backup og meta

ความหลากหลายทางเพศ และปัญหาสุขภาพ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 14/02/2022

    ความหลากหลายทางเพศ และปัญหาสุขภาพ

    ความหลากหลายทางเพศ หมายถึง ความหลากหลายในอัตลักษณ์ทางเพศของคนในสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับนิยามเรื่องเพศสภาพของแต่ละบุคคลการเลือกคู่ครองหรือคู่นอน รวมถึงการแสดงออกเรื่องเพศ โดยปกติ ความหลากหลายทางเพศมักถูกจำแนกเป็นกลุ่ม ได้แก่ เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล และทรานส์เจนเดอร์ (LGBT) กลุ่มความหลากหลายทางเพศจำเป็นต้องระมัดระวังปัญหาเรื่องสุขภาพไม่แตกต่างจากบุคคลอื่น ๆ ทั้งนี้ ปัญหาสุขภาพอาจแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจึงควรศึกษาถึงความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับตนเอง เพื่อการป้องกันอย่างถูกวิธี

    นิยามของความหลากหลายทางเพศ

    ความหลากหลายทางเพศ หมายถึง กลุ่มคนดังต่อไปนี้

    • เลสเบี้ยน (Lesbian) คือ หญิงรักหญิง ซึ่งมักเป็นผู้หญิงที่ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ การแต่งกายเป็นผู้หญิง เพียงแต่มีรสนิยมทางเพศชอบผู้หญิงด้วยกัน ในประเทศไทยอาจส่วนใหญ่มักหมายถึงทอม ผู้หญิงซึ่งแต่งตัวคล้ายผู้ชายและชอบผู้หญิง หรือดี้ซึ่งหมายถึงผู้หญิงซึ่งชอบทอม
    • เกย์ (Gay) คือ ชายรักชาย ซึ่งดูจากภายนอกไม่สามารถระบุได้ว่ามีรสนิยมชอบผู้ชาย อาจมีรูปร่าง หน้าตา การแต่งตัว เหมือนชายแท้ทุกประการ เพียงแต่เกย์บางคนอาจมีกิริยาคล้ายผู้หญิง
    • ไบเซ็กชล (Bisexual) คือ บุคคลที่ชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง หรือมีความต้องการทางเพศได้กับทั้งสองเพศ หรือมากกว่าหนึ่งเพศที่อาจไม่ใช่แค่เพศตรงข้าม บางครั้ง ไบเซ็กชวลอาจถูกเข้าใจผิดว่าเหมือนกับรสนิยมแบบแพนเซ็กชวล (Pansexual) ซึ่งเป็นรสนิยมทางเพศที่รู้สึกดึงดูดได้กับทุกเพศ ไม่จำกัดแค่ชายหรือหญิง
    • ทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) คือ บุคคลข้ามเพศ หรือบุคคลซึ่งนิยามเพศวิถีของตนไม่ตรงกับเพศโดยกำเนิด ทรานส์เจนเดอร์จำนวนไม่น้อยเลือกรับฮอร์โมนของเพศตรงข้าม เพื่อให้ตนมีลักษณะของเพศนั้น หรือแต่งตัวเพื่อให้ตรงกับเพศที่ตนเองรู้สึก ยิ่งกว่านั้นบางคนอาจเลือกผ่าตัดแปลงเพศ

    ปัญหาสุขภาพของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ

    กลุ่มความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพไม่ต่างจากกลุ่มคนอื่น ๆ ในสังคม แต่บางกลุ่มอาจมีโรคหรือปัญหาสุขภาพที่อาจเสี่ยงเป็นมากกว่า ดังนี้

    เลสเบี้ยน

    ปัญหาสุขภาพหลัก ๆ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของเลสเบี้ยนที่ควรระวัง มีดังนี้

    • มะเร็ง เลสเบี้ยนมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงซึ่งชอบเพศตรงข้าม เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่า ได้แก่ โรคอ้วน เนื่องจากอาจเป็นเพราะในกลุ่มสังคมเลสเบี้ยนให้การยอมรับแก่รูปร่างของผู้หญิงทุก ขนาด และอาจมีกลุ่มที่ต่อต้านรูปร่างมาตรฐานของผู้หญิงทั่ว ๆ ไป ทำให้กลุ่มเลสเบี้ยนอาจไม่สนใจที่จะควบคุมน้ำหนักจนมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วน นอกจากนี้ การไม่มีลูก อาจทำให้เลสเบี้ยนเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม เนื่องจากผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และให้นมลูกมีฮอร์โมนซึ่งหลั่งออกมาระหว่างตั้งครรภ์และให้นมซึ่งมีส่วนช่วยลดแนวโน้มการเกิดโรคมะเร็งได้ นอกจากนี้ เลสเบี้ยนมีอัตราการเข้าตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) เพื่อหาความผิดปกติบริเวณเต้านมที่น้อยกว่าผู้หญิงที่ชอบเพศตรงข้าม
    • โรคอ้วน เลสเบี้ยนมีแนวโน้มน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนมากกว่าผู้หญิงซึ่งมีรสนิยมทางเพศแบบอื่น โดยปัจจัยหนึ่งมาจากการเคลื่อนไหวน้อย การศึกษาหนึ่งพบว่า ผู้หญิงที่เป็นเลสเบี้ยนไม่ชอบออกกำลังกายอาจเป็นเพราะรู้สึกเหนื่อย ไม่มีคู่รักที่ชอบหรือสนใจทำกิจกรรมด้วยกัน หรือขาดกลุ่มออกกำลังกายซึ่งเป็นผู้หญิงเหมือนกัน นอกจากนี้ เลสเบี้ยนอาจมีทัศนะเรื่องความงามหรือรูปร่างซึ่งแตกต่างจากผู้หญิงส่วนใหญ่ จึงมีแนวโน้มอยากออกกำลังกายหรือต้องการที่จะควบคุมน้ำหนักน้อยกว่าเพศอื่น
    • ปัญหาสุขภาพจิต นอกเหนือไปจากการไม่ได้ยอมรับจากสังคมหรือรู้สึกแปลกแยก การปฏิบัติแง่ลบของผู้ปกครองต่อรสนิยมทางเพศของลูกหลานมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจ และแนวโน้มการใช้สารเสพติด ผลสำรวจหนึ่งซึ่งแพร่หลายในสหรัฐอเมริการะบุว่า เลสเบี้ยนและผู้หญิงที่เป็นไบเซ็กชวล พบความเครียดทางอารมณ์ตอนเป็นวัยรุ่นมากกว่าผู้หญิงซึ่งชอบเพศตรงข้าม และคิดอยากฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไปประมาณ 2 ถึง 2.5 เท่านอกจากนั้นยังมีเลสเบี้ยนมีแนวโน้มชอบสูบบุหรี่สูงกว่าผู้หญิงที่ชอบเพศตรงข้าม ราว 1.5 ถึง 2 เท่า

    เกย์

    ปัญหาสุขภาพหลัก ๆ ของเกย์ ประกอบไปด้วยปัญหาสุขภาพทางกายและสุขภาพจิต ซึ่งมีดังนี้

    • โรคมะเร็งทวารหนัก เกย์มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งทางทวารหนัก เนื่องจากนิยมร่วมรักทางทวารหนัก โดยเฉพาะในฝ่ายรับเนื่องจากผิวหนังและเนื้อเยื่อบริเวณทวารหนักมีความบอบบางทำให้เพิ่มโอกาสติดเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus หรือ HPV) อันเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งทวารหนัก
    • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน รวมถึงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อโรคต่าง ๆ อันเป็นต้นเหตุของโรคทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหูดที่อวัยวะเพศซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus หรือ HPV)  โรคเอดส์ สาเหตุจากเชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus หรือ HIV) ทั้งนี้ สถิติปี พ.ศ.2559 ในสหรัฐอเมริกาชี้ว่า เกย์และไบเซ็กชวลคือประชาการส่วนใหญ่ของประเทศที่ติดเชื้อเอชไอวี
    • ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง เกย์มักเจอผูัที่มีพฤติกรรมความรุนแรง ทั้งความรุนแรงเชิงอาชญากรรม เนื่องจากเกย์เป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม ทำให้ตกเป็นเป้าหมายในการถูกทำร้ายร่างกายทั้งเพื่อชิงทรัพย์ หรือเพื่อแสดงออกถึงความเกลียดชัง และพฤติกรรมความรุนแรงจากคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งมักเข้าใจผิดว่าบุคคลที่เป็นเกย์ชื่นชอบความรุนแรง นำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง หรือการทำร้ายร่างกายได้
    • โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง โดยปกติ เกย์มีความรู้สึกไม่พอใจในรูปลักษณ์ตัวเองมากกว่าผู้ชายซึ่งชอบผู้หญิง มักชอบเปรียบเทียบรูปร่างของตัวเองกับเกย์ที่มีชื่อเสียงหรือเกย์ที่พวกเขาชื่นชอบซึ่งอาจเห็นจากโซเชี่ยลมีเดียความไม่พอใจนี้บางครั้งนำไปสู่พฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติ เช่น โรคบูลิเมีย เนอโวซา (Bulimia Nervosa) หรือการทำให้ตัวเองอาเจียนหรือขับถ่ายหลังจากเพิ่งรับประทานอาหารเสร็จ
    • ปัญหาสุขภาพจิต เมื่อเปรียบเทียบกับคนทั่วไป เกย์มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะวิตกกังวลมากกว่า โดยเฉพาะเกย์ที่ยังไม่เปิดเผยกับคนในครอบครัวหรือในสังคมใกล้ตัวว่าตนชอบผู้ชาย นอกจากนี้ ประสบการณ์แง่ลบหลังจากการเปิดเผยรสนิยมทางเพศ รวมถึงการถูกรังแก ดูหมิ่น ล้อเลียน หรือไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว เป็นปัจจัยสำคัญให้อัตราการพยายามฆ่าตัวตายและจำนวนครั้งที่ฆ่าตัวตายสำเร็จของเกย์ สูงกว่าประชากรกลุ่มอื่นในสังคม

    ไบเซ็กชวล

    ปัญหาสุขภาพทางกายและทางจิตใจ ของไบเซ็กชวล มีดังนี้

    • โรคหัวใจ ไบเซ็กชวลหญิงและชายมีแนวโน้มเป็นโรคหัวใจสูงกว่ากลุ่มความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ จากรายงานในวารสาร LGBTQ Healthy ระบุว่า เนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตทั้งอัตราการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ค่าเลขดัชนีมวลกายที่สูงกว่าและความดันโลหิตสูงกว่า ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ก่อให้เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
    • มะเร็ง ไบเซ็กชวลชายมีแนวโน้มเป็นมะเร็งทวารหนัก เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักขณะเดียวกัน มีการศึกษาในผู้หญิงอายุ 50-70 ปี ซึ่งชี้ว่า ไบเช็กชวลหญิง มีโอกาสเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม สูงกว่าผู้หญิงที่ชอบเพศตรงข้าม อาจเป็นเพราะกลัวถูกตัดสินหรือเหยียดเพศ รวมทั้งเคยมีประสบการณ์แย่ ๆ จากเจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาล ทำให้หลีกเลี่ยงที่จะเข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านมรวมทั้งสุขภาพประจำปี
    • ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ไบเซ็กชวล มีแนวโน้มที่จะพบพฤติกรรมความรุนแรงจากคู่รักมากกว่ากลุ่มคนที่ชอบเพศตรงข้าม หรือคิดเป็น 47.4 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 17.2 เปอร์เซ็นต์
    • ปัญหาสุขภาพจิต ไบเซ็กชวล ทั้งผู้ชายและผู้หญิง มีระดับความซึมเศร้าและวิตกกังวลสูงกว่าบุคคลที่ชอบเพศตรงข้าม นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า ไบเซ็กชวลมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าผู้ที่ชอบเพศตรงข้ามถึงสองเท่า นอกจากนั้น ไบเซ็กชวล ยังมีอัตราการทำร้ายตัวเองและพยายามฆ่าตัวตาย สูงกว่าทั้งกลุ่มคนที่ชอบเพศตรงข้าม เกย์ และเลสเบี้ยน

    ทรานส์เจนเดอร์

    ปัญหาสุขภาพกายและใจของทรานส์เจนเดอร์ที่พบได้บ่อย มีดังนี้

    • ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง การวิจัยในสหรัฐอเมริกาหลายชิ้นชี้ว่า อัตราการทำร้ายทางร่างกายของทรานส์เจนเดอร์อยู่ที่ 16 เปอร์เซ็นต์ ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การล่วงละเมิดทางเพศอยู่ที่ 13 เปอร์เซ็นต์ ถึง 66 เปอร์เซ็นต์ ในประเทศไทย  งานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลปีพ.ศ. 2557 ซึ่งทำร่วมกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และยูเนสโก ระบุว่า 6 ใน 10 ของนักเรียนระดับมัธยม ถูกรังแกเพราะเป็นเพศทางเลือก เช่นทรานส์เจนเดอร์ และถูกทำร้ายมากกว่านักเรียนที่ชอบเพศตรงข้ามประมาณ 2 เท่า
    • ผลกระทบจากฮอร์โมนเพศ ทรานส์เจนเดอร์จำนวนหนึ่งเลือกรับฮอร์โมนของเพศตรงข้าม เพื่อให้ตนมีลักษณะของเพศนั้น ๆ และจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนอย่างต่อเนื่องเพื่อคงลักษณะของเพศตรงข้ามไว้ แม้แต่ในกรณีของคนที่แปลงเพศแล้ว ผลกระทบจากการใช้ฮอร์โมนติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ คือ ความดันเลือดต่ำหรือสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง หรือการทำงานของตับที่ผิดปกติ
    • การติดเชื้อเอชไอวี รายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกาซึ่งเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งทำการสำรวจกลุ่มทรานส์เจนเดอร์หญิงใน 7 เมืองหลักของประเทศสหรัฐอมริกา ได้แก่ แอตแลนต้า ลอสแองเจลิส นิวยอร์ก นิวอออร์ลีน ฟิลาเดเฟีย ซานฟรานซิสโก และซีแอตเทิล พบว่า 4 ใน 10 ของทรานส์เจนเดอร์หญิง ติดเชื้อเอชไอวี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 14/02/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา