างไร ทำไมต้องเป็นเดือนมิถุนายน

Pride Month หรือเดือนแห่งไพรด์ เป็นเดือนสำหรับการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศของกลุ่ม LGBTQIA+ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีมาอย่างยาวนานที่มีจุดเริ่มต้นเมื่อเดือน มิถุนายน พ.ศ.2512 ในประเทศสหรัฐอเมริกา และเพื่อผลักดันให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิและเสรีภาพในการใช้ชีวิตอย่างอิสระตามรสนิยมทางเพศและเพศวิถีของตัวเองโดยปราศจากการตีตราและการตัดสินจากสังคม

[embed-health-tool-bmi]

Pride Month คืออะไร

Pride Month หรือเดือนมิถุนายนของทุกปีถือเป็นเดือนแห่งการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQIA+ ที่ประกอบไปด้วยเลสเบี้ยน (Lesbian) เกย์ (Gay) ไบเซ็กชวล (Bisexual) ทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) เควียร์/เควชชันนิง (Queer/Questioning) อินเตอร์เซ็กส์ (Intersex) เอเซ็กชวล (Asexual) รวมไปถึงเพศหลากหลายอื่น ๆ โดยมีการรณรงค์ให้เพิ่มการมองเห็น สร้างการตระหนักรู้และความเข้าใจ ตลอดจนผลักดันสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในด้านต่าง ๆ ทั้งในทางกฎหมายและการอยู่ร่วมกันในสังคม เช่น

  • สิทธิทางกฎหมายในการแต่งงาน 
  • สิทธิทางกฎหมายที่จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายในการป้องกันการเลือกปฏิบัติการจ้างงานและอยู่อาศัย
  • สิทธิทางกฎหมายในการรับบุตรบุญธรรม
  • สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ 
  • สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายจากอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate Crime) 

ความสำคัญของ Pride Month

แม้ว่าการจัดกิจกรรมเดือนไพรด์ในรูปแบบต่าง ๆ จะยังไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด แต่เดือนนี้มีความสำคัญต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ดังนี้

  • เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมีพื้นที่ได้แสดงตัวตนของตัวเองได้อย่างอิสระและไม่ถูกปิดกั้นเหมือนที่ผ่านมา
  • ช่วยให้ทุกคนยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นและสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน
  • เป็นอีกก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ความเท่าเทียมอย่างแท้จริงในสังคม

ทำไมเดือนแห่งไพรด์ถึงตรงกับเดือนมิถุนายน

จุดเริ่มต้นของเดือนไพรด์ เริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2512 ซึ่งมีชนวนหลักมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองกรีนิช วิลเลจ (Greenwich Village) ประเทศสหรัฐอเมริกาที่บุกเข้าไปจับกุมผู้ใช้บริการบาร์เกย์ที่ชื่อว่าสโตนวอลล์ อินน์ (Stonewall Inn) ทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศลุกฮือขึ้นมาประท้วงและต่อต้านความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น นำไปสู่เหตุจลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall riots) ที่ดำเนินไปเป็นเวลาหลายวัน เหตุการณ์ในครั้งนั้นนับเป็นจุดเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ที่ทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้แสดงจุดยืนในการเรียกร้องการใช้ชีวิตและมีตัวตนทางสังคมอย่างเปิดเผย และทำกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

ในปัจจุบัน กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลกได้เปลี่ยนช่วงเวลาที่เจ็บปวดในเดือนมิถุนายนเมื่อหลายสิบปีก่อน ให้กลายเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจในตัวตนของกันและกันอย่างเต็มที่ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นขบวนพาเหรด งานปาร์ตี้ เวิร์คช็อป สัมมนา คอนเสิร์ต ที่มักจะจัดขึ้นเพื่อเป็นร่วมฉลองเทศกาลแห่งความภาคภูมิใจไปด้วยกันตลอดทั้งเดือน

พันธมิตรสนับสนุนเดือนไพรด์ได้อย่างไรบ้าง

นอกจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะเป็นผู้ออกมารณรงค์ด้วยตัวเองแล้ว บรรดาคนรักเพศตรงข้ามที่เรียกว่าพันธมิตร (Ally) ก็สามารถออกมาเคลื่อนไหวและแสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิในการเป็นตัวเองอย่างภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ตลอดทั้งเดือนไพรด์เช่นกัน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น 

  • สนับสนุนธุรกิจและองค์กรการกุศลของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ 
  • ปฏิบัติตัวต่อกันอย่างให้เกียรติกันในฐานะคนที่มีความเท่าเทียมกัน 
  • ให้พื้นที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศในการเรียกร้องสิทธิ 
  • ไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีรสนิยมทางเพศแตกต่างจากตนเอง
  • สนับสนุนการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

ชาว LGBTQIA+ และปัญหาสุขภาพด้านต่าง ๆ

ชาว LGBTQIA+ มักจะประสบกับปัญหาสุขภาพที่เกิดจากประเด็นเกี่ยวกับเพศของตัวเอง เช่น ความไม่สอดคล้องทางเพศ (Gender Incongruence) ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่สอดคล้องกับเพศแต่กำเนิดของตัวเอง รสนิยมทางเพศ (Sexual orientation) ความทุกข์ใจในเพศสภาพ (Gender Dysphoria) และส่งผลให้คนในกลุ่มนี้เสี่ยงต่อเกิดสุขภาพด้านสุขภาพจิตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็มักจะมีปัญหาที่แตกต่างกันไป เช่น

  • เกย์มีแนวโน้มที่จะหมกมุ่นกับรูปร่างและเสี่ยงต่อการเกิดพฤติกรรมการกินอาหารผิดปกติ (Eating disorder) มากกว่าคนที่รักเพศตรงข้าม
  • เกย์ชายและเลสเบียนอาจมีแนวโน้มที่จะเก็บตัวเงียบและไม่ปริปากเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวที่ตัวเองพบเจอเนื่องจากกลัวว่าจะถูกเลือกปฏิบัติ
  • ทรานส์เจนเดอร์หรือคนข้ามเพศมักประสบกับปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติและการตีตราทางสังคม ทำให้เสี่ยงที่จะพบกับความรุนแรงทางอารมณ์และร่างกายจากคนอื่น ความรุนแรงทางร่างกายและทางเพศ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ การใช้สารเสพติด รวมไปถึงปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการใช้ฮอร์โมนและการแปลงเพศ

แม้ว่าในปัจจุบัน สังคมมีการเปิดกว้างและยอมรับเรื่องนี้ได้มากขึ้น อีกทั้งยังสามารถออกมาเรียกร้องสิทธิได้อย่างอิสระมากขึ้น แต่ปัญหาสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจยังคงเป็นเรื่องที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศประสบพบเจออยู่ในทุก ๆ วันของการใช้ชีวิต จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนทั่วไปควรตระหนักและรับรู้ถึงปัญหาที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อที่จะสร้างสังคมที่ปลอดภัยให้กันและกันต่อไป

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

June is LGBT Pride Month. https://youth.gov/feature-article/june-lgbt-pride-month. Accessed June 7, 2023

LGBTQ health. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/basics/lgbtq-health/hlv-20049421. Accessed June 7, 2023

About LGBT Health. https://www.cdc.gov/lgbthealth/about.htm. Accessed June 7, 2023

QUEER ความหลากหลาย ที่ไม่ได้จำกัดแค่ชื่อ. https://tu.ac.th/thammasat-280665-lsed-expert-talk-queer. Accessed June 7, 2023

Improving the health and well-being of LGBTIQ+ people. https://www.who.int/activities/improving-the-health-and-well-being-of-lgbtqi-people.  Accessed June 7, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

21/06/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

Asexual คือ อะไร และสังเกตได้อย่างไรบ้าง

LGBTQ คืออะไร ข้อเท็จจริงและความเข้าใจผิด ๆ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 21/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา